อธิบาย “Rule of Three” กฎเหล็กเลข 3 ในมุมการตลาด พร้อมไอเดียการใช้จริง

อธิบาย “Rule of Three” กฎเหล็กเลข 3 ในมุมการตลาด พร้อมไอเดียการใช้จริง

11 ส.ค. 2024
ในมุมการตลาด การสื่อสารเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก
เพราะช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับแบรนด์ได้
หลายครั้งที่แบรนด์มีสิ่งที่ต้องการนำเสนอเป็นจำนวนมาก จึงเลือกเล่าทุกอย่างในเวลาที่จำกัด
ถึงแม้การนำเสนอแบบนี้ จะทำให้เราได้เล่าทุกอย่าง
แต่การสื่อสารด้วยจำนวนชุดข้อมูลที่มากเกินไป ก็อาจทำให้ลูกค้าจดจำอะไรไม่ได้เลยก็ได้
ซึ่ง The Rule of Three เป็นแนวคิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของแบรนด์ และนำไปประยุกต์ใช้ได้
แล้ว The Rule of Three คืออะไร ?
และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการตลาดและการสื่อสารของแบรนด์ ?
The Rule of Three คือ หลักการทรงพลังที่เปรียบเสมือนหัวใจของศิลปะแห่งการสื่อสารที่มีมานานหลายศตวรรษ
ย้อนกลับไปในสมัยกรุงโรม The Rule of Three รู้จักกันในวลีภาษาละตินว่า “Omne Trium Perfectum”
ซึ่งวลีดังกล่าวมีความหมายว่า “ทุกสิ่งที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือความสมบูรณ์แบบ”
ซึ่งกฎดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และถูกนำไปใช้ในโครงสร้างการพูดและการเขียน
รวมถึงใช้ในวาทศิลป์เพื่อการโน้มน้าว ชักจูง ในภาษาละตินอีกด้วย
ต่อมา The Rule of Three ก็ได้รับการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเพิ่มเติม
โดย Alan Baddeley ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความทรงจำและการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์
และได้ข้อสรุปออกมาว่า
ถ้าเราได้รับชุดข้อมูลอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชุดข้อมูลนั้นจะเข้าไปอยู่ในหน่วยความจำระยะสั้น
และเราจะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เพียง 3-4 อย่าง ในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 วินาทีเท่านั้น แล้วก็หายไป
ยกเว้นแต่ว่าจะท่องจำชุดข้อมูลนั้นซ้ำ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ชุดข้อมูลนั้นก็จะย้ายจากหน่วยความจำระยะสั้น
ไปที่หน่วยความจำระยะยาวแทน
แล้ว The Rule of Three มีหลักการอย่างไร ?
The Rule of Three มีหลักการง่าย ๆ คือ การแบ่งข้อความหรือชุดข้อมูลที่ต้องการสื่อสารออกเป็น 3 ส่วน
โดยข้อมูลที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนนี้ จะทำให้ข้อความยาว ๆ ที่ดูไม่น่าอ่าน มีความน่าสนใจ น่าจดจำ และน่าเชื่อถือมากขึ้นได้
เช่น เบอร์โทรศัพท์ มักมีการแบ่งชุดตัวเลขออกเป็น 3 ชุด แต่ละชุดมี 3-4 ตัวเลข
ทั้งนี้ก็เพื่อความง่ายในการจดจำชุดตัวเลขในเบอร์โทรศัพท์
ด้วยความเรียบง่ายและทรงพลัง หลักการนี้จึงถูกนำไปใช้ในการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
การเขียน การเล่าเรื่องราว การพูดสุนทรพจน์ การพูดในที่สาธารณะ งานภาพถ่าย หรืองานศิลปะ
ตัวอย่างเช่น สุนทรพจน์เกตตีสเบิร์กของอดีตประธานาธิบดี Abraham Lincoln ในปี 1863 ที่ว่า
“..รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน..”
ซึ่งในเวลาต่อมา คำพูดดังกล่าวก็กลายเป็นสุนทรพจน์ที่งดงาม ลึกซึ้ง เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั้งโลก
และในปัจจุบันหลักการนี้ก็ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสารเพื่อประโยชน์ทางการตลาด
ในการสร้างความประทับใจ และช่วยให้ลูกค้าจดจำข้อมูลที่แบรนด์ต้องการสื่อสารออกไปได้มากขึ้น เช่น
1. การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์
ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการคิดสโลแกนและแท็กไลน์ของแบรนด์ต่าง ๆ
ซึ่งมักจะเป็นวลีสั้น ๆ มีประมาณ 3-4 คำ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ตัวอย่างเช่น
- Nike มีสโลแกนดังที่หลายคนจดจำได้ก็คือ “Just Do It”
- McDonald’s มีสโลแกนคือ “I’m Lovin’ It”
2. การนำเสนอข้อมูลฟีเชอร์ต่าง ๆ ของสินค้า
การนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ควรเลือกนำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด 3 อันดับแรกเท่านั้น
เพราะถ้านำเสนอเพียง 1-2 อย่าง จะน้อยเกินไป แต่ถ้ามากกว่า 3 อย่าง ลูกค้าจะเริ่มจดจำสิ่งที่นำเสนอไม่ได้
เช่น ถ้าเราเข้าไปในเว็บไซต์ Apple แล้วเลื่อนไปดูโฆษณา iPhone เราจะพบข้อความที่ว่า
“Our most powerful cameras yet. Ultrafast chips. And USB-C.”
จะเห็นว่า Apple เลือกฟีเชอร์ที่คิดว่าเด่น ๆ เพียง 3 อย่าง ออกมานำเสนอเท่านั้น
ซึ่งก็คือ กล้อง, ชิปประมวลผล และพอร์ต USB-C แม้ว่า iPhone จะมีจุดเด่นมากกว่า 3 อย่างก็ตาม
3. การเล่าเรื่องราว (Storytelling) ของแบรนด์
การเล่าเรื่องราวของแบรนด์เป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักและจดจำได้
โดยการเล่าเรื่องราวก็มีวิธีเล่าหลากหลายวิธี
ซึ่งเฟรมเวิร์กหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “Hero’s Journey”
“Hero’s Journey” คือ เฟรมเวิร์กโครงสร้างเรื่องราวสำเร็จรูป 12 ขั้นตอนเกี่ยวกับการผจญภัยของฮีโร
แต่จริง ๆ แล้ว เฟรมเวิร์กนี้สามารถย่อให้เหลือได้ใน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่แบรนด์ระดับโลกต่างก็นำไปใช้ คือ
- การตั้งค่า (Setup) : เป็นการเริ่มต้นเซตติงเรื่องราวในชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ ของตัวเอก
- การเผชิญหน้า (Confrontation) : ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับศัตรู ปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่าง
- การแก้ปัญหา (Resolution) : ตัวเอกเอาชนะอุปสรรค และได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ เท่านี้ ก็ทำให้เรื่องราวที่แบรนด์เล่าออกไปทรงพลัง
และเป็นที่จดจำของคนที่พบเห็นได้ง่าย ๆ
ทั้งหมดนี้ก็คือ The Rule of Three กฎของเลข 3 ในมุมการตลาด
ที่มีอิทธิพล และส่งผลต่อการสื่อสารของแบรนด์อย่างไม่น่าเชื่อ
ใครที่ต้องการสื่อสารข้อความไปถึงลูกค้า ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย ๆ
เพื่อสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ และทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าหรือแบรนด์ได้นาน ๆ..
#TheRuleOfThree
#กลยุทธ์การตลาด
#การสื่อสารของแบรนด์
____________________
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.