วิเคราะห์ การตลาดสร้างมีม ที่ทำให้ Duolingo เป็นแอปเรียนภาษา ที่คนช่วยโฆษณาให้ แบบฟรี ๆ
2 พ.ค. 2024
หลายคนคงจะเคยเห็นมีมกวน ๆ ของ “นกฮูก” ตัวสีเขียว ตาโต ของ Duolingo ที่ชอบทำท่าทางดูเกรี้ยวกราด ชวนให้คนทั่วโลก มาเรียนภาษาแบบกวน ๆ
จนคนทั่วโลก นำนกฮูก Duolingo ที่ว่านี้ ไปตัดต่อเป็นมีมแบบขำ ๆ ต่อยอดจากการชวนเรียนภาษาแบบกวน ๆ กลายเป็นคอนเทนต์แบบ User Generated Content ที่กระจายไปทั่วโลก
ในมุมหนึ่ง อาจเรียกได้ว่า สิ่งที่ Duolingo ทำ กลายเป็นกลยุทธ์การตลาด ที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า การตลาดจากการสร้างมีม เลยก็ว่าได้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร MarketThink วิเคราะห์ให้อ่านกันในโพสต์นี้..
Duolingo คือธุรกิจสตาร์ตอัป ด้านแพลตฟอร์มสอนภาษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011
มีโมเดลในการทำธุรกิจ โดยหารายได้จากบริการ Subscription และโฆษณา บนแอปพลิเคชันสอนภาษาของตัวเอง
โดยในปัจจุบัน Duolingo มีผู้ใช้งานราว ๆ 88 ล้านคนต่อเดือน และมีภาษาให้เลือกเรียนมากกว่า 40 ภาษา
รวมถึงภาษาโบราณอย่าง “ฮีบรู” ก็มีให้เลือกเรียนเช่นเดียวกัน
รวมถึงภาษาโบราณอย่าง “ฮีบรู” ก็มีให้เลือกเรียนเช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือ กลยุทธ์ด้านการตลาดของ Duolingo..
ถ้าใครเคยใช้แอปพลิเคชัน Duolingo จะพบว่า Duolingo เป็นแบรนด์ที่มีแครักเตอร์ความเป็นตัวแสบ ตัวกวน บวกกับตลกนิด ๆ
เช่น หากทำแบบทดสอบภาษาแล้วได้คะแนนน้อย Duolingo ก็จะโกรธ พร้อมบอกว่า ให้โอกาสอีกครั้งเดียวนะ รีบกลับไปฝึกภาษาใหม่เดี๋ยวนี้
แต่ถ้าได้คะแนนที่ดีขึ้นแล้ว Duolingo ก็จะบอกว่า คุณทำได้ดี ครอบครัวของคุณปลอดภัยแล้ว
หากไม่ได้เข้าแอปพลิเคชัน Duolingo เพื่อเรียนภาษานานจนเกินไป Duolingo ก็จะถูกแช่แข็ง เข้าสู่โหมดดรามา เหมือนถูกลืม
หรือแม้แต่การสื่อสารในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่นกฮูกของ Duolingo กลายเป็นมีมอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งก็มีทั้งมีมที่ Duolingo เป็นผู้โพสต์ด้วยตัวเอง
เช่น ปีกไก่ทอดสีเขียว คล้ายกับสีของนกฮูก Duolingo ที่กำลังถูกย่างด้วยไฟ เพราะกระตุ้นให้คนเรียนภาษาบ่อยเกินไป จนถูกนำมาทำเป็นอาหาร
เช่น ปีกไก่ทอดสีเขียว คล้ายกับสีของนกฮูก Duolingo ที่กำลังถูกย่างด้วยไฟ เพราะกระตุ้นให้คนเรียนภาษาบ่อยเกินไป จนถูกนำมาทำเป็นอาหาร
หรืออย่าง Duolingo ที่เปิดประตูเข้ามาในห้องยามค่ำคืน จนมีความน่ากลัวเหมือนโจรที่กำลังจ้องขโมยของภายในบ้าน หรือผีในหนังสยองขวัญ
หรือในช่วงคอนเสิร์ต Taylor Swift แอดมินบนแพลตฟอร์ม X (Twitter เดิม) Duolingo ก็ตัดต่อภาพ นำนกฮูกของตัวเอง ไปใส่ในหน้าปกอัลบั้ม Reputation ของ Taylor Swift
นอกจากนี้ แอดมินที่ดูแลบัญชีโซเชียลมีเดียของ Duolingo ยังโต้ตอบกับคนทั่วโลกอย่างสนุกสนาน เมื่อมีใครกล่าวถึง Duolingo แอดมินก็พร้อมที่จะเข้าไปโต้ตอบด้วยในทันที
รวมถึงยังมีมีมอื่น ๆ ที่คนทั่วโลกนำนกฮูกของ Duolingo ไปตัดต่อ และใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
คำถามคือ ทำไม Duolingo จึงประสบความสำเร็จอย่างมาก กับการสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยใช้การตลาดจากการสร้างมีม
ความจริงแล้ว ต้องอธิบายว่า การตลาดจากการสร้างมีม เป็นเพียงชื่อที่สมมติขึ้น เพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่ามีม ซึ่งเกิดขึ้นบนโลกโซเชียล ก็เป็นสิ่งที่สร้างกระแส และการรับรู้ให้กับแบรนด์ได้ ไม่ต่างจากการสื่อสารด้วยวิธีอื่น ๆ
ซึ่งหากเราหยิบเอาทฤษฎีด้านการตลาด มาจับกับการสร้างมีมของ Duolingo จะพบว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทำ คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า Emotional Marketing หรือการตลาดที่เล่นกับ “อารมณ์” ของคน นั่นเอง
หากอธิบายเพิ่มเติม Emotional Marketing ก็คือการตลาดที่ใช้อารมณ์ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้คน ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ
ซึ่งทุกอารมณ์ของเรา ล้วนเกี่ยวข้องกับ Emotional Marketing แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความเศร้า ความเหงา ความกลัว และอารมณ์แห่งการมีส่วนร่วมกับสิ่งต่าง ๆ
โดยในกรณีของมีม และการสื่อสารของ Duolingo สิ่งแรกที่เราเห็นกัน ก็คือ Duolingo ใช้แครักเตอร์ความกวน ปนน่ารัก และเป็นกันเอง ในการดึงดูด ให้คนสนใจในมีม และคอนเทนต์ของ Duolingo
และเมื่อเห็นมีมของ Duolingo แล้ว ก็พร้อมที่จะแชร์ต่อในทันที เพราะชอบในแครักเตอร์ความขำปนกวน ของ Duolingo
หรือคนจำนวนไม่น้อย อาจลองเปิดใจดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Duolingo มาใช้เป็นครั้งแรก หลังเห็นมีมของ Duolingo บนโซเชียลมีเดียก็เป็นไปได้เช่นกัน
แต่หากลองวิเคราะห์ลงไปมากกว่านั้น จะพบว่า มีมของ Duolingo เข้าไปกระตุ้นอารมณ์แห่งการมีส่วนร่วม ของคนส่วนใหญ่ขึ้นมา
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ การแชร์ประสบการณ์ขำ ๆ ของตัวเอง ที่ได้จากการใช้แอปพลิเคชัน Duolingo เป็นประสบการณ์ตรง ที่ผู้ใช้ Duolingo ทุกคนเคยเจอ
บางคนถึงกับตั้งตารอว่า Duolingo จะหาวิธีกระตุ้นให้คนฝึกภาษาอย่างต่อเนื่องบนแอปพลิเคชัน Duolingo ได้อย่างไร
นอกจากนี้ มีมของ Duolingo ยังกระตุ้นให้เกิดคอนเทนต์จากคนทั่วไป (User Generated Content) บนโลกโซเชียล เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะการนำมีมของ Duolingo ไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่ตัวเองเจอ แม้ว่าความจริงแล้วเรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับ Duolingo เลยก็ได้
คือพูดง่าย ๆ ว่า มีคนจำนวนมาก ช่วยโปรโมตแอปพลิเคชัน Duolingo แบบไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องบังคับ เหมือน Duolingo มีคนมาโฆษณาให้แบบฟรี ๆ
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า สูตรที่ Duolingo ใช้ในการทำการตลาด จนได้รับการพูดถึงมากขนาดนี้ คืออะไร
เราคงสามารถสรุปออกมาสั้น ๆ ได้ว่า สิ่งที่ Duolingo ทำ คือ ความใกล้ชิด และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าของตัวเอง ไม่ใช่แค่การขาย Subscription ฝึกภาษา ที่คิดเงินเป็นรายเดือน เท่านั้น
แต่เป็นการสร้างความสนิทสนม ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า โดยการใช้คอนเทนต์ที่เป็นกันเอง น่ารัก กวน แต่เข้าถึงง่าย
จน Duolingo กลายเป็นแพลตฟอร์มฝึกภาษา ที่เข้าไปอยู่ในใจคนทั่วโลก ได้ในที่สุด