อธิบาย Rule of 7 ทำไมเลข 7 ถึงมีพลังแฝง ในเรื่องการตลาด

อธิบาย Rule of 7 ทำไมเลข 7 ถึงมีพลังแฝง ในเรื่องการตลาด

29 มิ.ย. 2024
เลข 7 นับว่าเป็นตัวเลขสำคัญในหลาย ๆ ศาสตร์ เช่น
- ศาสตร์แห่งความเชื่อ ที่ประเทศจีน และญี่ปุ่น เชื่อว่า เลข 7 เป็นเลขมงคล หรือเลขศักดิ์สิทธิ์
- ศาสตร์แห่งความรู้ อย่างในทางเคมีวิทยา pH 7 คือค่าความเป็นกรด-เบส ที่มีสภาพเป็นกลาง เช่น น้ำบริสุทธิ์
หรือแม้แต่ศาสตร์แห่งความรัก
หลาย ๆ คนเชื่อว่า คู่รักที่คบกันมาอย่างราบรื่น แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 มักจะเลิกรากัน
รู้หรือไม่ ? ในด้านการตลาด เลข 7 ก็เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎี Rule of 7 หรือ The Magical Number Seven, Plus or Minus Two ทฤษฎีจิตวิทยาที่สามารถนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดได้
แล้วทั้ง 2 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเลข 7 มีความสำคัญต่อการตลาดอย่างไร ?
เริ่มกันที่ทฤษฎี Rule of 7 หนึ่งในทฤษฎีการตลาดที่เก่าแก่ที่สุด โดยเป็นที่พูดถึงครั้งแรกในช่วงปี 1930s หรือกว่า 90 ปีมาแล้ว
ที่น่าสนใจ เจ้าของทฤษฎีนี้ ไม่ใช่นักการตลาดที่มีชื่อเสียง
แต่กลับเป็นทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นมาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ค่ายภาพยนตร์ หรือโรงหนัง พยายามคิดค้นวิธีการขายตั๋วหนังให้ได้มากที่สุด
จึงออกมาเป็นทฤษฎี Rule of 7 ที่บอกว่า
“ลูกค้าจำเป็นต้องเห็นหรือได้ยินโฆษณา ต้องรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับแบรนด์ของเราอย่างน้อย 7 ครั้ง จึงจะถูกกระตุ้นให้สนใจในแบรนด์ และนำมาสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า”
ซึ่งเบื้องหลังเลข 7 ของทฤษฎีนี้ อาจไม่ใช่ทฤษฎีจิตวิทยาหรือปรัชญายาก ๆ
แต่หลักการง่าย ๆ ของทฤษฎีนี้ คือ การสื่อสารซ้ำ ๆ เป็นการสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ (Brand Awareness), สร้างความมั่นใจ, สร้างความคุ้นเคยให้ลูกค้า จนนำไปสู่การซื้อในท้ายที่สุดนั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม แม้ Rule of 7 จะเป็นทฤษฎีการตลาดที่ได้รับความนิยมไม่น้อย
แต่ด้วยความที่ตัวทฤษฎีไม่ได้มีงานวิจัยใด ๆ มารองรับ ในภายหลังจึงเกิดข้อโต้เถียงในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- ความถี่ในการสื่อสารถึงลูกค้า 7 ครั้ง ที่อาจจะมากเกินไป จนกลายเป็นความรำคาญได้
- การสื่อสารด้วยโฆษณาแบบคุณภาพ เพียงไม่กี่ครั้ง เช่น สื่อสารตรงกลุ่มเป้าหมาย, มีรายละเอียดครบถ้วน อาจมีประสิทธิภาพมากกว่า การโฆษณา 7 ครั้ง
รวมไปถึงยังมีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่พบว่า ความถี่ในการโฆษณาที่เหมาะสม อาจขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า และวิธีการโฆษณาด้วย
ส่วนอีกหนึ่งทฤษฎี คือ The Magical Number Seven, Plus or Minus Two
ทฤษฎีเก่าแก่ที่คิดค้นในปี 1956 หรือ 68 ปีก่อน
โดยคุณ George Miller นักจิตวิทยาด้านการรู้คิด (Cognitive Psychologist) ทำให้ทฤษฎีนี้มีอีกชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “Miller’s Law”
หากแปลชื่อทฤษฎีนี้เป็นภาษาไทยแบบตรงตัวคือ ความมหัศจรรย์ของเลข 7 ± 2
ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า โดยปกติสมองของเราจะมีส่วนที่ชื่อว่า Working Memory
สมองส่วนนี้เป็นสมองส่วนหน้า ที่มีหน้าที่หลัก ๆ คือ การจดจำข้อมูลในระยะสั้น (Short-Term Memory) ซึ่งจะสามารถเรียกข้อมูลได้ทันที หากไม่ทิ้งเวลาไว้นานเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น การจดจำเบอร์โทรศัพท์ เพื่อจดใส่กระดาษ, การจดจำหมายเลข OTP ที่ส่งเข้ามาในข้อความ เพื่อนำไปกรอกบนแอปพลิเคชันหรือบนเว็บไซต์
ซึ่งคุณ George Miller ได้ทำการศึกษาสมองส่วนนี้ จนค้นพบว่า สมองของเราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันได้ ไม่เกิน 7 ชิ้น, 7 อย่าง, 7 ส่วน (บวกหรือลบ 2)
หมายความว่า เราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ในระยะสั้นพร้อมกันได้ โดยเฉลี่ยเพียง 5-9 อย่างเท่านั้น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมอะไรที่มีตัวเลขเยอะ ๆ มากกว่า 5-9 หลัก เช่น
- เบอร์โทรศัพท์ 10 หลัก จะชอบแบ่งกลุ่มเป็น 0xx-xxx-xxxx
- เลขบัตรประชาชน 13 หลัก จะชอบแบ่งกลุ่มเป็น x-xxxx-xxxxx-xx-x
- เลขบัตรเครดิต 16 หลัก จะชอบแบ่งกลุ่มเป็น xxxx-xxxx-xxxx-xxxx
ก็เพื่อให้เราเห็นเป็นภาพตัวเลข จากสิบ ๆ ตัว เหลือเพียงตัวเลข 3-5 กลุ่ม ทำให้เราสามารถจดจำตัวเลขเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง..
ทีนี้ ถ้าถามว่าแล้ว Miller’s Law สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์การตลาดได้อย่างไร ?
1. การคิด Copywriter หรือคำที่ใช้ในโฆษณา
หลัก ๆ คือการเลือกใช้คำที่ใช้ในการโฆษณาแบบสั้น กระชับ ไม่เกิน 7 คำ
ยกตัวอย่าง Copywriter ของแบรนด์ที่คิดคำได้สั้นแต่ทรงพลัง เช่น
Apple ที่เพิ่งออก iPad Pro รุ่นใหม่ มาพร้อมกับสโลแกนสั้น ๆ ที่ว่า “บาง เป็นปรากฏการณ์” และ “M4 ชิปติดจรวด”
หรือในกรณีที่ไม่สามารถเขียนให้เป็นข้อความสั้น ๆ ได้ ก็สามารถใช้การเว้นวรรค เพื่อแบ่งกลุ่มหรือเน้นคำบางคำ จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจและจดจำรายละเอียดของสินค้าได้มากขึ้น
นอกจากการเขียน Copywriter เพื่อโฆษณาสินค้าแล้ว
การบอกรายละเอียดของสินค้า เช่น คุณสมบัติ, ข้อดี และวิธีการใช้งาน ก็ไม่ควรเกิน 7 ข้อ เพื่อให้ลูกค้าไม่สับสน และสามารถจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
2. การออกแบบ UX/UI
ทฤษฎี Miller’s Law เป็นทฤษฎีที่ถูกพูดถึง และนำมาใช้ในวงการการออกแบบ UX/UI เป็นอย่างมาก
ซึ่งการออกแบบ UX/UI คือ การออกแบบเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน ให้ลูกค้าสามารถใช้งานง่าย และตอบโจทย์การใช้งาน
ซึ่ง Miller’s Law สามารถนำมาประยุกต์กับการออกแบบ UX/UI เช่น การออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้มีความเรียบง่าย แบ่งเมนูหรือหมวดหมู่การใช้งาน ออกเป็นไม่เกิน 7 กลุ่ม
อย่างหน้าฟีดของ Facebook ที่เมื่อใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่ามีการแบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจน
ได้แก่ ฝั่งซ้ายเป็น โปรไฟล์และเมนู ไม่เกิน 7 เมนู, ด้านบนเป็น Reels, ตรงกลางเป็นส่วนของการโพสต์สถานะ และหน้าฟีด, ฝั่งขวาเป็นเพจ และเพื่อนที่กำลังออนไลน์อยู่
ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เราใช้งานหน้าฟีด Facebook เราจึงรู้สึกว่า ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไปนั่นเอง..
ทั้งหมดนี้คือ ความมหัศจรรย์ของ “เลข 7”
ที่นอกจากจะเป็นตัวเลขสำคัญในศาสตร์ต่าง ๆ แล้ว ก็ยังเป็นตัวเลขสำคัญใน 2 ทฤษฎีการตลาดที่คิดค้นมานานหลายสิบปีเช่นกัน
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
นอกจากเลข 7 แล้ว ตัวเลขสำคัญ ๆ ในทางจิตวิทยาที่มีผลต่อพฤติกรรมของลูกค้า เช่น
- เลข 1
การบอกว่า เป็นแบรนด์อันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจให้กับแบรนด์ได้
- เลข 9
การตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้ามีราคาถูกลง
เช่น เทียบราคา 199 บาท กับ 200 บาท เราจะรู้สึกว่า 199 บาท ถูกกว่า แม้จะแตกต่างกันเพียง 1 บาทก็ตาม
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.