สรุปสูตร ทำคอนเทนต์ให้ถูกใจ Algorithm อัปเดตปี 2024 จากงาน CTC 2024

สรุปสูตร ทำคอนเทนต์ให้ถูกใจ Algorithm อัปเดตปี 2024 จากงาน CTC 2024

20 มิ.ย. 2024
อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นหนึ่งในความท้าทาย ที่คนทำการตลาด และคอนเทนต์ น่าจะเจออยู่บ่อย ๆ
เพราะในบางครั้ง ต่อให้ทำคอนเทนต์ดีเพียงใด แต่ถ้าไม่ถูกใจอัลกอริทึมก็ไม่มีใครเห็น
ล่าสุด ที่งาน Creative Talk Conference 2024 มี Session ที่ชื่อว่า Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024-2025 โดยคุณขจร เจียรนัยพานิชย์ ได้อธิบายถึงการทำคอนเทนต์ ให้ถูกใจอัลกอริทึมโดยเฉพาะ
แล้วเรื่องนี้ จะมี “สูตร” ในการทำคอนเทนต์อย่างไร ? MarketThink สรุปให้อ่านกันในโพสต์นี้
ก่อนที่เราจะรู้สูตรการทำคอนเทนต์ให้ถูกใจอัลกอริทึม เราต้องรู้กันก่อนว่า อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทำงานอย่างไร
อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะมีการทำงาน 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
1. อัลกอริทึมแบบ Social Media เช่น Facebook
มีหลักการทำงานแบบการแชร์คอนเทนต์จากคนสู่คน
นั่นคือ เราจะเห็นคอนเทนต์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ใช้อัลกอริทึมแบบนี้ เป็นคอนเทนต์ของเพื่อน ๆ เพจ ช่อง หรือคนที่เรากดติดตาม คิดเป็นสัดส่วนราว ๆ 85%
ในขณะที่คอนเทนต์ที่เหลืออีก 15% จะเป็นคอนเทนต์อื่น ๆ ที่แพลตฟอร์มคัดเลือกมาให้ โดยอิงจากความสนใจของเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้กดติดตาม
ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ใช้อัลกอริทึมแบบ Social Media ก็อย่างเช่น
- Facebook
- Instagram
- LINE VOOM
- LinkedIn
แต่ต้องหมายเหตุไว้ก่อนว่า ในช่วงหลัง Facebook และ Instagram ก็เริ่มปรับอัลกอริทึม ให้แสดงคอนเทนต์ตามความสนใจ ในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น จาก 15% เพิ่มเป็น 30%-40% แม้ว่าเราจะไม่ได้ติดตามก็ตาม
2. อัลกอริทึมแบบ Recommendation Media เช่น TikTok
มีหลักการทำงานตรงข้ามกับอัลกอริทึมแบบ Social Media ก็คือ
คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่เราเห็นบนแพลตฟอร์ม จะเป็นคอนเทนต์ที่มาจากการคัดเลือกของอัลกอริทึม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องกดติดตามใด ๆ เลย
ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ใช้อัลกอริทึมแบบ Recommendation Media ก็อย่างเช่น
- TikTok
- YouTube
- X (Twitter เดิม)
ทีนี้ เรามาดูกันต่อว่า เราจะมีวิธีในการทำคอนเทนต์อย่างไร ให้ถูกใจอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มากที่สุด
- ทำคอนเทนต์ ให้ถูกใจสิ่งที่แต่ละแพลตฟอร์มกำลังผลักดัน
เช่น ช่วงนี้ Facebook กำลังผลักดันคอนเทนต์ประเภท Text ที่มีเพียงแค่ข้อความ ไม่มีรูปภาพ อัลบั้ม หรือคลิปวิดีโอ
หรือ TikTok ที่กำลังผลักดันคลิปวิดีโอขายสินค้าบน TikTok Shop
หากเราจับทางถูก และรู้ว่าแต่ละแพลตฟอร์มกำลังผลักดันคอนเทนต์แบบใด แล้วทำคอนเทนต์แบบนั้นออกมา ก็จะทำให้คนเห็นคอนเทนต์ของเราได้ง่ายขึ้น
โดยที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะใช้อัลกอริทึม ในการวิเคราะห์คอนเทนต์แต่ละตัว ว่าเป็นคอนเทนต์ประเภทใด เช่น คอนเทนต์ Text, รูปภาพ, อัลบั้ม หรือคลิปวิดีโอ
แล้วนำคอนเทนต์เหล่านั้นมาให้คะแนน เพื่อคัดเลือกเป็นคอนเทนต์ ที่ผู้ใช้แต่ละคนจะเห็นที่หน้าฟีดของตัวเอง
- ทำคอนเทนต์ให้ถูกใจทั้งคน และ AI
ในข้อนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มนั้น จะทำการคัดเลือกคอนเทนต์ไปแสดงให้กับผู้ใช้งาน ตามความสนใจ
โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะใช้ AI วิเคราะห์คอนเทนต์แต่ละตัวว่าเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับอะไร
โดยดูจากเนื้อหาภายในคอนเทนต์นั้น แคปชัน แฮชแท็ก สถานที่ คำบรรยายในคลิปวิดีโอ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าคอนเทนต์ของเราจะถูก AI ดูแทบทุกอย่าง
หลังจากนั้นเมื่อ AI จัดประเภทได้แล้วว่าคอนเทนต์ของเรา เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร ก็จะนำคอนเทนต์นี้ ไปแสดงให้กับผู้ใช้ ที่มีความชอบตรงกัน
- คอนเทนต์ ต้องเหมาะกับโครงสร้างของเพจ/ช่อง แต่ละประเภท
ซึ่งโครงสร้างของเพจ/ช่องในที่นี้ หมายถึง ทั้งประเภทและจำนวนของคอนเทนต์ที่ทำ ต้องเหมาะสมกับประเภทของเพจ/ช่อง
โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างของเพจ/ช่อง จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. เพจ/ช่องประเภท Mass
เช่น สำนักข่าวออนไลน์, สื่อ, อินฟลูเอนเซอร์, คนดังทั่วไป
ควรทำคอนเทนต์ที่เป็นข่าว เรื่องที่กำลังอยู่ในกระแส หรือเรื่องทั่วไปให้มาก เพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานให้มากที่สุด แต่ควรทำคอนเทนต์ประเภท Niche ให้น้อย
2. เพจ/ช่องประเภท Category Media หรือ Category Creator
เช่น เพจด้านการตลาด, สำนักข่าวเศรษฐกิจ, อินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงิน การลงทุน ที่เน้นการทำคอนเทนต์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ควรทำคอนเทนต์ Mass และ Niche ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
3. เพจ/ช่องประเภท Niche
เช่น เพจแฟนคลับของศิลปินคนใดคนหนึ่ง แฟนคลับสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่ง
ควรทำคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะด้าน เจาะลึกไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ติดตามเพจของเราไปเลย
จะดีกว่าการทำคอนเทนต์ Mass ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่กลุ่มเป้าหมายของเราสนใจ
- Performance ในอดีตที่ผ่านมา ชี้ชะตาปัจจุบัน
อีกข้อหนึ่งที่มีความสำคัญคือ อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะนำ Performance ในอดีตที่ผ่านมาของเพจ มาใช้เป็นปัจจัยในการเลือกคอนเทนต์ไปแสดงให้ผู้ใช้งานแต่ละคน
หาก Performance ในอดีตที่ผ่านมาของเพจ ทำได้ไม่ดี เช่น คอนเทนต์มี Reach และ Engagement น้อย
ก็มีแนวโน้มว่า คอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่ปล่อยออกไป ก็จะมี Performance ที่ไม่ดี เช่นเดียวกัน
นั่นหมายความว่า หากต้องการเอาชนะอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้ได้ ก็ต้องทำคอนเทนต์ของเราให้มีคุณภาพ และน่าดึงดูดมากที่สุดในทุกคอนเทนต์ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การที่เราจะเอาชนะอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ
เช่น การลงคอนเทนต์ให้สม่ำเสมอ ไม่มา ๆ หาย ๆ เคยมีคอนเทนต์กี่ตัวในหนึ่งสัปดาห์ ก็ต้องทำให้ได้เท่าเดิมเรื่อย ๆ
ทำคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจ ทั้งเนื้อหา แคปชัน ภาพประกอบ
หรือการพยายามให้ผู้ติดตามกด See First ซึ่งจะทำให้เห็นคอนเทนต์ของเพจบ่อยกว่าปกติ
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ จะเห็นได้เลยว่า การที่คอนเทนต์ของเราจะเข้าถึงคนได้หรือไม่ มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามการคัดเลือกของอัลกอริทึมและ AI
แต่ถ้ามาคิดดูดี ๆ แล้ว จะเห็นได้เลยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพคอนเทนต์
เพราะไม่ว่าอัลกอริทึมจะเปลี่ยนไปอย่างไร
การทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพดี และน่าดึงดูดมากพอ ก็ยังคงมีความสำคัญมากที่สุดอยู่เช่นเดิม
อ้างอิง :
- ข้อมูลจากงาน Creative Talk Conference 2024 ใน Session Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024-2025
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.