สรุปอินไซต์คนไทย 8 ข้อ วิธีทำการตลาด ขายของใน TikTok Shop อัปเดตปี 2024

สรุปอินไซต์คนไทย 8 ข้อ วิธีทำการตลาด ขายของใน TikTok Shop อัปเดตปี 2024

19 เม.ย. 2024
ก่อนหน้านี้ เราเล่น TikTok ก็เพื่อรับชมความบันเทิงจากคลิปสั้นที่โดนใจ แต่มาวันนี้ TikTok เป็นได้มากกว่านั้นแล้ว
เพราะตั้งแต่มีฟีเชอร์ที่ชื่อว่า “TikTok Shop” ที่เราสามารถดูคลิป พร้อมกับการซื้อสินค้าได้ในที่เดียว โดยไม่ต้องออกจาก TikTok เพื่อไปซื้อสินค้าที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ อีก
ทำให้ตอนนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคหลายคนเปลี่ยนไป
คือหันมาซื้อสินค้าบน TikTok Shop บ่อยพอ ๆ กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่เอาไว้ขายของจริง ๆ อย่าง Shopee หรือ Lazada เสียอีก
แต่คำถามสำคัญก็คือ หากเราอยากจะขายสินค้าบน TikTok Shop บ้าง เราจะต้องทำอย่างไร ?
MarketThink ได้รวบรวมเคล็ดลับ การขายสินค้าบน TikTok Shop โดยเฉพาะ
จากอินไซต์ของคนไทย ในรายงานเรื่อง Shoppertainment 2024: THE FUTURE OF CONSUMER & COMMERCE
ที่สำรวจการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ของผู้บริโภคชาวไทย และผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดทำโดย TikTok
สรุปแล้วคนไทยชอบคอนเทนต์แบบไหน และต้องสื่อสารอย่างไร จึงจะขายของบน TikTok Shop ได้ดี
เราจะสรุปให้อ่านกันเป็นข้อ ๆ
1. เนื้อหาของคลิปต้องสื่อสาร โดยเน้น “คุณค่า” มากกว่า “ส่วนลดหรือโปรโมชัน”
คุณค่าในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ จากการซื้อสินค้าชิ้นนั้น
เช่น ถ้าขายกระเป๋าก็ต้องสื่อสารให้ได้ ว่ากระเป๋าของแบรนด์จะช่วยให้ลูกค้ามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร หรือมีฟีเชอร์ที่ช่วยให้การใช้งานพิเศษกว่ากระเป๋าใบอื่นอย่างไร
มากกว่าจะบอกว่ากระเป๋าของเรากำลังลดราคาอยู่
เพราะเมื่อลูกค้ารู้ว่า คุณค่าของสินค้าชิ้นนั้นคืออะไร ก็จะทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ มากกว่าการสื่อสารโดยเน้นส่วนลดหรือโปรโมชัน
2. เนื้อหาของคลิปต้องมีข้อมูลครบ แต่ต้องสั้น และกระชับ
ที่สำคัญคือ เนื้อหาของคลิป ห้ามมีช่องว่างให้ลูกค้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่แพลตฟอร์มอื่น เพราะโอกาสในการปิดการขายจะลดลงมาก
3. คนไทยชอบคอนเทนต์ รีวิวแบบ “เรียล ๆ บ้าน ๆ”
เช่น คอนเทนต์รีวิวจากผู้ใช้จริง ที่เป็นคนทั่วไป ดูเรียล ๆ บ้าน ๆ ดูแล้วเข้าใจง่ายกว่าคอนเทนต์จากแบรนด์
ดังนั้น หากอยากขายสินค้าบน TikTok Shop ให้ได้ ก็จะต้องกระตุ้นให้เกิดคอนเทนต์ที่คนทั่วไปทำขึ้นเอง (User Generated Content)
ซึ่งวิธีที่จะทำให้เกิดคอนเทนต์ประเภทนี้ได้ ก็คือการอัดงบไปที่การตลาดแบบ Affiliate ที่ให้ส่วนแบ่งจากยอดขาย กับคนทั่วไป ที่มาทำคลิปเกี่ยวกับสินค้าของเรา
ก็จะช่วยให้มีคนอยากมาทำคอนเทนต์รีวิวสินค้าของเรามากขึ้นในที่สุด
4. คนไทยไม่ชอบคอนเทนต์ขายของแบบตรง ๆ
ดังนั้น การสอดแทรกสินค้า ไปกับเนื้อหาของคลิปแบบเนียน ๆ จะเหมาะกับคนไทยมากกว่า
เช่น ถ้าเราต้องการขายหม้อชาบู ให้ทำคลิปบอกปัญหาของการกินชาบูในร้านดัง ที่ต้องรอคิวนานเป็นชั่วโมง แต่ถ้าเรามีหม้อชาบูแบบนี้ที่บ้าน ก็จะแก้ปัญหานี้ได้
เพราะเมื่อมีหม้อชาบู เราจะสามารถทำชาบูกินได้เอง โดยไม่ต้องรอคิวนาน ๆ อีกต่อไป
จะเห็นได้ว่า คอนเทนต์ขายของแบบเนียน ๆ แบบนี้ มี “หมัดฮุก” อยู่ที่การเล่าเรื่องราว ที่หลายคนเคยเจอ เป็นจุดชี้ขาด ที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า แทบจะในทันที
5. คนไทยเชื่ออินฟลูเอนเซอร์มากกว่าแบรนด์
ที่น่าสนใจก็คือ TikTok พบว่า คนไทย มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ มากกว่าแบรนด์
ดังนั้น การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานผู้ติดตามคล้าย ๆ กับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์จึงสำคัญมาก ๆ เหมือนการอธิบายข้อมูลของสินค้า ด้วยภาษา และไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน
6. ของที่ขายดีบน TikTok Shop ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ตัดสินใจซื้อด้วย “อารมณ์” มากกว่า “เหตุผล”
เช่น สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ
ความงามและผลิตภัณฑ์ส่วนตัว
อาหารและเครื่องดื่ม
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
และของใช้ในครัวเรือน
7. ถ้าอยากได้ยอดไลก์ ยอดแชร์ ไม่ควร “บังคับ”
เช่น การทำคอนเทนต์ในเชิง ขอร้อง เชิญชวน หรือกึ่ง ๆ บังคับ ให้กดไลก์ กดแชร์
เพราะคนที่เล่น TikTok โดยเฉลี่ย 50% มีแนวโน้มมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ เช่น การกดไลก์, กดรีโพสต์ และคอมเมนต์อยู่แล้ว แต่จะไม่ชอบถ้าถูกบังคับให้ทำ
8. ไม่ว่าอย่างไร คอนเทนต์ขายสินค้าที่ทำ ก็ต้องมีพื้นฐานจาก “ความสนุก” ไว้ก่อน
เพราะลูกค้ามากถึง 82% ตัดสินใจซื้อสินค้าจากความบันเทิงของเนื้อหาเป็นหลัก
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลังจากนี้ TikTok Shop น่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่หลายแบรนด์ “ต้อง” ให้ความสนใจมาก ๆ
จากความสามารถในการสอดแทรกสินค้าไปกับคลิปสั้น ที่ผู้คนสามารถใช้เวลาอยู่กับมันได้เป็นชั่วโมง ๆ ในแต่ละวัน
ซึ่งเท่าที่ลองนึก ๆ ดูในตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นแพลตฟอร์มใด ที่ทำแบบนี้ได้ดีเท่า TikTok Shop เลย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.