อธิบาย “Curse of Knowledge” กับดักของนักการตลาด ที่ชอบคิดว่า ลูกค้าก็รู้ดีเหมือนเรา

อธิบาย “Curse of Knowledge” กับดักของนักการตลาด ที่ชอบคิดว่า ลูกค้าก็รู้ดีเหมือนเรา

8 เม.ย. 2024
หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์อธิบายเรื่องยาก ๆ ให้คนอื่นฟัง เช่น ติววิชาคณิตศาสตร์กับเพื่อน ๆ
แล้วบางครั้งก็จะเกิดเหตุการณ์ว่า มีเพื่อนบางคนไม่เข้าใจเนื้อหา
ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้สลับซับซ้อนมากมาย อธิบายไปก็แล้ว แต่เพื่อนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี
ทำให้บางคนก็อาจมีความรู้สึกว่า ทำไมเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ถึงไม่เข้าใจสักที
ส่วนคนไม่เข้าใจก็อาจจะคิดในใจว่า เพื่อนคนนี้อธิบายเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ช่วยพูดภาษาคนให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ไหม
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มีชื่อว่า “Curse of Knowledge”
แล้ว Curse of Knowledge คืออะไร ?
Curse of Knowledge คือ อคติทางความคิด (Cognitive Bias) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แล้วทำให้คนคนนั้น มีความคิดและการตัดสินคนอื่นผิดไปจากที่ควรจะเป็น
Curse of Knowledge จึงมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า คำสาปของคนมีความรู้
โดยใครก็ตามที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดมาก ๆ และอยู่กับมันมานาน
อาจจะเกิดความรู้สึกว่าความรู้นั้นเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาสามัญมาก ที่ใคร ๆ ก็รู้
แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เพราะความรู้นั้นเป็นความรู้เฉพาะด้าน จึงยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่ได้ฟังเรื่องนั้นเป็นครั้งแรก จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ซึ่งคนมีความรู้ชุดนั้นแล้ว จะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนอื่นถึงไม่รู้เรื่องแบบเรา
ส่วนคนทั่วไปก็ไม่เข้าใจว่า คนพูดกำลังพูดอะไรอยู่
โดยการทดลองเกี่ยวกับ Curse of Knowledge ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นในปี 1990
โดยนักศึกษาจาก Stanford University ชื่อว่า Elizabeth Louise Newton
เธอได้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
Tapper หรือคนเคาะจังหวะ และ Listener หรือคนฟัง
โดย Tapper จะได้เลือกเพลงจากลิสต์รายชื่อเพลงฮิต หรือเพลงที่คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นรู้จักกัน
เช่น Happy Birthday, Twinkle Twinkle Little Star
มาเคาะจังหวะตามเสียงเพลงให้ Listener ฟัง แล้วให้ Listener ทายว่า เพลงนั้นชื่อว่าอะไร
สิ่งที่น่าสนใจในการทดลองนี้ก็คือ
ผู้ทำการทดลองประเมินว่า Listener จะสามารถทายชื่อเพลงได้ถูกไม่ต่ำกว่า 50%
เพราะรายชื่อเพลงที่ให้ทาย เป็นเพลงที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว
แต่ผลปรากฏว่า Listener ทายชื่อเพลงถูกเฉลี่ยเพียง 2.5% เท่านั้น
แล้วผลการทดลองนี้บอกอะไรกับเรา ?
ในมุมของ Tapper ที่รู้ชื่อเพลงอยู่แล้ว ย่อมง่ายมากที่จะเคาะจังหวะไปตามทำนองเพลงที่มีอยู่ในหัว
แต่จะงุนงงว่า ทำไม Listener ถึงตอบชื่อเพลงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มันง่ายมาก คิดเป็นเพลงอื่นไปไม่ได้แน่ ๆ
แต่ในมุมของ Listener ที่ไม่มีข้อมูลหรือคำใบ้อะไรเลย
กลับเป็นเรื่องยากมาก ที่จะทายเสียงเคาะจังหวะได้ถูกต้องว่ามาจากเพลงอะไร
แม้ว่าทุกเพลงจะเป็นเพลงที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันหมดอยู่แล้วก็ตาม
จากการทดลอง Tapper จึงเปรียบเสมือนคนที่มีความรู้ในเรื่องหนึ่ง แล้วต้องสื่อสารออกไปให้ผู้อื่นได้รับรู้
ส่วน Listener เปรียบเสมือนคนทั่วไปที่ได้ฟัง ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นเป็นครั้งแรก ๆ
ซึ่ง Tapper หรือคนมีความรู้ เมื่อได้รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว
จะไม่เข้าใจภาวะของความไม่รู้เลยว่ามันเป็นอย่างไร
ภาวะแบบนี้เองที่ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ Curse of Knowledge ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม Curse of Knowledge ไม่ใช่ความคิดเชิงลบ ในลักษณะดูถูกดูแคลน หรือไปเหยียดหยามผู้อื่น
แต่เป็นเพียงความคิดว่า “ความรู้ที่ตัวเองรู้นั้นเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป” จนคิดไปเองว่าคนอื่นก็รู้เรื่องเหล่านั้นตามไปด้วย
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
ไม่ได้เกิดเฉพาะในนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่จบการศึกษาในระดับสูงเท่านั้น
โดย Curse of Knowledge มักทำให้คนมีความรู้เจอปัญหาเมื่อต้องสื่อสารกับผู้อื่น
เช่น พูดไปแล้วคนฟังไม่เข้าใจบ้าง หรือเกิดความเข้าใจผิดระหว่างคู่สนทนา
และหากเป็นการทำงานในองค์กร ก็อาจเกิดการสื่อสารแบบผิดพลาดขึ้นได้เช่นกัน
แล้ว Curse of Knowledge เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการตลาด อย่างไรบ้าง ?
เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด หรือพนักงานขาย มักจะมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการทำงาน คำศัพท์เฉพาะทาง หรือความซับซ้อนของอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี
ซึ่งอาจทำให้พวกเขาคิดว่า ลูกค้ามีความเข้าใจในธุรกิจและสินค้าระดับเดียวกัน
จนบางครั้งก็พลาดโอกาสในการถ่ายทอดคุณค่าของสินค้าให้ลูกค้าได้รับรู้
โดยเฉพาะธุรกิจหรือสินค้าที่มีความเฉพาะทางมาก ๆ และต้องอาศัยการอธิบายเป็นลำดับอย่างละเอียด
เช่น สินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ หลักทรัพย์ทางการเงิน ประกันภัย
นอกจากนี้ ในกรณีนำเสนอไอเดียธุรกิจกับนักลงทุน ถ้าไอเดียมีความซับซ้อนมาก ๆ
แล้วไม่สามารถสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจได้ว่า ธุรกิจมีแผนจะทำอะไร มีโมเดลธุรกิจอย่างไร
ก็อาจพลาดโอกาสในการขอระดมทุนเพื่อทำธุรกิจได้เช่นกัน
แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับ Curse of Knowledge ได้อย่างไรบ้าง ?
- ศึกษาภูมิหลังของคนฟังหรือลูกค้า ก่อนพบปะ
ถ้ามีเวลาเพียงพอ การทำความเข้าใจคนที่จะฟังเรา ย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ ประสบการณ์ การศึกษา พื้นเพ ภูมิลำเนา
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจเบื้องต้นว่า คนฟังมีพื้นฐานความรู้ประมาณไหน และควรใช้วิธีการพูดอย่างไร
- หลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ทางเทคนิค คำทับศัพท์ กับคนที่ไม่ได้มีพื้นความรู้ด้านนั้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนฟังไม่เข้าใจคือ การใช้ศัพท์เทคนิคอธิบายแทนการใช้คำศัพท์พื้นฐานทั่วไป
ซึ่งวิธีที่ดีในการสื่อสาร คือ การอธิบายไปเลยว่าคำนั้นมีความหมายว่าอะไร
เช่น คำว่า “R&D” เป็นคำศัพท์เฉพาะในวงการธุรกิจ คนทั่วไปบางคนอาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ แม้จะเป็นคำที่ไม่ได้ยาก แต่อย่าคิดว่าคนทั่วไป หรือลูกค้า จะเข้าใจคำนี้ทุกคน
ทางที่ดีควรอธิบายความหมายกำกับ หรือใช้คำศัพท์พื้นฐานแทนว่า “การวิจัยและพัฒนา”
- ให้คิดเสมือนว่าคนฟังไม่เคยรู้จักเรื่องราวเหล่านั้นมาก่อน
ถ้าผู้ฟังมีหลายคน และแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน เช่น เด็กนักเรียนในห้องเรียน
วิธีที่ดีในการอธิบายคือ การอธิบายแบบเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่พื้นฐานที่สุด เสมือนว่าทุกคนไม่เคยรู้จักเรื่องราวเหล่านั้นมาก่อน
ทั้งหมดนี้ก็คือ Curse of Knowledge ปรากฏการณ์ที่คนมีความรู้
คิดไปเองว่า ทุกคนก็รู้เรื่องเหล่านั้นเหมือนกับตัวเอง
ซึ่งต้องบอกว่าทุกคนมีโอกาสติดกับดักนี้ได้โดยไม่รู้ตัว
และอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารในการทำงานได้
ดังนั้น ก่อนที่เราจะสื่อสารออกไป เราจะต้องนึกถึงใจเขาใจเรา
มองลงไปให้ลึกว่าผู้ฟังมีพื้นฐานความรู้มากน้อยแค่ไหน มีประสบการณ์ในด้านนั้นบ้างหรือไม่
แล้วปรับคำพูด และระดับภาษา ให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราหลุดพ้นจากคำสาปนี้ได้แล้ว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.