วิเคราะห์ อัลกอริทึม Facebook เลือกโฆษณาอย่างไร ให้เหมือนเราโดนแอบฟัง

วิเคราะห์ อัลกอริทึม Facebook เลือกโฆษณาอย่างไร ให้เหมือนเราโดนแอบฟัง

19 ก.ค. 2024
หลายคนน่าจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้
คุยกับเพื่อนว่าอยากได้หูฟังไร้สายเสียงดี ๆ อันใหม่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ไปพบโฆษณาหูฟังไร้สายที่กำลังอยากได้บน Facebook และ Instagram
หรืออยู่ ๆ ก็มีเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศเดียวกัน ที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน ไม่เคยมีเพื่อนร่วมกัน ขึ้นเป็นรายชื่อเพื่อนแนะนำให้เรากดเพิ่มเพื่อนบนหน้าไทม์ไลน์
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้คนทั่วโลก ต่างตั้งคำถามว่าจริง ๆ แล้ว Facebook กำลัง “แอบฟัง” สิ่งที่เราคุยกับคนอื่นหรือไม่ ?
ต้องอธิบายก่อนว่า คำถามนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกสงสัย จน Facebook ต้องชี้แจงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเลยว่า
“Facebook และ Instagram ไม่เคยแอบฟังเสียงการสนทนาของเราผ่านทางไมโครโฟนบนสมาร์ตโฟนของเรา”
โดย Facebook และ Instagram จะใช้ไมโครโฟนต่อเมื่อได้รับอนุญาต และจะใช้ไมโครโฟนกับฟีเชอร์ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
แม้ว่าในบางครั้งโฆษณาต่าง ๆ ที่เราเห็นบน Facebook และ Instagram จะดูมีความเฉพาะเจาะจงกับตัวเรามากก็ตาม
ทีนี้ คำถามถัดมาคือ ถ้า Facebook ยืนยันด้วยตัวเองว่า ไม่เคยแอบฟังผู้ใช้งาน แล้วทำไมเราจึงเห็นโฆษณาบน Facebook และ Instagram ที่ตรงใจเราเหลือเกิน จนเหมือนโดนแอบฟัง
โดยปกติแล้ว Facebook รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ จะมีการ Track ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งานทุกคน ทั้งในแพลตฟอร์ม และนอกแพลตฟอร์ม
เช่น โพสต์ที่เราดู
เพจที่เราติดตามและเข้าไปดูบ่อย ๆ
สินค้าที่เราค้นหา
สถานะความสัมพันธ์ที่เราใส่ไว้ในหน้าโปรไฟล์ เช่น โสด มีแฟนแล้ว หรือแต่งงานแล้ว
สถานที่ทำงาน ตำแหน่งงาน
ประวัติการศึกษา
ตำแหน่ง (Location) ที่เราแชร์
ซึ่งการ Track ข้อมูลนี้เอง ที่ทำให้ Facebook รู้ว่าผู้ใช้งานแต่ละคนมีพฤติกรรม และความสนใจในเรื่องใด
และจะต้องนำโฆษณาแบบใดมาแสดงให้ผู้ใช้งานแต่ละคนเห็น
หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ Facebook กำลังทำ Personalized Ads และ Targeted Ads ที่เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละคนนั่นเอง
ทีนี้ มีทริกอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากเราเห็นโฆษณาบนหน้าไทม์ไลน์ เราสามารถกดดูได้ว่า ทำไมเราจึงเห็นโฆษณานี้
ด้วยการกดที่ปุ่มจุดสามจุด (...) ที่มุมขวาบนของโฆษณา จากนั้นกดไปที่ “Why am I seeing this ads ?”
Facebook จะบอกเลยว่า ที่เราเห็นโฆษณาชิ้นนี้ ก็เพราะเรามีความสนใจในเรื่องอะไร หรือเคยมีปฏิสัมพันธ์กับเพจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโฆษณาชิ้นนั้น
รวมถึงบอกคร่าว ๆ ด้วยว่า เรามีลักษณะที่ตรงกับ Target ที่ผู้ลงโฆษณาต้องการอย่างไร เช่น ตำแหน่ง อายุ หรือภาษาของเรา ตรงกับที่ผู้ลงโฆษณาต้องการ
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Meta ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก เช่น Instagram, WhatsApp และ Threads ยิ่งทำให้ข้อมูลของเราที่ถูก Track ไปถูกนำไปใช้งานได้มากขึ้น
ส่วนการ Track ข้อมูลของ Facebook อีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือ การ Track ข้อมูลนอกแพลตฟอร์ม Facebook (Off-Facebook Activity)
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือหน่วยงานใด ๆ ที่เลือกแชร์ข้อมูลกับ Facebook
ซึ่งข้อมูลนี้หลัก ๆ แล้ว ก็คือ เว็บไซต์ที่เราเข้า สินค้าที่เราดู สิ่งที่เราค้นหา สินค้าที่เราซื้อ
รวมถึงถ้าใครเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ที่มีตัวเลือกให้ล็อกอินด้วยบัญชี Facebook ก็จะทำให้ Facebook ได้ข้อมูลของเราเพิ่มเติมไปด้วย
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะพอได้คำตอบแล้วว่าจริง ๆ แล้ว Facebook ไม่ได้แอบฟังสิ่งที่เราคุยกับเพื่อน
แต่สิ่งที่ Facebook ทำ คือการ Track ข้อมูลของเรา ทั้งในแพลตฟอร์ม และนอกแพลตฟอร์ม
จนทำให้ Facebook สามารถแสดงโฆษณา ได้เหมือนแอบฟังเราคุยกับเพื่อน โดยไม่จำเป็นต้องแอบฟังจริง ๆ
และเรื่องนี้เอง ก็เป็นราคาที่เราต้องจ่าย จากการใช้งาน Facebook ในทุกวัน
เพราะอย่าลืมว่าของฟรีไม่มีในโลก แต่เรากำลังจ่ายด้วย “ข้อมูล” ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล เป็นการทดแทน
อย่างไรก็ตาม ต้องขออธิบายเพิ่มเติมเป็นการปิดท้ายบทความนี้ด้วยว่า ในปัจจุบันการ Track ข้อมูลอาจไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะบน iPhone รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple
เพราะในปัจจุบัน Apple มีฟีเชอร์ที่ชื่อว่า “Ask App Not to Track” ที่ให้ผู้ใช้งานแต่ละคนเลือกได้ว่าจะอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ Track ข้อมูลของตัวเอง
ซึ่งฟีเชอร์นี้ ก็จะทำให้แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่าง ๆ Track ข้อมูลของเราได้ยากขึ้นตามไปด้วย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.