สรุป 5 กลยุทธ์ ในมุมการตลาด เอาไว้ใช้รับมือ การโดนลอกเลียนแบบ

สรุป 5 กลยุทธ์ ในมุมการตลาด เอาไว้ใช้รับมือ การโดนลอกเลียนแบบ

25 เม.ย. 2024
คนที่ทำธุรกิจ ต้องเข้าใจ และทำใจกับเรื่องหนึ่ง
คือสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาด ตามธรรมชาติ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนลอกเลียนแบบ โดยผู้ขายรายอื่น
พอทำใจได้แล้ว ก็มาวางแผนหาวิธีแก้ หาวิธีรับมือกันต่อ..
MarketThink ขออาสาสรุป 5 กลยุทธ์ในมุมการตลาด เพื่อไม่ให้สินค้าเลียนแบบจากแบรนด์คู่แข่งแย่งชิงลูกค้าของเราไป
1. สร้างภาพจำ หรือ Brand Awareness ของแบรนด์ให้ชัดที่สุด
การสร้างภาพจำให้กับแบรนด์นั้น เป็นเรื่องแรกที่เราต้องคำนึงถึงตั้งแต่ก่อนสร้างแบรนด์
เพราะจะทำให้ลูกค้าสามารถแยกออกได้ว่า แบรนด์ของเราแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร
โดยการสร้างแบรนด์จำเป็นต้อง สร้างสิ่งที่ลูกค้าสามารถจดจำได้อย่างเด่นชัด
เพื่อที่จะทำให้ลูกค้าสามารถแยกแยะได้ว่า แบรนด์ไหนของจริง แบรนด์ไหนของเลียนแบบ
ยกตัวอย่าง แบรนด์ LEGO ที่มีของลอกเลียนแบบออกมาขายอย่างหลากหลาย
แต่ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น
- ชื่อของชุดของเล่นที่ LEGO สามารถตั้งได้เพียงผู้เดียว
- วัสดุที่มีความทนทานแข็งแรง กันน้ำกันฝุ่น สีสันสดใส ลายสกรีนในชิ้นส่วนต่าง ๆ
- หน้าตาเสื้อผ้าตัวละคร Minifigures ที่มีความคมชัด สีไม่หลุดลอกออกง่าย
สินค้า LEGO แท้ยังปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับทุกวัยแน่นอน
พอ Brand Awareness หรือภาพจำของแบรนด์เราชัด ใครจะเลียนแบบก็ทำไป แต่สุดท้ายของแท้ที่คนไม่ลืม ก็คือเราอยู่ดี
2. Storytelling หรือการเล่าเรื่องราวของแบรนด์เรา ช่วยสร้างคุณค่าได้มาก
สร้างมูลค่าของแบรนด์ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการใส่เรื่องราวลงไปในแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของสินค้า หรือกระบวนการผลิตสินค้า
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เฟอเรโร รอชเชอร์ ช็อกโกแลตนมทรงกลม ทุกครั้งที่โฆษณา จะเน้นย้ำเรื่องการผลิต อย่างพิถีพิถันเสมอ
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำอีกว่า การส่งมอบเฟอเรโร รอชเชอร์ ไม่ได้เป็นเพียงการซื้อของฝาก แต่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้กับคนที่เรารัก
เพราะฉะนั้น คุณค่าของ เฟอเรโร รอชเชอร์ ไม่ใช่แค่เพียงช็อกโกแลตนม แต่หมายถึง แบรนด์เฟอเรโร รอชเชอร์
ซึ่งแบรนด์อื่น ๆ เลียนแบบสินค้าของเราได้ แต่ไม่สามารถเลียนแบบเรื่องราว และคุณค่าระหว่างทางในเรื่องราวของเราได้แน่นอน
3. ปรับปรุงแบรนด์ให้เข้ากับยุคสมัย
ต้องมีการปรับปรุงสินค้าอยู่เสมอ ตรวจสอบว่าสินค้าของเรามีข้อผิดพลาดตรงไหน ต้องปรับปรุงอย่างไร
โดยอาจเป็นการสอบถามการใช้งานของลูกค้า หลังใช้งานสินค้าไปสักช่วงเวลาหนึ่ง หรือเก็บข้อมูลประสบการณ์ใช้งาน ของลูกค้าผ่านการสอบถามโดยตรง
ซึ่งเมื่อเราสามารถปรับปรุงสินค้าให้เท่าทันกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ จะทำให้แบรนด์ของเราได้รับการบอกต่อมากยิ่งขึ้น จนมีคนรู้จักอย่างแพร่หลาย
และการปรับปรุงสินค้าอยู่เสมอ ยังทำให้แบรนด์อื่น ๆ ที่ต้องการเลียนแบบ เหนื่อยจะต้องปรับตัวเหมือนกัน ทำให้สินค้าของแบรนด์เรามีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในตลาดอยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างเช่น iPhone ในสมัยก่อนนั้น มีการขายสินค้าเลียนแบบอย่างหลากหลาย
แต่เพราะคุณสมบัติของ iPhone ที่มีความหรูหรา พร้อมด้วยประสิทธิภาพที่ทรงพลังและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อแค่ iPhone ของแท้เพียงเท่านั้น สมัยนี้จะไม่ค่อยเห็นคนกล้าใช้ของปลอมกันแล้ว
4. สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอยู่เสมอ อย่าทำตัวเหินห่างจากลูกค้า
อย่าทำให้ลูกค้าลืมว่าแบรนด์ของเราคืออะไร โดยอาจจะทำได้ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาด ในช่องทางต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน ออนไลน์ และอีเมล เช่น ส่งมอบโปรโมชันสุดพิเศษทางอีเมลเฉพาะบุคคล หรือส่งมอบของกำนัลให้ลูกค้าประจำในโอกาสพิเศษ
ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทางตรงเช่นนี้ จะทำให้แบรนด์อื่นที่พยายามลอกเลียนแบบ ไม่สามารถแย่งลูกค้าของแบรนด์เราไปได้ง่าย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น AIS ที่จะมีสิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับลูกค้าประเภท Serenade Gold, Platinum
ไม่ว่าจะเป็น
- ที่จอดรถพิเศษ
- ส่วนลดค่าน้ำมัน
- ส่วนลดพิเศษสำหรับร้านอาหารที่เข้าร่วมโปรโมชัน
5. สร้าง Brand Identity ให้ชัด อย่างน้อยต้องมีสักเรื่อง ที่คนจำนวนมากรู้ว่าเราเด่นอะไร
ตัวอย่างเช่น Starbucks ที่โดดเด่นมาก เรื่องมาตรฐานคุณภาพการชง มาตรฐานการบริการ ที่ใกล้เคียงกันมากในทุกสาขาบนโลกนี้ ไม่ว่าจะซื้อที่ไทย ที่จีน หรือที่สหรัฐอเมริกา
จากกลยุทธ์ที่นำมาทั้งหมดนี้ โดยรวมจะเห็นได้ว่าเน้นไปที่การสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของตนเอง เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ และเลือกซื้อแบรนด์ของเราแทน
แต่การโดนเลียนแบบ มองอีกมุมก็น่าสนใจ..
เพราะเป็นการคอนเฟิร์มว่า แบรนด์ของเรากลายเป็นมาตรฐานของสินค้าชนิดนั้น ๆ สินค้าของเรามันดีเยี่ยม จนคนอื่นต้องทำตาม
และถ้าเรายังไม่โดนก๊อบ ไม่โดนลอกเลียนแบบ อาจจะเพราะว่าสินค้าของเรา มันยังไม่ดี ยังไม่คูลพอ หรือเปล่า..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.