สรุป Osborn’s Checklist 9 ข้อ ใช้อัปเกรดสินค้าเดิม เป็นสินค้าใหม่ ที่ไม่ซ้ำใคร แบบแบรนด์ดัง

สรุป Osborn’s Checklist 9 ข้อ ใช้อัปเกรดสินค้าเดิม เป็นสินค้าใหม่ ที่ไม่ซ้ำใคร แบบแบรนด์ดัง

22 มี.ค. 2025
ในโลกของธุรกิจ การคิดค้นสินค้าที่มีนวัตกรรมแปลกใหม่และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำขึ้นมาก่อนเลยบนโลก นับเป็นเรื่องที่ยากอย่างมาก
ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ จึงมักเป็นการต่อยอดพัฒนาขึ้นมาจากสิ่งเดิม ๆ แทบทั้งสิ้น
แต่ความท้าทายของการพัฒนาสินค้าโดยต่อยอดจากของเดิมก็คือ เราจะทำอย่างไรให้สินค้าเหล่านั้นมีความแปลกใหม่มากเพียงพอ ที่จะดึงดูดให้ลูกค้ารู้สึกว้าวและตัดสินใจซื้อมาลองใช้
ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่มาช่วยระดมสมองหาไอเดียใหม่ ๆ ในการช่วยออกแบบและต่อยอดผลิตภัณฑ์ก็คือ “Osborn’s Checklist”
แล้ว Osborn’s Checklist คืออะไร ? มาดูไปด้วยกัน
Osborn’s Checklist คือ เครื่องมือชุดคำถามง่าย ๆ อย่างหนึ่งที่คิดค้นขึ้นโดยคุณ Alex Faickney Osborn ผู้ก่อตั้งเอเจนซีโฆษณาระดับโลกอย่าง BBDO ซึ่งใช้สำหรับการระดมความคิด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาผ่านการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งแนวคิดนี้ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ด้วยความเข้าใจได้ง่ายและใช้งานได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่, วิธีการสื่อสาร และงานที่ต้องใช้ความครีเอทิฟ
โดย Osborn’s Checklist มีทั้งหมด 9 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. Other Use หรือ เปลี่ยนวิธีใช้
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- ผลิตภัณฑ์เดิมมีวิธีการใช้งานรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ ?
- สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ไปใช้ในบริบทอื่นหรืออุตสาหกรรมอื่นได้หรือไม่ ?
ตัวอย่างเคส เช่น
กระดาษโน้ต Post-it เกิดจากการคิดค้นกาวรูปแบบใหม่ ๆ ของนักวิจัยจาก 3M แต่กาวที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมายังเหนียวไม่มากพอที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหนัก
พวกเขาจึงลองนำมันไปใช้กับกระดาษโน้ต ปรากฏว่ามันสามารถแปะกับสิ่งต่าง ๆ แล้วลอกออกได้ โดยที่ไม่ทิ้งคราบกาวไว้ให้กวนใจ จึงเกิดเป็นกระดาษโน้ต Post-it ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้และได้รับความนิยมทั่วโลก
2. Adapt หรือ ปรับให้ดีขึ้นจากของเดิม
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- สามารถดัดแปลงแนวคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ได้หรือไม่ ?
- ผลิตภัณฑ์เดิม ๆ สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการใหม่ ๆ ได้หรือไม่ ?
ตัวอย่างเคส เช่น
Grab คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการเรียกรถรับส่ง ส่งอาหาร และส่งพัสดุจากแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วและความสะดวกสบายมากขึ้น
3. Modify หรือ ดัดแปลงจากเดิม
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- ผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถดัดแปลงให้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมไปได้อย่างไรบ้าง ?
เช่น สี การเคลื่อนไหว รส กลิ่น รูปร่าง รูปทรง ผิวสัมผัส
ตัวอย่างเคส เช่น
Huawei ออกสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ในปีที่ผ่านมาชื่อว่า Huawei Mate XT ซึ่งเป็นการดัดแปลงโครงสร้างสมาร์ตโฟนแบบดั้งเดิมจากที่สามารถพับได้ 2 ทบ เป็น 3 ทบ
กลายเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นแรกของโลกที่สามารถพับได้ถึง 3 ครั้ง ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบสมาร์ตโฟน, มินิแท็บเล็ต และแท็บเล็ตแบบเต็มหน้าจอ
4. Magnify หรือ เพิ่มคุณสมบัติ
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- เพิ่มคุณสมบัติ สเป็ก หรือฟีเชอร์อะไรให้มากขึ้นได้บ้าง ?
เช่น ความคงทน ความถี่ ความใหญ่ ความยาว ความหนา ความสูง ส่วนผสม คุณค่า มูลค่า
ตัวอย่างเคส เช่น
กล้องถ่ายรูปในสมาร์ตโฟนนับเป็นฟีเชอร์หลักที่ลูกค้าต้องการและใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า
ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนหลาย ๆ แบรนด์ต่างก็พัฒนาสเป็กกล้องให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความละเอียด ความสามารถในการซูม โหมดในการถ่ายภาพ หรือ AI ที่ช่วยในการแต่งรูปให้สวยงามมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างสมาร์ตโฟนที่เด่นเรื่องกล้อง เช่น HONOR Magic 7 Pro ที่ให้ความละเอียดกล้องหลังมากถึง 50 ล้านพิกเซล, เทเลโฟโต 200 ล้านพิกเซล และซูมดิจิทัลได้ถึง 100 เท่า
5. Minify หรือ ตัดทอนคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นออก
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- ทำให้เล็กลง ทำให้เรียบง่ายขึ้น หรือตัดทอนคุณสมบัติอะไรที่เกินความจำเป็นได้บ้าง ?
เช่น ขนาด ความสั้น ความยาว ความเตี้ย ความเบา ความบาง ความแคบ แยกออก ปรับออก
ตัวอย่างเคส เช่น
GoPro คิดค้นกล้องแบบ Action Camera ซึ่งเป็นกล้องที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ แต่กลับทำให้เป็นกล้องที่สามารถติดตั้งกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ง่าย เช่น หมวกกันน็อก โดรน สายรัดข้อมือ ช่วยให้ใช้ถ่ายวิดีโอในสถานการณ์โลดโผนได้
6. Substitute หรือ แทนที่ด้วยสิ่งใหม่
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- มีอะไรแทนที่ในผลิตภัณฑ์เดิมได้บ้างหรือไม่ ?
เช่น วัสดุ ส่วนผสม กระบวนการ แหล่งพลังงาน ขั้นตอน สถานที่ วิธีการ อารมณ์ โทนเสียง เวลา
ตัวอย่างเคส เช่น
Apple นำไทเทเนียม มาใช้กับตัวเครื่องของ iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max แทนอะลูมิเนียม
ซึ่งไทเทเนียมเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเหล็ก สเตนเลส และโลหะทั่วไป ทนทานต่อการกัดกร่อนและการเกิดสนิม จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยานอวกาศ และอากาศยาน
เคสนี้จึงนับเป็นการพัฒนาสินค้าด้วยการแทนที่วัสดุตัวเครื่องแบบใหม่ให้กับ iPhone และเป็นมาตรฐานวัสดุแบบใหม่ให้กับ iPhone 16 Pro Series ในรุ่นต่อมาด้วย
7. Rearrange หรือ เปลี่ยนการจัดลำดับ
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- เปลี่ยนแปลงลำดับ รูปแบบ เค้าโครง ตำแหน่ง องค์ประกอบ วิธีใช้งานก่อน-หลัง ให้เป็นรูปแบบใหม่ได้หรือไม่ ?
ตัวอย่างเคส เช่น
IKEA เปลี่ยนรูปแบบการขายเฟอร์นิเจอร์จากแบบประกอบเสร็จที่ขนส่งยาก ให้กลายเป็นแบบแยกชิ้น (Flat-Pack) แล้วให้ลูกค้านำไปประกอบเองในภายหลัง
ซึ่งนอกจากจะทำให้ขนส่งได้ง่ายมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการประกอบเฟอร์นิเจอร์และค่าขนส่ง ทำให้ราคาขายถูกลงอีกด้วย
8. Reverse หรือ ทำย้อนกลับ
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- เราเปลี่ยนสลับขั้ว พลิกกลับด้าน กลับหัวกลับหาง สลับบทบาท เปลี่ยนจุดยืน ให้เป็นอีกขั้วหนึ่งได้หรือไม่ ?
ตัวอย่างเคส เช่น
ในอดีต YouTube คือแพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยม โดยวิดีโอจะมีความยาวตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป
แต่ TikTok ที่จับตลาดใหม่ ด้วยการเน้นวิดีโอสั้นประมาณ 15-60 วินาที เพื่อดึงดูดให้คนดูจนจบ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมแทบจะทันทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทำให้ YouTube รวมถึง Facebook และ Instagram ต้องดันฟีเชอร์วิดีโอสั้นออกมาแข่งขันกับ TikTok
9. Combine หรือ ผสมผสาน
ตัวอย่างคำถาม เช่น
- เราสามารถผสมผสานผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ จากสองสิ่งหรือมากกว่านั้น ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ได้หรือไม่ ?
ตัวอย่างเคส เช่น
Apple ทำ Apple Watch โดยรวมฟีเชอร์ระหว่างนาฬิกาข้อมือที่ไว้ใช้บอกเวลา เข้ากับฟีเชอร์จับอัตราการเต้นของหัวใจ + ECG + การวัดออกซิเจนในเลือด ทำให้กลายเป็นอุปกรณ์สุขภาพที่หลายคนนิยมใช้กัน
ทั้งหมดนี้ก็คือ Osborn’s Checklist แนวคิดที่ช่วยระดมไอเดียในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้สำคัญกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น
แต่ยังสำคัญกับทุกอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและพัฒนาสิ่งใหม่ เช่น นักการตลาด นักโฆษณา ครีเอเตอร์
ใครที่กำลังมองหาไอเดียพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปลองปรับใช้กันได้
#OsbornsChecklist
#รายการตรวจสอบของออสบอร์น
#แนวคิดหาไอเดียใหม่
_________________
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.