อธิบายเรื่อง City Branding จากเคส กทม. ติดสติกเกอร์ใหม่ ที่แยกปทุมวัน

อธิบายเรื่อง City Branding จากเคส กทม. ติดสติกเกอร์ใหม่ ที่แยกปทุมวัน

29 พ.ค. 2024
วันนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดสติกเกอร์ใหม่ที่คานทางรถไฟฟ้า BTS บริเวณสี่แยกปทุมวัน
ซึ่งสติกเกอร์ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนข้อความ ลวดลาย และสีให้ดูทันสมัยมากขึ้น
จนเกิดเป็นกระแสไวรัลวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
การติดสติกเกอร์ใหม่นี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าก็แค่การลอกสติกเกอร์เก่าแล้วแปะสติกเกอร์ใหม่ทับเข้าไป
แต่รู้หรือไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ในมุมการตลาดเรียกว่า City Branding
แล้ว City Branding คืออะไร ?
เกี่ยวข้องกับการติดสติกเกอร์ใหม่ของกรุงเทพมหานครอย่างไร ? เรามาดูกัน
City Branding หรือการสร้างแบรนด์ให้เมือง คือ กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์ให้เมืองมีความโดดเด่น
น่าดึงดูด และแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ผ่านสัญลักษณ์, สโลแกน, ค่านิยม, วัฒนธรรม หรือสิ่งอื่น ๆ
ซึ่งคล้ายกับการสร้างแบรนด์ให้สินค้าหรือองค์กรในโลกของธุรกิจ
แต่แทนที่จะเป็นสินค้าหรือองค์กร ก็เปลี่ยนเป็นเมืองต่าง ๆ แทนนั่นเอง
โดยวัตถุประสงค์หลักของการสร้างแบรนด์ให้กับเมืองก็คือ ทำให้เมืองเป็นที่น่าสนใจ ทั้งในสายตาของนักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือแม้แต่คนในประเทศเองก็ตาม
ซึ่งก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองนั้น ๆ ให้เติบโตมากขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่าง City Branding ในต่างประเทศที่ใครหลายคนเห็นแล้วก็ต้องร้อง อ๋อ ก็คือ
โลโก “I ❤ NY” ของเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยคุณ Milton Glaser
ในช่วงเวลาที่นิวยอร์กประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีการคิดแก้ปัญหาโดยการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว โลโก “I ❤ NY” จึงถือกำเนิดขึ้น และก็กลายมาเป็นภาพจำของใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งถ้าเรากลับมามองที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่า
สิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า City Branding มีเพียงตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร
ซึ่งก็คือ ตราสัญลักษณ์รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ในพระหัตถ์ถือวัชระ (อาวุธสายฟ้า)
และสโลแกน “กรุงเทพ…ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ที่คิดขึ้นมาในสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แต่ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวกลับไม่เป็นที่รู้จักมากนักในชาวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งคนไทยด้วยกันเองก็ตาม
ส่วนสโลแกนก็มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความย้อนแย้งของสโลแกนกับความเป็นจริงที่ไม่สอดคล้องกัน
ทำให้กรุงเทพมหานครไม่เคยมี City Branding ที่มาช่วยสร้างภาพจำเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเมืองมาก่อน
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครก็พยายามผลักดันให้เมืองไทยมี City Branding เหมือนในต่างประเทศ
ซึ่งถ้าใครเคยไปเดินเล่นสกายวอล์กที่เชื่อมระหว่าง BTS สถานีสยามและ BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
บริเวณแยกปทุมวัน ใจกลางย่านการค้าและธุรกิจของกรุงเทพมหานคร
น่าจะสังเกตเห็นกันว่า มีนักท่องเที่ยวหลายคนมาถ่ายรูปคู่กับสติกเกอร์กรุงเทพมหานครที่แปะอยู่บนคานรถไฟฟ้า BTS กันเยอะมาก จนกลายเป็นหนึ่งในจุดเช็กอินสุดฮิตแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครไปแล้ว
แต่เพราะสติกเกอร์ดังกล่าวติดมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี จนข้อความจางจนเลือนหายไป
ทางกรุงเทพมหานครจึงทำการลอกสติกเกอร์อันเก่า และแปะสติกเกอร์อันใหม่ลงไปแทนที่
โดยคาดหวังว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็น City Branding
และทำหน้าที่เสมือนเป็นแม่เหล็กที่คอยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องแวะเข้ามาถ่ายรูปเช็กอินกันต่อไปเรื่อย ๆ
โดยสติกเกอร์ใหม่นี้ทางกรุงเทพมหานครบอกว่า ได้สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานครลงไปด้วยคือ
- มีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ มาครอบตัด (Crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม และผสมความมินิมัล ให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วย
- โทนสีของกราฟิก มีสีหลักคือ “สีเขียวมรกต” ซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
และมีระบบสีรอง เช่น สีม่วง สีเหลือง สีส้ม สีฟ้า และสีชมพู ซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร
ซึ่งการใช้โทนสีสดใสแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาในช่วง Pride Month
ที่กำลังมาถึงในเดือนหน้าด้วย
และหลังจากมีการเปลี่ยนสติกเกอร์ใหม่
แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชอบ และไม่ชอบ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การเปลี่ยนแปลง มันก็เกิดขึ้นแล้ว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.