อธิบาย การตลาด 7Ps ที่ต่อยอดมาจาก 4Ps ให้ธุรกิจ แข็งแกร่งกว่าเดิม

อธิบาย การตลาด 7Ps ที่ต่อยอดมาจาก 4Ps ให้ธุรกิจ แข็งแกร่งกว่าเดิม

25 ก.ย. 2024
4Ps คือส่วนประสมการตลาด หรือ Marketing Mix ที่เรารู้จักกันว่ามีเรื่อง Product, Price, Place, Promotion
ซึ่ง 7Ps เป็นส่วนประสมการตลาด ที่ต่อยอดจาก 4Ps ให้ครอบคลุมหลากหลายมุมกว่าเดิม
เพื่อช่วยให้วางแผนกลยุทธ์ให้ธุรกิจ ได้แข็งแกร่งรอบด้านกว่าเดิม
ส่วนประสมการตลาด 7Ps ต่อยอดอะไรออกไปอีก และเอาไปใช้ได้อย่างไร เรามาดูกันเลย..
ส่วนประกอบของ 7Ps คือ
1. Product (คุณลักษณะของสินค้า)
2. Price (ราคาของสินค้า)
3. Place (สถานที่จำหน่าย)
4. Promotion (โปรโมชันส่งเสริมการขาย)
5. People (พนักงานขายสินค้า)
6. Process (กระบวนการจัดการการทำงาน)
7. Physical Evidence (ประสบการณ์ที่มอบให้กับลูกค้า)
จะเห็นว่ามีอีก 3 เรื่องเพิ่มขึ้นมาจาก 4Ps คือ People, Process และ Physical Evidence
ทีนี้มาวิเคราะห์ไปทีละ P โดยจะขอยกเคสของธุรกิจ ร้านอาหาร เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย ๆ
1. Product (คุณลักษณะของสินค้า)
ร้านอาหารส่วนใหญ่มักสร้าง POD (Point of Different) หรือก็คือการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์
ซึ่งเราอาจใช้วิธีการหา USP (Unique Selling Point) ให้กับแบรนด์ โดย USP เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ แม้ว่าจะมีรูปแบบธุรกิจที่คล้ายกันก็ตาม
หัวใจหลัก ๆ ของการหา USP ประกอบด้วย การตั้งคำถามให้กับแบรนด์ 3 ข้อ ได้แก่
- สิ่งที่แบรนด์ให้ลูกค้าได้คืออะไร ?
- สิ่งที่คู่แข่งให้ลูกค้าได้คืออะไร ?
- สิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร ?
เมื่อแบรนด์พบว่าสิ่งไหนที่สามารถให้ลูกค้าได้ แล้วตรงกับความต้องการของลูกค้า และแบรนด์อื่นให้ลูกค้าไม่ได้
สิ่งนั้นก็คือ USP ที่แบรนด์ของเราต้องพิจารณานำมาใช้ทางธุรกิจ
2. Price (ราคาของสินค้า)
กลยุทธ์ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดใช้มักเป็น การตั้งราคาแบบแพ็กรวม หรือก็คือ Bundle Pricing
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่ากว่าการสั่งแยกแบบเมนูเดี่ยว ๆ
นอกจากนี้ยังมีการใช้กลยุทธ์จิตวิทยาการตั้งราคาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- Decoy Effect จิตวิทยาที่ทำให้ลูกค้าอยากซื้ออาหารมากกว่าเดิม ผ่านการตั้งราคาในเมนูเซตของร้านฟาสต์ฟูด เช่น
- เซต 1 มีเฟรนช์ฟรายส์ + ไก่ทอด 2 ชิ้น ราคา 119 บาท
- เซต 2 มีเฟรนช์ฟรายส์ + ไก่ทอด 3 ชิ้น ราคา 139 บาท
- เซต 3 มีเฟรนช์ฟรายส์ + ไก่ทอด 4 ชิ้น + เบอร์เกอร์ 1 ชิ้น ราคา 159 บาท
การกำหนดราคาเมนูแบบนี้ มีส่วนจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อเซตที่ 3 ได้ เพราะรู้สึกว่าคุ้มค่า ในการเพิ่มเงินที่จ่ายไม่เยอะ แต่ได้อาหารมากขึ้น
- ราคามักลงท้ายด้วยเลข 9 เพื่อทำให้ราคาดูถูกลงตามหลักจิตวิทยา เช่น แทนที่จะตั้งราคาขาย 120 บาท ก็เป็น 119 บาท เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีราคาถูก
3. Place (สถานที่จำหน่าย)
เรื่องสถานที่จำหน่ายอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะหากสถานที่ไหนมีผู้คนหนาแน่น ก็จะทำให้สาขานั้น มียอดขายที่โตมากกว่าสาขาอื่น ๆ
โดยกลยุทธ์ของร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่มีสาขาจำนวนมาก อย่าง KFC, McDonald’s มักจะอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ หรือโลเคชันที่เด่น มองเห็นง่าย เป็นชุมชนหนาแน่น
4. Promotion (โปรโมชันส่งเสริมการขาย)
การกำหนดกลยุทธ์ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละร้านมีเป้าหมายเพื่ออะไร
ยกตัวอย่างเช่น
- โปรโมชันตามช่วงเวลาและเทศกาล เช่น ลดราคาบางเมนูในช่วงเทศกาลวันแม่, เลือกรับอาหารบางเมนูฟรีในเดือนเกิด
- โปรโมชันตามเมนู เช่น ซื้อ 1 แถม 1 สำหรับเมนูยอดนิยม หรือเมนูใหม่, เซตเมนูราคาพิเศษ
- โปรโมชันตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น โปรโมชันสำหรับนักเรียน นักศึกษา, โปรโมชันสำหรับครอบครัว
- โปรโมชันผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ลดราคาพิเศษสำหรับการสั่งซื้อผ่านแอป
นอกจากนี้อาจสร้างโปรโมชันที่มีเป้าหมายโดยเฉพาะ อย่างเช่น KFC ที่มีโปรโมชันทุกวันอังคาร
5. People (พนักงานขายสินค้า)

พนักงานขายอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหากลูกค้าไม่ได้รับการบริการที่ดี ก็จะทำให้ลูกค้าไม่กลับมาซื้ออาหารอีก
โดยเราสามารถอบรมพนักงานให้ชักจูงลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
- การเรียกลูกค้าโดยวิธีการชมไปก่อน อย่างการเรียก “สุดหล่อ”
- การพูดโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าที่เดินผ่าน
นอกจากนี้ควรมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถฟีดแบ็กกับพนักงานได้ด้วย เพื่อที่จะทำให้เราสามารถปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น
6. Process (กระบวนการจัดการการทำงาน)
อธิบายสั้น ๆ ก็คือ การจัดการกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานและชัดเจน
ตัวอย่างไอเดียการทำให้ขั้นตอนทุกอย่างมีระบบ ก็อย่างเช่น การสร้าง SOP (Standard Operation Process) หรือก็คือ มาตรฐานกระบวนการในการปฏิบัติงาน
โดย SOP คือการสร้างตารางขั้นตอนปฏิบัติงานต่าง ๆ ขึ้นมา
เช่น ขั้นตอนการทำต้มยำกุ้ง ต้องเตรียมอะไร ปรุงอะไร ต้มกี่นาที เป็นขั้นตอน 1, 2, 3, ..
ข้อดีของการมี SOP อีกอย่างคือ สามารถใช้เป็นคู่มือประกอบการสอนงานให้พนักงานใหม่ได้ด้วย
7. Physical Evidence (ประสบการณ์ที่มอบให้กับลูกค้า)
หมายถึง ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ ตั้งแต่หน้าร้าน การตกแต่งภายในร้าน บรรยากาศ เมนูอาหาร รวมถึงเครื่องปรุงต่าง ๆ ที่ต้องมีภายในร้าน
ยกตัวอย่าง ประสบการณ์เมื่อเราเข้าร้าน KFC เช่น
- เมื่อเราเดินเข้าร้าน เราสามารถเลือกเมนูที่บริเวณด้านหน้า และด้านบนเคาน์เตอร์ได้
- มีโซนล้างมือ โซนที่กดซอส และรีฟิลน้ำ
ประสบการณ์ที่มอบให้กับลูกค้า คือสิ่งที่ธุรกิจต้องดิไซน์ให้ดี เพราะมันสามารถกลายเป็นภาพจำให้ธุรกิจเราแตกต่างจากคนอื่นได้นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.