อธิบายความต่าง การตลาด VS การโฆษณา ศัพท์การตลาดที่หลายคน คิดว่าเหมือนกัน

อธิบายความต่าง การตลาด VS การโฆษณา ศัพท์การตลาดที่หลายคน คิดว่าเหมือนกัน

29 ส.ค. 2024
บางคนอาจจะคิดว่า “การตลาด” กับ “การโฆษณา” มีความคล้ายคลึงกัน หรือบางคนก็อาจคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
เพราะทั้งการตลาดและการโฆษณาต่างก็พยายามสื่อสารและสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์เช่นเดียวกัน
แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งสองกิจกรรมนี้ มีความแตกต่างกันในบางแง่มุม
โดยคำว่า “การตลาด” Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดสมัยใหม่ ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า
“การตลาด คือ กระบวนการทางสังคมและการจัดการ ที่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ได้รับสิ่งที่ตอบสนองความจำเป็น (Needs) และความต้องการ (Wants) โดยอาศัยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และนำไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่น”
หรือถ้าอธิบายง่าย ๆ การตลาด ก็คือ กระบวนการทั้งหมดของการทำความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า แล้วตอบสนองความต้องการของลูกค้านั้นให้ได้ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและมีความสุข
ส่วน “การโฆษณา” เป็นกิจกรรมทางการตลาดอย่างหนึ่งที่เน้นไปในด้านการสื่อสารเป็นหลัก
เพื่อโปรโมตและบอกเล่ารายละเอียดของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแคมเปญต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จัก ช่วยส่งเสริมการขายสินค้าและทำให้ปิดการขายได้ในที่สุด
หรือถ้าให้พูดภาษาคณิตศาสตร์ การโฆษณา ก็ถือเป็น “Subset” ของการตลาดนั่นเอง
นอกจากนิยามของคำว่า การตลาด กับ การโฆษณา จะแตกต่างกันแล้ว
ทั้งการตลาดกับการโฆษณาก็ยังมีความแตกต่างกันอีก ในหลากหลายแง่มุม
แล้วมีอะไรอีกบ้าง ? เรามาดูกันเป็นข้อ ๆ
มุมที่ 1 : เป้าหมาย
ทั้งการตลาดและการโฆษณา ต่างก็มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การทำให้ลูกค้า รู้จักและสนใจ ในสินค้าหรือบริการของเรา
แต่การตลาดก็ยังมีเป้าหมายย่อย ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น
- การสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ
- การรักษาฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่
- การสร้างแบรนด์ วางตำแหน่งแบรนด์ และเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
- การสร้างโอกาสในการขาย
- การติดตามผลลัพธ์ทางการตลาด
ส่วนการโฆษณาเอง ก็มีเป้าหมายย่อย ๆ ของตัวเองเหมือนกัน เช่น
- การสร้างการรับรู้และเพิ่มการจดจำแบรนด์ให้ได้มากที่สุด
- ดึงดูดให้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านสื่อโฆษณา
- การส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านสื่อโฆษณา
มุมที่ 2 : ขอบเขต ความรับผิดชอบ และกระบวนการ
เนื่องจากการตลาดและการโฆษณามีเป้าหมายแตกต่างกัน ทำให้ขอบเขต ความรับผิดชอบ และกระบวนการ ของทั้งสองกิจกรรมแตกต่างกันไปด้วย
โดยตัวอย่างขอบเขต ความรับผิดชอบ และกระบวนการ ของการตลาด เช่น
- การสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจของลูกค้าในระยะยาว
- การวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมของคู่แข่ง
- การดูแนวโน้มของเทรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ในช่วงเวลานั้น
- การดูแลและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
- การวิจัยทางการตลาดและพัฒนากลยุทธ์การตลาด ให้สอดคล้องกับธุรกิจ
- การติดตามความคุ้มค่าในการลงทุน ของแต่ละแคมเปญการตลาด หรือ ROI (Return on Investment)
ส่วนขอบเขต ความรับผิดชอบ และกระบวนการ ของการโฆษณา ก็อย่างเช่น
- การวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการสื่อโฆษณารูปแบบไหน เนื้อหาเป็นอย่างไร หรือต้องทำโฆษณาอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมายของการโฆษณาที่กำหนดไว้
- การวางแผนซื้อสื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
- การผลิตสื่อโฆษณาให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ
- ติดตามประสิทธิภาพของสื่อโฆษณาผ่าน ROAS (Return on Ads Spend)
มุมที่ 3 : กลยุทธ์และช่องทาง
เนื่องจากการตลาดมีขอบเขตค่อนข้างกว้างกว่าการโฆษณา ทำให้กลยุทธ์และช่องทางในการทำการตลาดมีขอบเขตที่กว้างตามไปด้วย
ตัวอย่างกลยุทธ์การตลาดในยุคปัจจุบันที่หลายธุรกิจใช้กัน ก็อย่างเช่น
- Influencer Marketing คือ การนำอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยทำการตลาด ผ่านการทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการรีวิว และการให้ความคิดเห็น
- Content Marketing คือ การสร้างสรรค์เนื้อหาขึ้นมา และเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเกิดความสนใจ มีปฏิสัมพันธ์ หรือเกิดการกระทำบางอย่างกับธุรกิจต่อไป
- Partnership Marketing คือ การที่ธุรกิจตกลงร่วมมือกับบุคคล ธุรกิจ หรือองค์กรอื่น ทำอะไรบางอย่าง
เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการตลาดด้วยกัน เช่น การวิจัยและออกสินค้าใหม่ ๆ ร่วมกัน
ขณะที่การโฆษณาก็มีหลากหลายกลยุทธ์และช่องทาง เช่น
- สื่อโฆษณาแบบดั้งเดิม (Traditional Advertising) เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร
- สื่อโฆษณาดิจิทัล (Digital Advertising) เช่น Social Media Ads, Video Ads, Banner
- สื่อโฆษณานอกบ้าน (Outdoor Advertising) เช่น ป้ายบิลบอร์ด โฆษณาตามตอม่อรถไฟฟ้า หรืออาคารสูง
- Native Advertising คือ รูปแบบการโฆษณาที่มีความกลมกลืนไปกับคอนเทนต์อื่น ๆ ไม่เน้นการขายสินค้าแบบ Hard Sell แต่จะขายสินค้าแบบเนียน ๆ ไม่ให้ลูกค้ารู้สึกถูกยัดเยียดหรือบังคับให้ดูโฆษณา
มุมที่ 4 : ตัวชี้วัด
ทั้งการตลาดและการโฆษณาจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินกิจกรรม ดังนั้นการติดตามผลลัพธ์ผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก
แต่ตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการตลาดและการโฆษณามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
โดยตัวอย่างตัวชี้วัดผลลัพธ์สำคัญ ๆ ของการตลาด เช่น
- การวัดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Net Promoter Score)
- อัตราการกลับมาซื้อสินค้าของแบรนด์ซ้ำ (Customer Retention Rate)
- อัตราการสูญเสียลูกค้าเก่าของแบรนด์ (Customer Churn Rate)
- รายได้เฉลี่ยที่คาดว่าจะได้รับ ตลอดช่วงเวลาการเป็นลูกค้า (Customer Lifetime Value)
- รายได้จากการขายรายไตรมาสและรายปี (Quarterly and Annual Sales Revenue)
- ส่วนแบ่งตลาด (Market Share)
ส่วนตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางการโฆษณา เช่น
- จำนวนผู้เข้าถึง หรือยอดการมองเห็น (Reach and Impression)
- ยอดเอนเกจเมนต์
- อัตราการคลิก (Click-through Rate)
- ROAS (Return on Ad Spend)
มุมที่ 5 : ระยะเวลาการเกิดผลลัพธ์
โดยปกติแล้วการโฆษณามักจะให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่า เนื่องจากการโฆษณามักจะทำเพื่อการโปรโมตและขายสินค้าเป็นสำคัญ
ขณะที่การทำการตลาดต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่โฟกัสไปที่การสร้างแบรนด์
ลองจินตนาการว่า เราปล่อยโฆษณาออนไลน์ออกไปตัวหนึ่ง หลังจากที่เราปล่อยโฆษณาออกไปสักพักแล้ว เราสามารถกลับไปเช็กได้อย่างรวดเร็วว่า มีคนเห็นโฆษณาไปแล้วกี่ครั้ง และเห็นไปแล้วกี่คน
แล้วโฆษณาชิ้นนั้นให้ผลลัพธ์กลับมาอย่างไรบ้าง ผ่านการดูยอดเอนเกจเมนต์หรือยอดขายสินค้า ว่าได้รับผลตอบรับดีหรือไม่
ส่วนการตลาดมักจะมีกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และอาศัยระยะเวลายาวนานกว่าผลลัพธ์จะปรากฏ โดยเฉพาะกระบวนการสร้างแบรนด์ที่จำเป็นต้องคอยติดตามดูแลอยู่ตลอดช่วงชีวิตของธุรกิจ
และทั้งหมดนี้ก็คือ ความแตกต่างส่วนหนึ่งของ “การตลาด” และ “การโฆษณา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
เป้าหมาย, ขอบเขต ความรับผิดชอบ และกระบวนการ, กลยุทธ์และช่องทาง, ตัวชี้วัด และระยะเวลาการเกิดผลลัพธ์
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการทำการตลาด
อีกทั้งการตลาดและการโฆษณาต่างก็เป็นกิจกรรมที่ธุรกิจขาดไปไม่ได้ จำเป็นต้องเกื้อหนุนกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป้าหมายสำคัญนั่นก็คือ ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.