อธิบายเรื่อง Lipstick Effect เศรษฐกิจไม่ดี แต่ของบางอย่าง ขายดีกว่าเดิม

อธิบายเรื่อง Lipstick Effect เศรษฐกิจไม่ดี แต่ของบางอย่าง ขายดีกว่าเดิม

16 ก.ย. 2024
ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย รัดเข็มขัดไม่ใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น
ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ สินค้าบางประเภทขายดีขึ้น สวนทางกับการรัดเข็มขัดของผู้บริโภค
และกลายมาเป็นทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ชื่อว่า Lipstick Effect..
Lipstick Effect คือทฤษฎีที่อธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว
โดยพบว่าเครื่องสำอางชิ้นเล็ก ๆ อย่าง ลิปสติก กลับกลายเป็นสินค้าที่ขายดีขึ้น ในช่วงเวลานี้
แล้วถ้าถามว่าทำไมลิปสติก ถึงกลายเป็นสินค้าที่ขายดีขึ้น
ทั้งที่ช่วงเวลาแบบนี้ ผู้บริโภคน่าจะชะลอการใช้จ่ายเงินไม่ใช่หรือ
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคย่อมลดลง ทำให้มีการรัดเข็มขัด และไม่ใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง
แต่สิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนต้องการในเชิงจิตวิทยาคือ “ความปกติ” ในการใช้ชีวิต และการใช้จ่ายเงิน
และในเมื่อไม่สามารถใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงได้
ผู้บริโภคก็ต้องหาสินค้าที่เป็นตัวแทนของความหรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่มีราคาที่จ่ายไหว เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ
นั่นทำให้ผู้บริโภคหันไปใช้จ่ายเงินกับสินค้าฟุ่มเฟือยชิ้นเล็ก ๆ ในราคาที่ไม่แพงมากเป็นการทดแทน หรืออาจเรียกได้ว่า ผู้บริโภคต้องการหาวิธีในการสปอยล์ตัวเอง ในราคาที่จ่ายไหวนั่นเอง
ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ ก็มีทั้งเครื่องสำอาง อย่างลิปสติก จนกลายเป็นที่มาของชื่อทฤษฎี Lipstick Effect รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยชิ้นเล็ก ๆ อื่น
เช่น
- สินค้าความงาม และสกินแคร์ เช่น น้ำหอม โลชันที่มีกลิ่นหอม
- นาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่ได้แพงมาก
- ชา กาแฟ ช็อกโกแลตคุณภาพดี
- อาหารเพื่อสุขภาพ
ถ้าเราสังเกตกันดี ๆ จะพบว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Lipstick Effect เหล่านี้ มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง
คือเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเอง สะท้อนรสนิยม และเป็นสินค้าที่สร้างความสุขให้กับชีวิต
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคทั่วโลกอาจต้องเจอกับความเครียด และแรงกดดันจากการใช้ชีวิตมากกว่าปกติ
ทำให้การซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Lipstick Effect คือการช่วยให้ผู้บริโภค ได้สัมผัสกับความรู้สึกหรูหรา มีความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ยังพอจะซื้อได้อยู่นั่นเอง
แล้วทีนี้ หากถามว่า Lipstick Effect เป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้หรือไม่ เราคงไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ 100%
แต่เราขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2023 ตลาดสินค้าความงามในประเทศไทย มีมูลค่า 231,355 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.2%
ส่วนในปีนี้ ตลาดสินค้าความงามในประเทศไทย มีมูลค่า 258,275 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับปี 2023
โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็น สินค้าความงามในระดับพรีเมียม มูลค่า 50,277.6 ล้านบาท เติบโต 13% และสินค้าความงามทั่วไป มูลค่า 175,880.8 ล้านบาท เติบโต 11.6%
สวนทางกับตลาดอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ที่มียอดขายลดลง ในช่วงที่ผ่านมา
ทีนี้ หลังจากที่เราเข้าใจแล้วว่า Lipstick Effect คืออะไร นักการตลาดน่าจะอยากรู้แล้วว่า จะมีวิธีในการรับมือกับ Lipstick Effect อย่างไร
ตัวอย่างของกลยุทธ์ที่นักการตลาดใช้รับมือกับ Lipstick Effect ได้ ก็อย่างเช่น
1. การกำหนดราคาสินค้าให้ย่อมเยามากขึ้น
เพื่อดึงดูดลูกค้าที่อาจมีกำลังซื้อไม่สูงมาก ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย หากเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ก็สามารถพิจารณาลดขนาดลง เพื่อทำให้สินค้ามีราคาที่เข้าถึงง่าย
2. เข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด
เรียกง่าย ๆ ก็คือ รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และทำความเข้าใจว่าคุณค่าใด ที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา
เพราะอย่าลืมว่า Lipstick Effect มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์ และความรู้สึกของลูกค้า
คือลูกค้าต้องการซื้อสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความหรูหราแต่คุ้มค่า และเสริมความสุขในชีวิต ทดแทนการซื้อสินค้าที่มีราคาแพงมาก ๆ
นั่นหมายความว่า เราสามารถใช้จุดนี้เป็นหลักในการพัฒนาสินค้า และทำการตลาด โดยสร้างคุณค่าทางด้านอารมณ์ ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้
ทั้งหมดนี้ คือ Lipstick Effect ที่อธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่าทำไมสินค้าบางชนิดถึงขายดี ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.