อธิบายความต่าง สโลแกน VS แท็กไลน์ คำโฆษณาคุ้นหู ที่ต่างกัน ในมุมการตลาด

อธิบายความต่าง สโลแกน VS แท็กไลน์ คำโฆษณาคุ้นหู ที่ต่างกัน ในมุมการตลาด

14 ส.ค. 2024
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินวลีคุ้นหูจากแบรนด์ต่าง ๆ เช่น
- “หอมกรุ่นจากเตาทุกวัน” ของขนมปังแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์
- “ไร้กลิ่นติดจาน ไร้สารตกค้าง” ของน้ำยาล้างจานแบรนด์ไลปอนเอฟ
วลีเหล่านี้คือเครื่องมือการตลาดอย่างหนึ่ง ที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คือ “สโลแกน” นอกจากนี้ ยังมีอีกคำหนึ่งที่คล้ายกับสโลแกน ซึ่งก็คือ “แท็กไลน์”
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะคิดว่า “สโลแกน” กับ “แท็กไลน์” คือสิ่งเดียวกัน เพราะทั้งสโลแกนและแท็กไลน์ต่างก็เป็นคำหรือวลีสั้น ๆ ที่มักใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดเช่นเดียวกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันในบางแง่มุม..
คำว่า “สโลแกน” (Slogan) คือ ข้อความหรือวลีสั้น ๆ ที่ช่วยสร้างการจดจำ และสื่อถึงสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแคมเปญเพียงอันเดียวโดยเฉพาะ
โดยสโลแกนเป็นเครื่องมือการตลาดอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ และมีความสำคัญหลายอย่าง เช่น
- ช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ตัวสินค้า หรือบริการ
- สร้างการจดจำให้ลูกค้า
- สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
- เชื่อมโยงอารมณ์และความรู้สึกดี ๆ เข้ากับลูกค้าได้
ตัวอย่างสโลแกนดัง ๆ ที่น่าจะเคยได้ยินกัน ก็อย่างเช่น
- “ดุดัน ! ไม่เกรงใจใคร ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เจเนอเรชันใหม่” ของรถยนต์แบรนด์ FORD
- “เครื่องฟิต สตาร์ตติดง่าย” ของน้ำมันไดเกียว
- “ใช้นิดเดียว ปากสะอาด” ของยาสีฟันแบรนด์เทพไทย
- “ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน” ของยาดมตราโป๊ยเซียน
ส่วนคำว่า “แท็กไลน์” (Tagline) หมายถึง วลีสั้น ๆ ที่มักสื่อถึงคุณค่าหรือแก่นของแบรนด์ หรืออาจเน้นย้ำถึงความสำคัญของภาพลักษณ์หรือพันธกิจของแบรนด์ก็ได้
ดังนั้น แท็กไลน์จึงไม่ได้สื่อถึงตัวผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแคมเปญ แบบเจาะจงเช่นเดียวกับสโลแกน
ตัวอย่างแท็กไลน์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหู ก็อย่างเช่น
- “Think Different” ของ Apple
- “I’m Lovin’ It” ของ McDonald’s
- “หิวเมื่อไรก็แวะมา.. เซเว่น อีเลฟเว่น” ของ 7-Eleven
- “ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง” ของ เพจลงทุนแมน
นอกจากนี้ สโลแกน กับแท็กไลน์ ยังมีความแตกต่างกันในแง่มุมอื่น ๆ อีก เรามาดูกันเป็นข้อ ๆ
1. วัตถุประสงค์
สโลแกนมักจะสื่อถึงผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแคมเปญการตลาดที่เปิดตัวใหม่โดยเฉพาะเจาะจง สโลแกนจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณา และเน้นขายสินค้า
ขณะที่แท็กไลน์มักจะสื่อถึงคุณค่าของแบรนด์ หรือแก่นแท้ของแบรนด์ว่า แบรนด์ให้ความสำคัญกับสิ่งไหน
แท็กไลน์จึงมีวัตถุประสงค์เน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ในภาพรวม
2. ช่วงเวลาพัฒนา
สโลแกนจะมีการคิดและพัฒนาขึ้น ในช่วงที่ธุรกิจเริ่มทำแคมเปญการตลาด หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
ส่วนแท็กไลน์มักจะสร้างและพัฒนา ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ หรือช่วงที่ธุรกิจมีแนวคิดเริ่มต้นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์
และอีกช่วงเวลาก็คือ เมื่อธุรกิจต้องการรีแบรนด์ (Rebrand) เพื่อปรับการสื่อสารถึงลูกค้าเกี่ยวกับคุณค่าของแบรนด์ด้วยแนวคิดใหม่ ๆ
3. ระยะเวลาในการใช้งาน
สโลแกนมักใช้กับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแคมเปญการตลาดเพียงอันเดียว ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดการจดจำผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่าง ๆ ไป
เมื่อมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือแคมเปญใหม่ ๆ ออกมา ก็จะมีการคิดสโลแกนใหม่ขึ้นมาใช้คู่กับผลิตภัณฑ์ใหม่ไปด้วย
ตัวอย่างเช่น สโลแกน “ดุดัน ! ไม่เกรงใจใคร ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เจเนอเรชันใหม่” ของ FORD ที่ใช้กับฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ รุ่นปัจจุบัน
ซึ่งหากในอนาคตมีฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ รุ่นใหม่เปิดตัวออกมา ก็ไม่จำเป็นว่า FORD จะต้องใช้สโลแกนนี้ต่อไปก็ได้ แต่อาจมีการคิดค้นสโลแกนใหม่ ให้เหมาะกับรถยนต์ของตัวเองในช่วงเวลานั้น
ส่วนแท็กไลน์มักจะเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นับตั้งแต่มีการคิดแท็กไลน์ขึ้นมาให้กับแบรนด์
เพราะแท็กไลน์คือคำอธิบายตัวตนและภาพรวมทั้งหมดของแบรนด์ได้ดีที่สุด
ด้วยเหตุนี้ แท็กไลน์จึงมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตลอดอายุของแบรนด์ หรือใช้แท็กไลน์เดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี
4. จำนวนคำ
แม้ว่าปัจจัยเรื่องจำนวนคำจะแยกความแตกต่างระหว่าง “สโลแกน” กับ “แท็กไลน์” ได้ไม่ชัดเจนเท่า 3 หัวข้อแรก แต่ก็พอจะใช้ระบุได้ว่า คำหรือวลีนั้นเป็นสโลแกนหรือแท็กไลน์ได้เช่นกัน
โดยส่วนมากแท็กไลน์จะมีจำนวนคำ อยู่ที่ประมาณ 7 คำ หรือน้อยกว่านั้น ขณะที่สโลแกนจะมีจำนวนคำมากกว่าประมาณ 8-10 คำ หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้
สาเหตุที่สโลแกนมีจำนวนคำมากกว่าแท็กไลน์ก็เป็นเพราะ สโลแกนจำเป็นต้องเล่ารายละเอียดของแคมเปญ หรือคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เล็กน้อย เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ และเข้าใจได้ทันทีถึงรายละเอียดเบื้องต้นและข้อดีของผลิตภัณฑ์
และทั้งหมดนี้ก็คือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง “สโลแกน” กับ “แท็กไลน์” ที่หลาย ๆ คน อาจจะยังสับสนกันอยู่บ้าง ว่าทั้งสองคำมีความหมายและความแตกต่างกันในมุมไหนบ้าง
เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว ก็อยากชวนทุกคนลองสังเกตไปรอบ ๆ ตัว ว่าคำหรือวลีคุ้นหูที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เป็นสโลแกน หรือแท็กไลน์ ของแบรนด์กันแน่..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.