
สรุป 3 เทคนิคเล่าเรื่อง ให้น่าติดตาม แบบนิยายดัง ที่ปรับใช้ได้กับ Storytelling ของแบรนด์เรา
3 เม.ย. 2025
- มุมมองในการเล่าเรื่อง หรือ Point of View (POV) คือ กลวิธีในการนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองและสายตาของตัวละครหรือผู้เล่าเรื่อง นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ
ที่ผ่านมา เราอาจจะชินกับคอนเทนต์หรืองานเขียนที่ใช้มุมมองการเล่าเรื่องแบบเดิม ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้เกิดความซ้ำซากจำเจน่าเบื่อ หรือใช้มุมมองการเล่าเรื่องที่ไม่เหมาะกับบริบท จนทำให้คอนเทนต์ดูไม่น่าสนใจได้
ดังนั้น การลองเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่อง หรือเลือกใช้มุมมองที่เหมาะสม ก็เป็นหนึ่งในสกิลย่อยสำคัญของ Storytelling ที่ช่วยสร้างความแปลกใหม่คอนเทนต์ได้เช่นกัน
แล้วมุมมองในการเล่าเรื่องคืออะไร และมีอะไรบ้าง ?
MarketThink สรุปวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจด้วย 3 มุมมองการเล่าเรื่องมาให้ในโพสต์นี้
MarketThink สรุปวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจด้วย 3 มุมมองการเล่าเรื่องมาให้ในโพสต์นี้
การเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้ชมตั้งใจฟังได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการเลือกมุมมองในการเล่าเรื่องราวให้เหมาะสมกับสถานการณ์และประเภทของงานด้วย
ไม่ว่าจะเป็น งานเขียนอย่าง บทกวี วรรณกรรม นวนิยาย ไปจนถึงงานภาพและวิดีโออย่าง ภาพยนตร์ บทละคร คอนเทนต์วิดีโอ หรือแม้แต่การเล่าเรื่องในพอดแคสต์ หรือทอล์กโชว์ก็ตาม
แล้วมุมมองในการเล่าเรื่องมีอะไรบ้าง ?
1. มุมมองบุคคลที่ 1 (First Person)
ตัวอย่างนิยายที่ใช้มุมมองการเล่ารูปแบบนี้ เช่น The Hunger Games, The Fault in Our Stars
คือ การเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองและความคิดของตัวละครเอง ซึ่งเป็นบุคคลที่ 1 โดยสรรพนามที่ใช้บ่อยในมุมมองรูปแบบนี้ก็คือ คำที่ใช้แทนตัวเอง เช่น ผม, ฉัน, ข้าพเจ้า, กู
ตัวอย่างการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 1 เช่น “ฉันยังจำได้ดี ตอนที่ฉันเห็นเขาครั้งแรก หัวใจฉันเต้นแรงอย่างบ้าคลั่ง..”
โดยข้อดีของมุมมองรูปแบบนี้ก็คือ ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ลึกมาก โดยเฉพาะอารมณ์ที่ต้องอยู่กับตัวเองอย่าง เศร้า คร่ำครวญ หรือถวิลหา
ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ตัวเองถือกล้องเดินตามตัวเอกตลอดเรื่องและได้ยินเสียงในหัวของตัวเอกทุกอย่าง
อีกข้อดีก็คือ การเล่าเรื่องราวที่ต้องการปกปิดข้อมูลบางอย่างในธีมสยองขวัญ ระทึกขวัญ หรือสืบสวนสอบสวนก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
เพราะข้อมูลทุกอย่างที่เปิดเผยออกมาในเรื่อง จะมาจากมุมมองการรับรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดของตัวละคร
2. มุมมองบุคคลที่ 3 แบบมุมมองพระเจ้า (Third Person Omniscient)
ตัวอย่างนิยายที่ใช้มุมมองการเล่ารูปแบบนี้ เช่น Game of Thrones
คือ การเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองบุคคลอื่น (บุคคลที่ 3) โดยผู้เล่าจะเปรียบเสมือนพระเจ้าที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่จำกัดมุมมอง และเข้าใจความรู้สึกของทุกตัวละคร
จึงเหมาะกับการเล่าเรื่องราวที่มีเซตติงเป็นโลกกว้างขนาดใหญ่ หรือเรื่องราวที่มีเส้นเรื่องหลายเส้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ตัวอย่างการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 3 แบบมุมมองพระเจ้า เช่น “โทมัสกลัวจับใจขณะก้าวเข้าไปในป่า แต่เขาไม่รู้ว่า ลินดาในอีกฟากหนึ่งของเมือง กำลังวางแผนลับบางอย่าง..”
โดยข้อดีของมุมมองรูปแบบนี้ก็คือ สามารถเล่าเรื่องได้หลายมุมมองมาก ๆ จากหลาย ๆ ตัวละคร โดยผู้ชมจะรู้สึกเหมือนมุมกล้องที่ตัดสลับไปเรื่อย ๆ
แต่ข้อเสียของมุมมองรูปแบบนี้ก็คือ ถ้าเล่าเรื่องได้ไม่ดีหรือมีการตัดสลับมุมมองตัวละครมากจนเกินไป อาจทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความสับสนหรือไม่เข้าใจได้เช่นกัน
3. มุมมองบุคคลที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง (Third Person Limited)
ตัวอย่างนิยายที่ใช้มุมมองการเล่ารูปแบบนี้ เช่น Harry Potter
คือ การเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองบุคคลอื่น (บุคคลที่ 3) โดยผู้ชมจะรู้สึกว่า มีกล้องติดตามตัวละครที่เล่าเรื่องอยู่ห่าง ๆ รู้ความคิดบางอย่างของตัวละคร แต่ไม่ได้ยินเสียงในหัวของตัวละครทั้งหมด
มุมมองการเล่าเรื่องรูปแบบนี้ จึงเป็นการรวมเอาข้อดีของมุมมองบุคคลที่ 1 ที่เข้าถึงความคิดลึก ๆ ของตัวละคร และมุมมองบุคคลที่ 3 ที่เล่าเรื่องราวเหตุการณ์รอบข้างได้ดีกว่า มาไว้ด้วยกัน
ส่วนสรรพนามที่ใช้บ่อยในการเล่าเรื่องมุมมองนี้ก็คือ เขา และเธอ
ตัวอย่างการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 3 แบบจำกัดมุมมอง เช่น “โทมัสไม่กล้าก้าวต่อ เขาไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจอกับอะไร แต่ความอยากรู้ก็ผลักเขาไปเรื่อย ๆ”
โดยข้อดีของมุมมองรูปแบบนี้ก็คือ ทำให้โฟกัสและสลับมุมมองการเล่าไปที่ตัวละครหลัก ๆ ได้หลายตัวละคร
นอกจากนี้ ยังเล่าเรื่องราวให้เข้าถึงอารมณ์ตัวละคร และบรรยายเหตุการณ์รอบข้างได้ดี โดยไม่ทำให้ผู้ชมเกิดความสับสน
ทั้งหมดนี้ก็คือ มุมมองในการเล่าเรื่องทั้ง 3 รูปแบบที่นิยมใช้กันในงานเขียนและงานวิดีโอ
ใครที่อยากปรับให้งานเขียนหรืองานวิดีโอของตัวเองมีความน่าสนใจมากขึ้น ก็ลองปรับมุมมองในการเล่าเรื่องให้แตกต่างดูได้ ไม่แน่ว่าคอนเทนต์ที่เล่าด้วยมุมมองแบบใหม่อาจจะดึงดูดผู้ชมได้ดีกว่าเดิมก็ได้