อธิบายความต่าง FOMO VS JOMO พฤติกรรมลูกค้าขั้วตรงข้าม พร้อมไอเดียการตลาด ให้เหมาะแต่ละกลุ่ม

อธิบายความต่าง FOMO VS JOMO พฤติกรรมลูกค้าขั้วตรงข้าม พร้อมไอเดียการตลาด ให้เหมาะแต่ละกลุ่ม

9 ม.ค. 2025
หากพูดถึงเทรนด์ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นกระแส Art Toy
ไปจนถึงร้านอาหารชื่อดัง จากต่างประเทศที่มาเปิดในไทยอย่าง Katsu Midori และ HIKINIKU TO COME ที่กำลังเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดีย
บทความนี้ MarketThink ไม่ได้จะมาเล่าถึงเทรนด์
แต่จากเทรนด์หรือกระแสเหล่านี้ หากมองตามตำราการตลาดแล้ว จะพบว่า สามารถแบ่งพฤติกรรมของผู้คนได้เป็น 2 กลุ่มที่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว
นั่นก็คือ พฤติกรรมแบบ FOMO และ JOMO
ทั้ง 2 พฤติกรรมที่ว่านี้ แตกต่างกันอย่างไร ? แล้วนักการตลาดจะทำการตลาดกับลูกค้า 2 กลุ่มนี้อย่างไร ?
- เริ่มกันที่กลุ่ม FOMO หรือที่ย่อมาจาก Fear of Missing Out
หมายถึง กลุ่มคนที่กลัวว่าตัวเองจะพลาดกระแสสังคม พลาดอะไรบางสิ่งบางอย่างที่กำลังได้รับความนิยม จนรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
เช่น กิจกรรมสนุก ๆ, ข้อมูลข่าวสารที่อัปเดต, ของเล่นของสะสมที่คนอื่นมี, เทรนด์หรือร้านอาหารที่กำลังฮิต
เมื่อพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่ม FOMO คือ กลัวพลาดกระแสสังคม
ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะสร้างแรงดึงดูดให้คนกลุ่มนี้สนใจได้ ก็ต้องเป็นกลยุทธ์ที่กระตุ้นให้ลูกค้าไม่อยากพลาดสิ่งใหม่ ๆ
ยกตัวอย่างเช่น
1. Bandwagon Effect คือ ปรากฏการณ์ “คนเห่อตามกระแส” ที่ลูกค้ามักซื้อสินค้า หรือทำอะไรบางอย่างตาม ๆ กัน เพราะไม่อยากตกเทรนด์
โดยยอมต่อแถวรอซื้อสินค้า ในงานเปิดตัววันแรก หรือยอมซื้อสินค้ารีเซล ที่มี “ราคาสูง” กว่าราคาเปิดตัวทางการ
ซึ่งวิธีกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดพฤติกรรมแบบนี้ได้ง่าย ๆ เช่น การติดป้าย “สินค้าขายดี” ไว้กับสินค้า หรือโฆษณาว่าขายสินค้าไปได้แล้วกว่า 1,000,000 ชิ้นทั่วโลก
จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าที่พบเห็นเชื่อว่าสินค้าชิ้นนั้นดี เพราะคนส่วนใหญ่เลือกซื้อ ทำให้แบรนด์มีโอกาสขายสินค้าได้เยอะขึ้น
2. Scarcity Bias คือ คนเรามักจะให้คุณค่ากับสินค้าหายาก หรือสินค้าที่มีจำนวนจำกัด มากกว่าสินค้าที่หาซื้อได้ง่ายเสมอ
ตัวอย่างการใช้ในมุมการตลาด เช่น การออกโปรโมชันแบบจำกัดเวลา อย่าง Flash Sale โปรโมชันตามเทศกาล หรือระบุไปเลยว่าผลิตออกมากี่ชิ้น และเหลืออีกเพียงกี่ชิ้น
รวมไปถึงการออกสินค้ารุ่นพิเศษ Limited Edition จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ามองสินค้านั้น ๆ ว่ามีคุณค่ามากกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
3. Influencer Marketing คือ การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการโปรโมตสินค้า
เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่ม FOMO จะคอยติดตามสื่อโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ มักสังเกตและคอยซื้อสินค้าตามคนดังเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
- ในขณะที่ กลุ่ม JOMO หรือที่ย่อมาจาก Joy of Missing Out
หากแปลตรง ๆ จะได้ว่า “กลุ่มคนที่ยินดีที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง”
ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่ไม่ตามเทรนด์ เน้นโฟกัสที่กิจกรรมรอบตัว หรือเลือกที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง เพื่อโฟกัสเพียงแค่สิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง
เพราะฉะนั้น การตลาดที่ช่วยดึงดูดให้ลูกค้ากลุ่มนี้สนใจ จึงไม่จำเป็นต้องบีบคั้นหรือกระตุ้นให้ลูกค้ารีบตัดสินใจ เพราะไม่อยากพลาดสิ่งดี ๆ เหมือนอย่าง FOMO
แต่กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้คือ การเน้นไปที่ตัวบุคคล พยายามสร้างความผ่อนคลายให้กับลูกค้าและสร้างความจำเป็นของสินค้า ในแบบที่ไม่ต้องแข่งขัน หรือไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าเหล่านี้พยายามเพื่อได้มา
ยกตัวอย่างเช่น
1. Reciprocity Bias มาจากหลักการง่าย ๆ คือ คนเราจะรู้สึกอยากตอบแทน คนที่ทำดีกับเราเสมอ
ซึ่งสามารถนำไปใช้ในมุมการตลาดได้ เช่น การแจกสินค้าทดลอง หรือการบริการต่าง ๆ ให้ลูกค้าแบบฟรี ๆ จะกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกอยากตอบแทน ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้
เหมือนกับเวลาเราไปชิมอาหารใน “บูทชิมฟรี” แล้วจะเกิดความรู้สึกเกรงใจ จนอยากซื้อสินค้าเป็นการตอบแทน
2. Personalized Marketing คือ การตลาดแบบเฉพาะบุคคล ที่ปรับเนื้อหา ข้อเสนอ และประสบการณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการ ความสนใจ หรือพฤติกรรมเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน
ตัวอย่างการใช้ในมุมการตลาด เช่น การสร้างประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลในร้านอาหารผ่านพนักงาน โดยการเสนอเมนูพิเศษที่มีพื้นฐานมาจากลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ
หรือจะเป็นการใช้ Google Ads หรือ Facebook Ads เพื่อแสดงสินค้าที่ตรงกับพฤติกรรมการค้นหาของลูกค้า
3. Loss Aversion มาจากหลักการง่าย ๆ คือ คนเรามักจะตัดสินใจ โดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย
ในเมื่อลูกค้าแบบ JOMO ไม่สามารถดึงดูดใจให้ซื้อสินค้าด้วยเทรนด์ หรือกระแสได้
หากอยากดึงดูดใจลูกค้ากลุ่มนี้ ก็อาจหันมาดึงดูดด้วย “การสูญเสีย” แทน
เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้ว มนุษย์ทุกคนก็ต่างกลัวและไม่ชอบการสูญเสีย จึงพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียให้ได้มากที่สุด
ซึ่งวิธีการทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้รู้สึกไม่อยากสูญเสียข้อเสนอดี ๆ จนต้องตัดสินใจซื้อ เช่น การระบุว่า “โปรโมชันวันสุดท้าย”, “สินค้าใกล้หมด” หรือ “สิทธิพิเศษสำหรับ 100 ท่านแรก” ไว้ในโฆษณาขายสินค้า
ทั้งหมดนี้ก็คือ ความแตกต่างของพฤติกรรมลูกค้าระหว่าง FOMO และ JOMO ที่เรียกได้ว่า แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งแบรนด์สามารถนำกลยุทธ์เหล่านี้ ไปปรับใช้ให้เหมาะกับลูกค้าของตัวเองได้
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ..
นอกจาก FOMO และ JOMO ก็ยังมีคำศัพท์คล้าย ๆ กันอย่าง
- JOLO ย่อมาจาก Joy of Logging Off
หมายถึง พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียลดลง แต่หันออกไปใช้ชีวิตกันมากขึ้น เช่น ออกไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมเวิร์กช็อป
- YOLO ย่อมาจาก You Only Live Once
คือ กลุ่มคนที่เชื่อว่าคนเรามีชีวิตแค่ครั้งเดียว จึงพอใจกับการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องแฟชั่น ความงาม อาหาร หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขกับปัจจุบัน ส่วนเรื่องการออมเงินเอาไว้ทีหลัง
- YONO ย่อมาจาก You Only Need One
คือ กลุ่มคนขั้วตรงข้ามกับ YOLO ที่หันมาวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ลดรายจ่าย หรือหันมาใช้เงินเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.