สรุปไฮไลต์ จากงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future เจาะลึกเรื่อง AI, Tech และธุรกิจ ในปี 2024
26 ก.ค. 2024
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เพิ่งจะมีการจัดงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future
ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ มากกว่า 50 คน
ครอบคลุมเทรนด์เทคโนโลยี ที่กำลังเติบโตและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
เช่น AI, Machine Learning, Blockchain, Cryptocurrency, Web3, Quantum Computing, HealthTech, BioTech และ AI Transformation
รวมถึงยังมีเทรนด์ทางด้านธุรกิจ การตลาด และการสร้าง Infrastructure ด้านเทคโนโลยี ที่สนับสนุนการเติบโตของเทรนด์เทคโนโลยีต่าง ๆ อีกด้วย
ส่วนไฮไลต์ของงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future จะมีอะไรบ้างนั้น
เราจะพาไปเจาะลึกกันในบทความนี้
เริ่มต้นกันด้วย การปูพื้นฐานความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยี AI จากคุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กันก่อน
ในปีนี้ คุณเรืองโรจน์ มองว่าเทคโนโลยี AI กำลังอยู่ใน “จุดพีค” ไม่ว่าจะเป็น Generative AI, Computer Vision & Large Vision Model และ Composite AI
หรือหากมองไปรอบตัว เทคโนโลยี AI ล้วนอยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิตประจำวันของเราแทบทั้งสิ้น
เช่น Voice Assistant, Chatbot, Facial Recognition, Entertainment Streaming Platform และ Social Media Platform ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือ การทำ AI Transformation ของภาคธุรกิจ
อาจจะต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 6-10 ปี จึงจะเริ่มเห็นผลอย่างเต็มที่
ดังนั้นทางที่ดี ก็ควรเริ่มทำ AI Transformation ตั้งแต่วันนี้
เพราะยิ่งลงมือทำก่อน ก็ยิ่งได้เปรียบ นั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ในอนาคต AI จะเป็นเทคโนโลยี ที่มีวิวัฒนาการก้าวกระโดด กลายเป็น Vertical AI
ที่มีความรู้ ความสามารถ และความแม่นยำในเชิงลึกสำหรับทุก ๆ อุตสาหกรรม จนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
ซึ่งมีการประเมินกันว่า AI จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้มากถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยี AI มีแนวโน้มเก่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณเรืองโรจน์ ย้ำว่า “มนุษย์” ยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม KBTG ถึงกำหนดวิสัยทัศน์ ว่าต้องการเป็นองค์กร Human-First, AI-First Transformation หรือเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อมนุษย์ และมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
โดยสะท้อนผ่าน Use Case ทางด้านเทคโนโลยี AI ของ KBTG เช่น
- AINU เทคโนโลยียืนยันตัวตน ที่ผ่านการทดสอบ Face Liveness Detection จาก iBeta ระดับ 2 สำหรับโหมด Passive และ Active (ISO 30107-3)
- Future You แพลตฟอร์ม AI ที่ทำให้เราสามารถคุยและโต้ตอบกับตัวเราเองในอนาคตได้ เป็นผลงานความร่วมมือระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab
- THaLLE โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ที่เข้าใจบริบททางด้านการเงินและการธนาคาร ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย และเป็น Financial LLM ตัวแรกของไทยที่ผ่านการทดสอบเทียบเท่าข้อสอบ CFA
- LUNA เทคโนโลยี Chatbot ที่ใช้พลังการประมวลผลของ THaLLE
หลังจากฉายภาพรวมของ AI ให้เห็นกันไปแล้ว ทีนี้มาถึงหนึ่งใน Session ไฮไลต์ของงาน นั่นก็คือ Session The Opportunities and Risks in AI โดยคุณ Andrew Ng หนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยี AI คนแรก ๆ ของโลก
คุณ Andrew เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงโอกาสของการใช้เทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน ว่าเป็นเหมือน “กระแสไฟฟ้า” เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เพราะทั้ง AI และกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมให้กับโลกอย่างมหาศาล
โดย AI นั้น เป็นเหมือน Collection of Tools ที่มีเทคโนโลยีย่อย ๆ อยู่ภายใน เช่น Supervised Learning, Unsupervised Learning, Reinforcement Learning และ Generative AI
ซึ่งที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงโอกาส จากการใช้เทคโนโลยี AI กันมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การใช้ AI ช่วยตอบคำถาม ช่วยระดมสมอง หาข้อมูล เขียนบทความ และช่วยสรุปข้อมูลต่าง ๆ
แต่นอกจากโอกาสของ AI หลายคนก็อดกังวลไม่ได้ว่า AI จะกลายเป็นความเสี่ยงและต้องมีการควบคุม
ซึ่งคุณ Andrew แสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจว่า AI เป็นเทคโนโลยี ที่ไม่ควรถูกควบคุม
เพราะ AI สามารถนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายด้าน เช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร การบริการลูกค้า หรือธุรกิจต่าง ๆ แต่สิ่งที่ควรถูกควบคุม คือ การนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในทางที่ผิดมากกว่า
ทีนี้ หลังจากที่เราได้สรุปไฮไลต์ที่น่าสนใจของเทคโนโลยี AI จากคุณเรืองโรจน์ และคุณ Andrew กันไปคร่าว ๆ แล้ว เราจะชวนเจาะลึกลงไปที่ Session ใน 3 ด้านหลัก ๆ คือ AI, Technology และธุรกิจกันบ้าง
- Unlocking Efficiency and Agility: Maximizing Business Potential with AI Observability
สำหรับ Session นี้ น่าสนใจตรงที่ KBTG ได้นำ Use Case จากการใช้งานเทคโนโลยี AI มาใช้จริงมาแชร์ให้ฟัง โดยคุณกวินธร ภู่ตระกูล, Regional Director จาก Dynatrace
อย่างที่รู้กันว่า ในธุรกิจธนาคาร ความเสถียรของระบบ IT มีความสำคัญมาก ๆ เพราะหากระบบ IT ที่ใช้งานอยู่ล่มเพียง 1 วินาที ก็จะส่งผลเสียต่อธุรกิจ และการให้บริการลูกค้าอย่างมหาศาล
ยังไม่รวมความเชื่อมั่นของลูกค้า ที่จะหายไปด้วยเช่นเดียวกัน
จุดนี้เอง ทำให้ KBTG นำโซลูชันเทคโนโลยี AI Observability ของ Dynatrace ที่มีชื่อว่า Devis AI มาใช้ในการตรวจสอบการทำงานระบบต่าง ๆ ของธนาคารที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ Mobile Banking, Internet Banking, QR Payment และ Payment Gateway
โดยหากเกิดปัญหาขึ้นในระบบ Devis AI จะทำการแจ้งเตือน พร้อมวิเคราะห์ว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนั้น กระทบกับการทำงานในระบบเบื้องหลังส่วนใด มีผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ที่สำคัญยังช่วยเรียงลำดับปัญหาที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาก่อนหลัง พร้อมช่วยนำเสนอแนวโน้มว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร โดยสร้างภาพแผนผัง เพื่อแสดงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน และเข้าใจง่าย
นอกจากนี้ Devis AI ยังสามารถใช้ข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ ไปวิเคราะห์เพิ่มเติม และทำนายปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อแจ้งเตือนก่อนที่จะเกิดปัญหาในระบบ จนกระทบกับการให้บริการอีกด้วย
ด้วยความสามารถของ Devis AI ซึ่งเป็น AI Observability ที่มีหลักการทำงานไม่ต่างจาก “นักสืบ” นี้เอง เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ทีมงานเบื้องหลังของ KBTG เช่น วิศวกร และพนักงานในฝ่ายอื่น ๆ หาต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบได้ง่ายยิ่งขึ้น
แล้วถ้าถามว่า การนำโซลูชันในลักษณะนี้มาใช้งาน จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจอย่างไร ?
หลัก ๆ นอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจธนาคาร ยังช่วยลดต้นทุนที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว
โดยเฉพาะต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมานั่งแก้ปัญหาแทนที่จะได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ
- Transforming Healthcare Industry in the Age of AI
Session ถัดมาที่เราจะไปเจาะลึกกัน คือ การทำ AI Transformation ในธุรกิจ Healthcare
ซึ่ง นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้แชร์ข้อมูลการทำ AI Transformation ของธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม และการทำธุรกิจในยุคใหม่ ก่อนที่จะปรับตัวไม่ทัน
ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช ได้มีการปรับตัวด้วยการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า โดยยึดหลักการที่ว่า “เราไม่อยากให้ใครป่วย” ที่ทำให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ส่วนการทำ AI Transformation นั้น นพ.ชัยรัตน์ มองว่าไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องใช้เวลา 5-7 ปีในการทำ เพราะมีหลายกระบวนการเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งในด้านการปรับ Business Model, ทรัพยากรบุคคล และกลยุทธ์การนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการทำธุรกิจของโรงพยาบาล
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่การวิเคราะห์อาการเจ็บป่วย หรือโรคที่คนทั่วไปเป็นกันบ่อย ๆ เพื่อหาวิธีการรักษาได้อย่างตรงจุด ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา และใช้ทรัพยากรบุคคลให้น้อยลง
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือการที่ลูกค้าของกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI
นอกจากนี้ นพ.ชัยรัตน์ ยังฉายภาพอนาคตธุรกิจ Healthcare ว่า จะมุ่งสู่การแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) เป็นหลัก และเข้าถึงลูกค้าได้ในทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าเข้ามาที่โรงพยาบาลอีกต่อไป แต่ใช้การรักษาผ่านระบบ Telemedicine แทน
แน่นอนว่า เมื่อธุรกิจ Healthcare มีภาพรวมที่เปลี่ยนไป นั่นหมายความว่า “บุคลากร” ของโรงพยาบาล ก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งในกรณีของกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชนั้น จะแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
1. คนที่ยังไม่พร้อมปรับตัว ก็ให้ทำในสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
2. คนที่พร้อมปรับตัว ก็ให้ทำในสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเปลี่ยนไป
อีกหนึ่ง Session ที่เราจะพาไปเจาะลึกกัน ก็คือ How to Implement AI in Your Business ที่ว่าด้วยเรื่องการนำเทคโนโลยี AI เข้าไป Implement กับธุรกิจ โดยคุณภาณุเมธ เชษฐ์ประยูร, Advanced Research Engineer จาก KBTG Labs และคุณตติยวัสน์ กังสุกุล, Venture Lead จาก KX
หนึ่งในคำถามสำคัญของเจ้าของธุรกิจที่อยากนำ AI มาใช้ คือ ไม่รู้ว่าควรเลือกใช้โซลูชัน AI สำเร็จรูปที่บริษัทอื่น ๆ มีขาย หรือพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นของตัวเอง
คำตอบของคำถามนี้ สามารถหาคำตอบด้วยเช็กลิสต์ 3 ข้อนี้
1. Core Business ของธุรกิจ จำเป็นต้องใช้ AI จริงหรือไม่ ?
เพราะการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อความจำเป็นในการเลือก Implement เทคโนโลยี AI
เช่น การที่ Netflix ใช้ AI ช่วยคัดเลือกคอนเทนต์มาให้ผู้ชมแต่ละคนดู
แสดงว่า AI จำเป็นต่อ Core Business ของ Netflix ที่เป็นธุรกิจสตรีมมิง
แต่หากเป็นธุรกิจประกันภัย ก็อาจนำ AI เข้าไปใช้ใน Service ต่าง ๆ ของธุรกิจ แต่ไม่ใช่ Core Business ก็ได้
2. การพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นของตัวเอง ต้องใช้ “คน” จำนวนมาก ทั้งทีม Research, ทีม Deployment และทีม Engineer
นั่นหมายความว่าธุรกิจที่เลือก Implement เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาด้วยตัวเอง จำเป็นต้องมี “คน” ที่พร้อมทำงานด้านนี้ เป็นจำนวนมาก
3. Data Policy ของบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นอย่างไร
เช่น การเก็บข้อมูลต่าง ๆ เก็บอย่างไร มีนโยบายในการรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจของเราอาจต้องทำตามมาตรฐานของหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ
จากเช็กลิสต์ทั้ง 3 ข้อนี้ ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ พอที่จะเห็นภาพแล้วว่า ธุรกิจของตัวเองเหมาะกับการ Implement เทคโนโลยี AI ในรูปแบบใดมากกว่ากัน หลังจากได้คำตอบแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการ Implement เทคโนโลยี AI ซึ่งมีกระบวนการที่ต้องทำอยู่หลายอย่าง
แต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็คือ ผู้บริหารของธุรกิจต้องเป็นผู้สนับสนุนการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างจริงจัง รวมถึงต้องรู้ Use Case ที่ต้องการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ให้ชัดเจน โดยดึง “คน” เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยี AI ไม่ได้เก่งไปหมดทุกเรื่อง แต่หากต้องการใช้ AI ที่เก่ง ก็ต้องเลือกนำ AI ไปจับคู่เข้ากับเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลที่จะใช้ฝึกฝน AI ก็ต้องมีจำนวนและคุณภาพมากพอ อีกด้วย
ทีนี้ หลังจากที่เราพาไปเจาะลึก Session ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้กับการทำธุรกิจกันมาแล้ว
Session สุดท้ายที่เราจะไปเจาะลึกกัน จะเกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์ในธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับความงามกันบ้าง ใน Session ที่ชื่อว่า The Business of Beauty: From Concept to Customer โดยคุณกัญญฉัชฌ์ เลิศธนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Her Hyness
Session นี้ คุณกัญญฉัชฌ์ เริ่มต้นด้วยการสรุปภาพรวมของตลาดสินค้าเกี่ยวกับความงาม ในประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือ
ในปัจจุบัน ตลาดสินค้าความงามในประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 6,670 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.11% ต่อปี
โดยเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดสินค้าความงามในประเทศไทย ก็มีทั้ง
1. แบรนด์สินค้าความงาม “ท้องถิ่น” กำลังเติบโต
เพราะแบรนด์ท้องถิ่นเหล่านี้ แม้จะมีขนาดเล็ก แต่สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับแบรนด์ต่างชาติที่มีขนาดใหญ่กว่า
รวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นในปัจจุบัน ก็มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้า และแพ็กเกจจิงให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ
2. ลูกค้ามีการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น
ไม่เชื่อเพียงคำโฆษณาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมในเชิงลึก รวมถึงมีความต้องการสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มคน Gen Z
3. ให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability
ทั้งในด้านแพ็กเกจจิง และวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. K-Beauty, J-Beauty และ Influencer มีอิทธิพลต่อความชอบของคน
ไม่ว่าจะเป็น Influencer บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เป็นคนสร้างเทรนด์ทางด้านความสวยความงาม รวมถึงอิทธิพลทางด้านความงามจากการดู K-Beauty และ J-Beauty
ทีนี้ หลังจากที่เราได้รู้ภาพรวม และเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดสินค้าความงามในไทยกันแล้ว เรื่องต่อไปที่เราจะเจาะลึกกันใน Session นี้ ก็คือ สูตรในการสร้างแบรนด์ของ Her Hyness
คุณกัญญฉัชฌ์ แชร์ประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า การสร้างแบรนด์ Her Hyness นั้น เริ่มต้นจากคำถามพื้นฐานง่าย ๆ 3 ข้อ คือ
1. Who
ที่เป็นการตั้งคำถามก่อนว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ใครจะเป็นคนที่ใช้สินค้าของเรา และคนกลุ่มนี้มีความต้องการสินค้าความงาม และพฤติกรรมการใช้สินค้าแบบใด
2. What
หลังจากที่ได้รู้แบบคร่าว ๆ จากการตั้งคำถามในข้อแรกแล้วว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ขั้นตอนต่อไปก็คือ การหันกลับมามองตัวเองว่า แบรนด์ของเราจะมอบคุณค่าอะไรที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องการได้บ้าง
เช่น ประโยชน์ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะได้รับจากแบรนด์
จุดแข็ง หรือจุดเด่นที่แบรนด์มีเหนือคู่แข่งในท้องตลาด
3. How
เป็นคำถามพื้นฐานข้อสุดท้าย ก็คือ แบรนด์ของเราจะมีวิธีในการทำการตลาดสินค้าอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือก็คือการวางแผนกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง
ซึ่งจากทั้ง 3 คำถามพื้นฐานนี้ ก็จะทำให้แบรนด์สามารถกำหนดกลยุทธ์ ในการสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ เช่น
- Brand Essence จิตวิญญาณของแบรนด์ ที่ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้
- Differentiator ความแตกต่างของแบรนด์ ที่มีเหนือคู่แข่งในท้องตลาด
- Identity ตัวตนของแบรนด์ เช่น Mood & Tone หรือองค์ประกอบในการออกแบบสินค้าชนิดต่าง ๆ
และในช่วงสุดท้ายของ Session คุณกัญญฉัชฌ์ ได้สรุป Key Takeaway ที่ได้จากประสบการณ์การสร้างแบรนด์ Her Hyness ของตัวเอง คือ
การสร้างแบรนด์ก็เป็นเหมือนการเดินทาง (Journey) รูปแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำแล้ว “ถูกต้อง” ตั้งแต่วันแรก อย่าเพิ่งรีบร้อนเริ่มต้นจากไอเดียใหญ่ ๆ
แต่ให้เริ่มต้นลงมือทำจากไอเดียเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ คิดกลยุทธ์ และลงมือทำด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ ใช้ประโยชน์จากความเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ของตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความรวดเร็วในการปรับตัว
ทั้งหมดนี้ ก็คือ 4 Session ที่น่าจะตอบโจทย์เจ้าของธุรกิจ และนักการตลาด
แต่จริง ๆ แล้วภายในงานยังมีไฮไลต์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
อย่างเช่น กิจกรรม Playground Workshop ซึ่งมีถึง 6 Workshop ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้อัปสกิล ฝึกทักษะด้วยการลงมือทำจริง จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจาก KBTG Labs, AWS, KX, Palo IT, DataBricks และ Splunk
โดยตัวอย่างของ Playground Workshop ที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น
- Stable Diffusion 101: A Beginner’s Guide to Generative AI Image โดย KBTG Labs
เป็น Workshop ที่ KBTG Labs พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนไปเจาะลึกการ Generate รูปภาพด้วย AI โดยใช้ Stable Diffusion ผ่านการสาธิตจากผู้เชี่ยวชาญ และการลงมือทำจริง
ที่น่าสนใจคือ Workshop นี้ มีการจัดให้มีการแข่งขันให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคน โชว์ผลงานของตัวเอง เพื่อชิงรางวัลจากทาง KBTG Labs อีกด้วย
- Advanced Prompt Engineering with GitHub Copilot โดย Palo IT
เป็น Workshop สำหรับ LLM Apps Developer โดยเฉพาะ
โดย Palo IT จะพาผู้เข้าร่วมกิจกรรม นำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Prompt Engineer ไปใช้จริง ด้วยฟีเชอร์ Copilot บน GitHub
- Machine Learning Primer Hand-on Workshop โดย Splunk
Workshop นี้จะพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปเจาะลึกเรื่อง Machine Learning โดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ลองสร้าง Machine Learning Model ของตัวเองขึ้นมา โดยนำไปใช้กับงานด้าน IT, Security และ Business Analytics
พร้อมทั้ง Splunk ยังมีเทคนิคดี ๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ฝึกทักษะ Machine Learning ของตัวเองต่อได้ที่บ้านอีกด้วย
นอกจาก Playground แล้ว ยังมีบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI ล้ำ ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ มาร่วมเปิดบูท โชว์ Use Case การใช้งานจริง ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมกันด้วย เช่น
- Waan.Ai จาก KBTG Labs
แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงิน ที่สามารถช่วยทำนายแนวโน้มทางด้านการเงิน ให้กับธุรกิจ SME โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง
- Future You ผลงานความร่วมมือระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab
AI ที่ให้เราคุยกับตัวของเราเองในอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทางด้านการเรียนรู้ และช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในอนาคต
- THaLLE
โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ที่เข้าใจบริบททางด้านการเงิน การธนาคาร ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนน่าจะได้เห็นถึงไฮไลต์สำคัญของงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future ที่เพิ่งจบไปกันแล้ว
โดยเฉพาะการฉายภาพให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้จริงในธุรกิจประเภทต่าง ๆ
ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากกว่าที่คิด
สำหรับใครที่พลาดงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future ในครั้งนี้ ก็ไม่ต้องเสียดาย
เพราะในอนาคต KBTG จะมีงานดี ๆ แบบนี้อีกอย่างแน่นอน..
#KBTG
#KBTGTechtopia
#KBTGTechtopia2024 #ABlastFromtheFuture
#KBTGTechtopia
#KBTGTechtopia2024 #ABlastFromtheFuture