อธิบายวิธีใช้ Curiosity Marketing การตลาดขี้สงสัย ใช้อย่างไร ช่วยให้ขายของดี

อธิบายวิธีใช้ Curiosity Marketing การตลาดขี้สงสัย ใช้อย่างไร ช่วยให้ขายของดี

13 ก.ค. 2024
หลายคนน่าจะเคยเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า แล้วเห็นบูทจัดแสดงสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่มใหม่ ๆ
จนเกิดความอยากรู้ อยากลองชิมอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้น ว่าจะมีรสชาติแบบไหน
แล้วยิ่งถ้าบูทไหนให้ลองชิม หลายคนก็อาจรีบเดินตรงเข้าไปทันที และสุดท้ายก็อาจจบลงที่การเสียเงิน ลองซื้ออาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นติดไม้ติดมือกลับมาด้วย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ การนำความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ มาใช้ในด้านการตลาด โดยมีชื่อเรียกเท่ ๆ ว่า “Curiosity Marketing”
แล้ว Curiosity Marketing คืออะไร ? และเกี่ยวข้องกับเรื่องการตลาดอย่างไร ? เราไปดูพร้อมกัน..
- ความสงสัยและความอยากรู้อยากเห็น เป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ
ทำให้มนุษย์เกิดการแสวงหาข้อมูล เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ และเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติมากขึ้น
ซึ่งองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากความสงสัยและความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น
เช่น การค้นพบแรงโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซก นิวตัน ก็มาจากความสงสัยที่ว่า ทำไมแอปเปิลถึงตกลงสู่พื้นโลก
จากความสงสัยนี้ ก็แปรเปลี่ยนเป็นความอยากรู้ นิวตันจึงทำการทดลองเพื่อค้นหาคำตอบนั้น
แล้วความอยากรู้อยากเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หนึ่งในแนวคิด ที่อธิบายกระบวนการเกิดความอยากรู้อยากเห็น ในจิตใจของมนุษย์ ได้อย่างน่าสนใจก็คือ แนวคิด “Curiosity Gap” ของคุณ George Loewenstein
โดย “Curiosity Gap” แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวได้ว่า “ช่องว่างของความอยากรู้อยากเห็น”
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ช่องว่างระหว่าง “สิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว” กับ “สิ่งที่เราอยากรู้หรือต้องการที่จะรู้”
ถ้าช่องว่างนี้ยิ่งห่างกันมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มว่าเราจะพยายามหาข้อมูล เพื่อมาเติมเต็มความอยากรู้ของเรา
โดยในปี 1994 คุณ George Loewenstein ได้อธิบายถึงกระบวนการภายในจิตใจของมนุษย์
ว่าความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจ จะเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อมนุษย์ขาดข้อมูลในเรื่องที่อยากรู้
ซึ่งสถานการณ์ที่เราไม่รู้ในสิ่งที่อยากรู้นี้เอง จะทำให้มนุษย์เกิด “ความกลัว” และรู้สึก “ไม่มั่นคง” ในจิตใจ
มนุษย์จึงเกิดความสงสัย และอยากรู้อยากเห็นตามมา เพื่อเติมเต็มช่องว่างของความไม่รู้ให้หายไป
แล้วจากความขี้สงสัย และความอยากรู้อยากเห็น ที่อยู่ในสายเลือดของมนุษย์นี้ ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการตลาด จนเรียกว่า Curiosity Marketing
แล้ว Curiosity Marketing คืออะไร ?
Curiosity Marketing ก็คือ กลยุทธ์การตลาดที่นำความขี้สงสัย ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ มาดึงดูดให้ลูกค้าเกิดความสนใจ อยากรู้ข้อมูล อยากลองซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้ด้วยตัวเองบ้าง
หรือดึงดูดความสนใจให้ลูกค้าเกิดความสงสัย จนมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับแบรนด์ ตัวอย่างเช่น
- เกิดการทดลองใช้สินค้าหรือบริการ
- สมัครสมาชิกกับแบรนด์ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม
- ดาวน์โหลดเอกสาร หรือ E-Book จากเว็บไซต์ของแบรนด์
- คลิกเข้าไปอ่านบทความ ดูคลิป หรือชมคอนเทนต์ที่แบรนด์สร้างขึ้น
โดยในแต่ละวัน เรามักเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีการนำกลยุทธ์ Curiosity Marketing มาปรับใช้อย่างแนบเนียน เช่น
- การสร้างคอนเทนต์ โดยการใช้พาดหัวที่อ่านแล้วดูน่าสนใจ
เช่น นำข้อมูลอินไซต์เด็ด ๆ ที่อยู่ในคอนเทนต์มาใช้เป็นพาดหัว
จะช่วยดึงดูดให้ผู้ชมคลิกเข้ามาดูคอนเทนต์ได้มากขึ้น แม้ว่าอินไซต์นั้นจะเป็นเพียงหนึ่งในข้อมูลส่วนเล็ก ๆ ของบทความก็ตาม
โดยข้อมูลจาก “Copyhackers” พบว่า การนำ Curiosity Marketing มาใช้กับการเขียนคอนเทนต์
จะช่วยเพิ่มอัตราการคลิกอ่านบทความ ได้มากถึง 927% เมื่อเทียบกับการใช้พาดหัวที่ดูธรรมดา ๆ
- การให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการของแบรนด์ เพียงบางส่วนที่สำคัญ
จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความสนใจในสินค้า และทำให้ลูกค้าต้องกดเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ในเว็บไซต์หรือช่องทางอื่น ๆ ที่แบรนด์สร้างขึ้น
ซึ่งจะทำให้แบรนด์ได้แทรฟฟิกในการเยี่ยมชมเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสที่ลูกค้าจะเห็นสินค้าหรือบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
ซึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่ชอบใช้กลยุทธ์แบบนี้ ก็อย่างเช่น Apple
โดย Apple จะชอบบอกใบ้ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้เห็นก่อน
อย่างในงาน Apple Event เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2023 Apple เลือกที่จะบอกใบ้ว่าในงานนี้ลูกค้าทุกคนจะได้เห็นสิ่งที่ “Scary Fast” ตามคำโฆษณาสั้น ๆ ของ Apple
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว Apple ก็เฉลยในงาน Apple Event ว่าคำโฆษณา Scary Fast ก็คือสินค้ารุ่นใหม่ ที่มีความเร็วเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อน ๆ นั่นเอง เช่น MacBook Pro ที่ใช้ชิป M3 รุ่นใหม่ล่าสุด ในขณะนั้น
ยังไม่นับรวมกับข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ Apple ไม่ได้เปิดเผยด้วยตัวเองอย่างเป็นทางการ
แต่ทั้งหมด ก็ทำให้ลูกค้าเกิดความสงสัย และอยากรู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จนเกิดเป็นการตีความและคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา
ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ Apple ได้รับความสนใจ ในช่วงการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว
- ใช้ Curiosity Marketing ควบคู่ไปกับเทคนิค Storytelling เพื่อให้เรื่องราวมีความน่าสนใจมากขึ้น
นักเล่าเรื่องเก่ง ๆ จะทำให้คนสงสัย และเกิดความรู้สึกอยากติดตาม อ่านเรื่องราวต่อไปได้
ตัวอย่างเช่น การ์ตูน ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่มีหลายตอนหรือหลายภาค ในช่วงสุดท้ายจะมีการผูกเนื้อเรื่องให้จบแบบปลายเปิด หรือทำให้ผู้ชมมีการสงสัย และคาดเดาเรื่องราวในตอนต่อไปด้วยตัวเอง
ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอยากรู้ และติดตามต่อไปว่า เรื่องราวจะจบลงอย่างไร
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า แม้กลยุทธ์ Curiosity Marketing จะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
แต่การนำกลยุทธ์ Curiosity Marketing มาปรับใช้ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ในบางกรณี
ตัวอย่างเช่น การใช้พาดหัวบทความแบบ Clickbait แม้จะทำให้คนเห็นแล้วต้องกดเข้าไปอ่าน
แต่หากภายในบทความ ไม่ได้มีเนื้อหาแบบที่คาดหวังไว้ ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์ได้
ดังนั้น ถ้าใครจะนำกลยุทธ์ Curiosity Marketing มาใช้ ก็ต้องมองในมุมกลับด้วยว่า
กลยุทธ์ดังกล่าวมีโอกาสส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือไม่
และถ้านำมาใช้แล้ว ก็ต้องปรับใช้ให้เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลหรือพาดชื่อหัวข้อแบบเกินจริง แต่เนื้อหาข้างในกลับไม่เป็นไปตามนั้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.