สรุป 5 การตลาด สร้าง “Bandwagon Effect” ให้ลูกค้า เห่อตามกระแส ของแบรนด์เรา

สรุป 5 การตลาด สร้าง “Bandwagon Effect” ให้ลูกค้า เห่อตามกระแส ของแบรนด์เรา

26 ก.พ. 2024
เคยสงสัยไหมว่า.. ทำไมพอเราเห็นคนรอบตัวใช้ iPhone กันเยอะ แล้วเราอยากใช้บ้าง
หรือทำไมแบรนด์ฟาสต์ฟูด Shake Shack หรือ BHC มาเปิดที่ไทย แล้วใคร ๆ ก็แห่ไปกิน แล้วเราก็อยากไปกินตามบ้าง
พฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ “เห่อตามกัน” แบบนี้
ในทางจิตวิทยา เรียกว่า พฤติกรรมคล้อยตาม
ส่วนในทางการตลาด มีชื่อเรียกว่า “Bandwagon Effect”
แล้ว Bandwagon Effect คืออะไร ? และจะสร้างปรากฏการณ์แบบนี้ให้แบรนด์ของเราได้อย่างไร ?
นักจิตวิทยาสังคมส่วนใหญ่ มองว่า การคล้อยตาม เป็นการที่คนเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบ ความเกลียด หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ตามกลุ่มคนรอบตัว
เพื่อไม่ให้แปลกแยก แตกต่างจากคนอื่น ๆ รวมถึงทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคมอีกด้วย
เช่น ถ้าเพื่อนในกลุ่มเราทุกคน ไม่ชอบหน้า นาย A
ก็มีโอกาสสูงมากที่เราจะไม่ชอบนาย A คล้อยตามเพื่อน ๆ ไปด้วย
เมื่อพฤติกรรมแบบนี้มาอยู่ในทฤษฎีทางการตลาด
Bandwagon Effect จึงหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ลูกค้าแห่ซื้อสินค้า หรือใช้บริการ จากแบรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ใน “กระแสสังคม” ตาม ๆ กัน
ซึ่งทำให้แบรนด์สร้างยอดขายได้มากขึ้น ถ้าเกิดว่าแบรนด์จุดกระแสปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้สำเร็จ
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพชัด ๆ
ลองมาดูตัวอย่างสินค้าหรือแบรนด์ที่มี Bandwagon Effect ที่ลูกค้าแห่ซื้อตาม ๆ กัน ได้แก่
- iPhone ของ Apple ที่วางภาพลักษณ์เป็นแบรนด์พรีเมียม ใช้แล้วดูดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Apple ใส่ฟีเชอร์อย่าง AirDrop ที่ใช้ส่งไฟล์หรือรูปภาพ ได้กับเฉพาะคนที่ใช้ iPhone หรือ Apple ด้วยกัน
จุดนี้เองที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากใช้ iPhone และถ้าหากใครไม่ใช้ ส่ง AirDrop ไม่ได้ ก็จะดูแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อนที่ใช้ iPhone
- BYD มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ในไทย
ทำให้หลาย ๆ คนอยากซื้อ BYD บ้าง เพราะยิ่งเมื่อมีคนใช้เยอะ ก็ยิ่งสะท้อนว่าเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ น่าซื้อมาใช้งาน
- Nike Dunk Low Black สนีกเกอร์สีขาวดำที่หลายคนเรียกกันว่า “Panda” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เหตุผลก็เพราะ
1. มีจำนวน และระยะเวลา ในการสั่งซื้อที่จำกัด
2. เป็นรุ่นที่นิยมในหมู่ดารา และอินฟลูเอนเซอร์
จึงทำให้คนทั่วไปต่างอยากครอบครองเป็นของตัวเอง
จุดนี้เองที่ทำให้ราคา Resell แพงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่หลายคนก็ยอมจ่าย เพื่อให้ได้มา..
จากตัวอย่างที่ว่ามานี้ จะเห็นว่า สินค้าหรือแบรนด์ที่เกิด “Bandwagon Effect” จะกลายเป็นสินค้าที่มียอดขายดีมาก หรือมีความนิยมสูง
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้สินค้าหรือแบรนด์ เกิด Bandwagon Effect ไม่ใช่เรื่องง่าย
ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้กลยุทธ์การตลาดหลาย ๆ วิธีประกอบกัน
เพื่อให้สินค้าของเราเป็นกระแสและเป็นที่นิยม
แล้วกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้เกิด Bandwagon Effect มีอะไรบ้าง ?
1. กลยุทธ์สร้างสถานการณ์ขาดแคลน หรือเร่งด่วน (Scarcity & Urgency)
ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
- ใช้คำกระตุ้นการตัดสินใจ เช่น “ซื้อเลย” หรือ “อย่าพลาด”
- เน้นย้ำจำนวนสินค้าที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น “3 ชิ้นสุดท้าย”
อย่างในกรณีของ สุกี้ตี๋น้อย ที่มีการใช้กลยุทธ์เหล่านี้จริง ๆ ได้แก่
- การออกน้ำซุปใหม่อย่าง น้ำซุปกระดูกหมูทงคตสึ ซึ่งมีระยะเวลาจำกัดเพียงแค่ 3 วัน
- โปรโมชัน ลดราคา 50% สำหรับลูกค้า 200 ท่านแรก ในวันที่เปิดสาขาใหม่
ส่งผลให้ใครที่พบเห็นโปรโมชัน ก็จะทำการบอกต่อ หรือแท็กเพื่อน ๆ
พอเยอะ ๆ เข้า คนก็จะเข้าใจว่า น้ำซุปทงคตสึกำลังฮิต หรือโปรโมชันอาจจะหมดไว ทำให้คนแห่เข้าไปใช้บริการ
ท้ายที่สุดแล้ว น้ำซุปทงคตสึได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนสุกี้ตี๋น้อย ต้องประกาศขยายเวลาเพิ่มอีกราว 1 สัปดาห์..
2. กลยุทธ์ “ชวนเพื่อน” หรือ Referral Marketing
หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือ กลยุทธ์การ “บอกต่อ” หรือ Word of Mouth
สินค้าหรือแบรนด์ไหน ยิ่งมีการบอกต่อมากเท่าไร ก็ทำให้ยิ่งเกิดกระแส และยิ่งเกิด Bandwagon Effect ทำให้คนแห่ไปซื้อตาม ๆ กันมากเท่านั้น
นอกจากในเรื่องของ Bandwagon Effect แล้ว การชวนเพื่อน หรือบอกต่อ ยังมีข้อดีอีกหลายข้อ เช่น
- เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง เนื่องจากกลุ่มเพื่อนของลูกค้าเดิมนั้น มักจะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน ทำให้แบรนด์ไม่ต้องเสียค่าโฆษณาจำนวนมาก เพื่อเข้าหากลุ่มคนเหล่านี้
- ได้กลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มว่า จะมี “Brand Loyalty” หรือมีความภักดีต่อแบรนด์สูง
โดยคนชวนจะเป็น “ตัวช่วยชั้นดี” ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
เพราะคนชวนเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์มาก่อน จึงน่าเชื่อถือกว่าสื่อและโฆษณา
ซึ่งวิธีการง่าย ๆ ที่แบรนด์จะช่วยทำให้เกิดการชวนเพื่อน หรือบอกต่อ
นั่นก็คือ “การเพิ่มฟีเชอร์ชวนเพื่อน” อย่าง Dime! แอปพลิเคชันด้านการลงทุน ที่มีฟีเชอร์ชวนเพื่อน และรับเงินฟรี 50 บาท
3. กลยุทธ์สร้างความรู้สึก “อย่าตกกระแส” หรือสร้างสถานการณ์ FOMO (Fear of Missing Out)
FOMO หมายถึง การที่คนเรามักกลัวพลาดกระแสสังคม เพราะกลัวอายที่จะแปลกแยกและแตกต่างจากสังคมหมู่มาก
เพราะฉะนั้นการหยิบอาการ FOMO มาจับกับแบรนด์จึงเป็นกลยุทธ์ที่สร้าง Bandwagon Effect ได้เป็นอย่างดี
กลยุทธ์ง่าย ๆ เช่น การติดป้ายสินค้าด้วยคำว่า “สินค้าขายดี” เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้าชิ้นนี้ได้รับการยอมรับ และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
4. กลยุทธ์ “ใช้คนดัง” หรือ Influencer Marketing
การใช้ อินฟลูเอนเซอร์ ในการโปรโมตแบรนด์
นอกจากจะช่วยสร้างการรับรู้ และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์แล้ว
ยังช่วยให้เหล่าแฟนคลับของอินฟลูเอนเซอร์รายนั้น หันมาสั่งซื้อสินค้าจากเจ้าของแบรนด์ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น Samsung ที่เลือกใช้ คัลแลน และพี่จอง จากช่องยูทูป Cullen HateBerry โปรโมต Samsung Galaxy S24 ทำให้แฟนคลับแห่ไปซื้อตาม จนกลายเป็นสินค้าขายดี
5. กลยุทธ์เน้นย้ำว่า ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ใช้งาน ผ่าน “Customer Experience”
การทำให้สินค้าเกิดกระแสได้ ต้องทำให้กลุ่มลูกค้าประทับใจกับแบรนด์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มพบเห็นสินค้า ไปจนถึงบริการหลังการขาย
ที่สำคัญคือ การสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็น ผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ และยังมีคนในสังคมอีกมากที่ใช้งานสินค้าแบรนด์เดียวกัน เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตนเองแปลกแยกจากสังคม
ยกตัวอย่างเช่น การสร้างกลุ่มผู้ใช้งานสินค้าบน Facebook
กลุ่ม iPhone User Thailand ที่มีสมาชิก 220,000 คน
หรือ Tesla Thailand กลุ่มคนใช้รถยนต์ Tesla ที่มีสมาชิก 150,000 คน
ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า มีคนอีกจำนวนมากที่รัก iPhone และใช้ Tesla เหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่แบ่งปัน หรือรีวิว ประสบการณ์ใช้งานสินค้าระหว่างผู้ใช้งานอีกด้วย
ซึ่งหากสินค้ามีคุณภาพดี มีรีวิวเยอะ ก็จะส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้งานขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ลูกค้าคนอื่น ๆ สนใจ และเกิดเป็นกระแสได้ง่ายขึ้น
มาถึงตรงนี้ หากให้สรุปง่าย ๆ 5 กลยุทธ์ ที่ช่วยสร้าง “Bandwagon Effect” ให้แก่แบรนด์ ได้แก่
1. การสร้างสถานการณ์เร่งด่วน
2. กลยุทธ์ “ชวนเพื่อน”
3. กลยุทธ์ “ใช้คนดัง”
4. กลยุทธ์สร้างความรู้สึก “อย่าพลาดเทรนด์” หรือ FOMO
5. กลยุทธ์เน้นย้ำว่าลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ผ่าน “Customer Experience”
ต้องบอกว่า หัวใจหลัก ๆ ของกลยุทธ์ทั้งหมดคือ
การทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้าของเรา “กำลังฮิต” หรือ “กำลังเป็นกระแส”
และเมื่อไรที่ลูกค้าเกิดความรู้สึกนั้น ก็จะทำให้สินค้าของเราขายดี..
อย่างไรก็ตาม การที่สินค้าของเราฮิต และเกิดเป็น Bandwagon Effect ก็ไม่ได้มีแต่ผลดีเสมอไป
เพราะหากสินค้าฮิต เป็นกระแส จนขายดี แต่หากเมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วรู้สึกว่า สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน
ท้ายที่สุด ก็อาจพลิกจากสินค้าดาวรุ่ง เป็นสินค้าดาวร่วง ที่เกิดเป็นกระแสรีวิวในด้านลบ และทำให้ขายไม่ได้ในพริบตา
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ให้สินค้าเป็นกระแสแล้ว ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าสินค้าของเรามีคุณภาพจริง ๆ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.