
สรุป 4 ข้อ สิ่งต้องห้าม/ไม่ควรทำ ในการ "โฆษณาเครื่องสำอาง" ตามหลักกฎหมาย ที่ครีเอเตอร์ต้องรู้ ก่อนทำคอนเทนต์
28 เม.ย. 2025
ใครที่เป็นครีเอเตอร์สายบิวตี หรือต้องทำงานเกี่ยวกับงานโฆษณาเครื่องสำอาง สกินแคร์ บางครั้งอาจสับสนกับกฎหมายโฆษณาเครื่องสำอาง ที่มีหลักเกณฑ์จุกจิกวุ่นวายเต็มไปหมด
โดยเฉพาะการห้ามใช้คำบางคำในการโฆษณา คำนี้ก็ห้าม คำนั้นก็ห้าม จนไม่รู้ว่าต้องใช้คำไหนในการโฆษณาดี ข้อกำหนดนี้น่าจะทำให้ครีเอเตอร์และนักการตลาดออนไลน์หลาย ๆ คน ต้องปวดหัวไปตาม ๆ กัน
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปดูหลักการเบื้องหลังกฎหมายโฆษณาเครื่องสำอาง
พร้อมยกตัวอย่างเช็กลิสต์ข้อความที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ ไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นให้ทุกคนที่อยู่ในสายบิวตีกัน
พร้อมยกตัวอย่างเช็กลิสต์ข้อความที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ ไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นให้ทุกคนที่อยู่ในสายบิวตีกัน
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจ “นิยาม” ทางกฎหมายของคำบางคำกันก่อน ได้แก่
- เครื่องสำอาง หมายความว่า
“วัตถุที่ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือทำด้วยวิธีอะไรก็ตามกับภายนอกร่างกายมนุษย์ เพื่อความสะอาด ความสวยงาม ระงับกลิ่นกาย เปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือปกป้องดูแลให้อยู่ในสภาพดี”
- โฆษณา หมายความว่า
“การกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า”
- ข้อความ หมายความรวมถึง
“ตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจความหมายได้”
จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้ให้นิยามคำเหล่านี้เอาไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่เกิดความกำกวม
ซึ่งรวมถึงความหมายของคำว่า “เครื่องสำอาง” ก็จะต้องยึดตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ด้วย
ซึ่งรวมถึงความหมายของคำว่า “เครื่องสำอาง” ก็จะต้องยึดตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ด้วย
โดยเบื้องหลังแนวคิดกฎหมายคือ เครื่องสำอางจะต้องเป็นวัตถุที่นำมาใช้กับภายนอกร่างกายมนุษย์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม ระงับกลิ่นกาย เปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือปกป้องดูแลให้อยู่ในสภาพดีเท่านั้น
ดังนั้น การโฆษณาข้อความให้ประชาชนรับทราบ ก็ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเครื่องสำอางที่แท้จริงด้วย
ยกตัวอย่างกรณีของข้อความนี้ “เครื่องสำอางขัดผิวนี้สามารถช่วยเสริมการสร้างผิวใหม่ได้”
จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์การใช้งานเครื่องสำอางขัดผิวนี้ ไม่ได้อยู่ในนิยามของคำว่า เครื่องสำอาง เพราะไม่ได้แสดงสรรพคุณในขอบข่ายของความเป็นเครื่องสำอางตามที่กล่าวไปข้างต้น
แต่สื่อไปถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผิว ที่เป็นจุดมุ่งหมายของการใช้สินค้าในกลุ่มยาหรือเวชภัณฑ์
จึงทำให้ข้อความโฆษณานี้ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเครื่องสำอาง และไม่สามารถนำไปใช้โฆษณาได้
ทีนี้ เมื่อรู้จักนิยามของคำที่เกี่ยวข้องกันแล้ว แล้วโฆษณาเครื่องสำอางที่ถูกตามหลักโฆษณาและไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องเป็นแบบไหน ?
1. ต้องไม่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง
- ต้องไม่ใช่ข้อความยืนยันข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ยาก เช่น ที่สุด, ไร้สารพิษ, ไร้ผลข้างเคียง, ไม่ระคายเคืองผิว, จบทุกปัญหา.. (เช่น จบทุกปัญหาสิว)
- ต้องไม่เปรียบเทียบกับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น แค่ทาก็เท่ากับฉีด, หน้าเรียวไม่ง้อโบท็อกซ์, ผิวเต่งตึงเหมือนยิงเลเซอร์
_________________
2. ต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
- ต้องไม่สื่อว่ามีผลต่อสุขภาพ เช่น ดูดซับของเสียตกค้างใต้ผิว, ล้างสารพิษ, กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
- ต้องไม่สื่อว่ามีผลต่อโครงสร้างร่างกาย เช่น กระชับสัดส่วน, อกฟู รูฟิต, ลดความอ้วน, ทำให้สูงขึ้น
- ต้องไม่สื่อว่ามีผลการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย เช่น ลดการสร้างเม็ดสีผิว, ต่อต้านอนุมูลอิสระ, ลดผมหงอก, เร่งการงอกของเส้นผม, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
_________________
3. ต้องไม่แสดงสรรพคุณการรักษาโรค หรือที่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเครื่องสำอาง
- ต้องไม่สื่อถึงสรรพคุณการรักษาโรค เช่น ป้องกัน/รักษาสิว, ป้องกัน/รักษาฝ้า, ลดการอักเสบของผิวหนัง, ระงับหรือยับยั้งเชื้อราบนผิวหนัง
- ต้องไม่มีจุดมุ่งหมายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น อย่าง อาหาร ยา หรือวัตถุอันตราย เช่น ทาผิวกายไล่ยุง แมลง, ทาบริเวณแมลงกัดต่อย, ชโลมบนเส้นผมเพื่อกำจัดเหา
_________________
4. ต้องไม่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม
- ต้องไม่สื่อถึงสรรพคุณบำรุงกาม เช่น กระชับภายในคืนความสาว, เพิ่มสมรรถภาพท่านชาย, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ชะลอการหลั่ง
นอกจากนี้ ก็ยังมีหลักการโฆษณาอื่น ๆ อีกตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่สนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นคอมมอนเซนส์ของทุก ๆ คนอยู่แล้ว
_________________
แล้วข้อความโฆษณาเครื่องสำอางแบบไหน ที่สามารถโฆษณาได้บ้าง ?
ยกตัวอย่างเช่น
1. เครื่องสำอางสำหรับผิวที่เป็นสิว คือเครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวสำหรับคนที่มีสิว หรือมีคุณสมบัติช่วยทำความสะอาดและเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีผิวมัน
ดังนั้น ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาได้ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับสรรพคุณของเครื่องสำอางนั้นจริง ๆ เช่น
- เครื่องสำอางบำรุงผิวสำหรับผิวที่เป็นสิว
- เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้ามัน และมีแนวโน้มเป็นสิวง่าย
- เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้ามัน และมีแนวโน้มเป็นสิวง่าย
โดยข้อความที่ไม่สามารถใช้โฆษณาได้เลยก็คือ ข้อความที่สื่อถึงการป้องกันสิว รักษาสิว ลดสิว หรือลดการอักเสบของสิว
เพราะเป็นข้อความที่สื่อถึงคุณสมบัติช่วยรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการใช้เครื่องสำอาง
2. เครื่องสำอางบำรุงผิวที่มีสารไวต์เทนนิง คือเครื่องสำอางที่ช่วยให้ผิวดูขาวกระจ่างใสมากขึ้น
ดังนั้นข้อความที่ใช้โฆษณาได้ ก็เช่น WHITENING, LIGHTENING, BRIGHTENING, แลดูขาว, แลดูกระจ่างใส, แลดูขาวกระจ่างใส
แต่ไม่สามารถใช้ข้อความสื่อถึงประสิทธิภาพของเครื่องสำอางในเชิงสามารถเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สีผิวขาวมากขึ้น หรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติได้
ทั้งหมดนี้ก็คือ หลักการโฆษณาเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สำหรับใครที่ต้องการโปรโมตเครื่องสำอางก็จำเป็นต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เอาไว้ด้วย
_______________
อ้างอิง :
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
- คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
- คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567