สรุปวิธีเขียน Company Profile ที่คนทำธุรกิจควรรู้ จากเคส Google

สรุปวิธีเขียน Company Profile ที่คนทำธุรกิจควรรู้ จากเคส Google

20 มี.ค. 2024
Company Profile หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Company Credential อธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเป็นเหมือน “โปรไฟล์” ที่ทำหน้าที่แนะนำตัว ให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้จักแบรนด์หรือบริษัทของเรา
ไม่ว่าจะเป็น
- แบรนด์ของเราคือใคร ขายสินค้า หรือบริการชนิดใด
- ใครเป็นลูกค้าของเรา
- จุดเด่น และความแตกต่างของเรากับคู่แข่ง คืออะไร
- ทำไมต้องเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ จากแบรนด์ของเรา
ทั้งหมดนี้ คือหน้าที่แบบเข้าใจง่าย ๆ ของ Company Profile
คำถามคือ เราจะมีวิธีการในการเขียน Company Profile ของเราอย่างไร มีข้อมูลอะไรที่ควรใส่เข้าไปบ้าง ?
MarketThink จะพาไปเจาะลึก ถึงองค์ประกอบ ที่ควรมีใน Company Profile กันแบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า Company Profile มีอยู่หลายรูปแบบ
ทั้งในเว็บไซต์ของบริษัท ของแบรนด์ ที่ใคร ๆ ก็เปิดเข้าไปดูได้
เช่น https://about.google/ ของ Google
https://www.tesla.com/about ของ Tesla
หรือ https://about.meta.com/ ของ Meta
หรือจะเป็นกระดาษ อย่างแผ่นพับ หรือใบปลิว ที่ใช้แจกให้กับลูกค้า
โดยองค์ประกอบของ Company Profile นั้น ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน
- องค์ประกอบที่ 1 : เรื่องราวของแบรนด์ (Brand Story)
เป็นองค์ประกอบที่เรามักเห็นเป็นอย่างแรกใน Company Profile เพราะเป็นส่วนที่เนื้อหาค่อนข้างคงที่ ไม่ได้เปลี่ยนกันบ่อย ๆ
เนื้อหาในส่วนนี้ จะเป็น “เรื่องราวของแบรนด์” ที่อยากให้ลูกค้าของเรารู้ เป็นเหมือนการแนะนำตัว ว่าเราคือใคร
ไม่ว่าจะเป็น
- ประวัติของแบรนด์แบบคร่าว ๆ
- จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ
- ความหลงใหล ที่ทำให้เกิดเป็นแบรนด์นี้ขึ้นมา
- ความเชี่ยวชาญ หรือจุดเด่น
- Vision หรือ Mission ของแบรนด์
โดยเรื่องราวของแบรนด์ สามารถเล่าออกมาเป็นประวัติของแบรนด์แบบคร่าว ๆ เรียงตามไทม์ไลน์ ไม่วกไปวนมา
ที่สำคัญคือ ในประวัติของแบรนด์ ควรมีความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาแทรกอยู่ด้วย
เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ของเรา กับแบรนด์อื่น ๆ
- องค์ประกอบที่ 2 : สินค้าหรือบริการของเรา คืออะไร
หลังจากที่ลูกค้าของเรา ได้รู้เรื่องราวของแบรนด์ทั้งหมดไปแบบคร่าว ๆ แล้วว่า แบรนด์ของเรามีที่มาอย่างไร
องค์ประกอบถัดไปใน Company Profile ก็คือ การอธิบายว่าสินค้าและบริการของเรา มีอะไรบ้าง
โดยเราสามารถแบ่งแนวทางการอธิบายได้เป็น 3 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 : คือ การอธิบายเฉพาะสินค้าและบริการยอดนิยมของแบรนด์ สินค้าหรือบริการตัวใดที่ขายดี ก็หยิบยกขึ้นมาโชว์ให้เห็นชัด ๆ
รูปแบบที่ 2 : คือ การจัดประเภทสินค้าหรือบริการของเราออกเป็นหมวดหมู่ โดยอธิบายแต่ละหมวดหมู่แบบคร่าว ๆ ให้พอเห็นภาพที่ชัดเจน
รูปแบบที่ 3 : คือ การอธิบายถึงสินค้าหรือบริการที่เรามีทั้งหมด แบ่งเป็นรายการให้อ่านแบบง่าย ๆ แต่ที่สำคัญคือ วิธีนี้อาจเหมาะกับแบรนด์ที่มีสินค้าหรือบริการที่มีจำนวนไม่มากเท่านั้น
โดยเราสามารถใส่จุดเด่นของสินค้า หรือบริการของเราลงไปด้วยก็ได้
เช่น สินค้าชิ้นนั้นของเรา มีฟีเชอร์เด่นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร เหมาะกับคนกลุ่มใด ทำไมลูกค้าจำนวนมากจึงนิยมใช้
- องค์ประกอบที่ 3 : รางวัล และความสำเร็จที่ได้รับ
องค์ประกอบนี้ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับแบรนด์ของเรา
ตัวอย่างของรางวัล และความสำเร็จที่เคยได้รับ ก็มีทั้ง
- รางวัลเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต
- รางวัลการออกแบบ รางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์
- รางวัลด้านคุณภาพ และการให้บริการ
- หรือรางวัลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
โดยเราอาจอธิบายเพิ่มเติม เกี่ยวกับรางวัล และความสำเร็จแต่ละอย่างด้วยว่ารางวัลนั้นคืออะไร ทำไมถึงได้รับ หรือได้มาจากความสำเร็จด้านใด
ก็จะทำให้แบรนด์ของเราดูมีความโดดเด่น และมีภาพลักษณ์ที่ดีมากขึ้นไปอีก
- องค์ประกอบที่ 4 : ลูกค้าของเราคือใคร
ในองค์ประกอบนี้ เราสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่า ที่ผ่านมาลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการของเรา เป็นใครบ้าง
โดยเราสามารถใส่ข้อมูลได้ทั้งในลักษณะของ “โลโก” บริษัทหรือหน่วยงาน ที่เป็นลูกค้าของเรา
หรือจะใส่ข้อมูลเป็น โควตคำพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับความประทับใจของลูกค้า ที่มีต่อสินค้าหรือบริการ ของแบรนด์เราก็ได้
หรือในบางครั้ง เราอาจเห็น Company Credential ของบางแบรนด์เลือกนำข้อมูลผลสำรวจความพึงพอใจจากลูกค้าจริง มาใช้ประกอบข้อมูลในส่วนนี้ ก็ได้เช่นกัน
แล้วถ้าถามว่าองค์ประกอบนี้ สำคัญอย่างไร ?
คิดภาพตามง่าย ๆ ว่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถ “ขาย” จุดเด่นของสินค้าหรือบริการของเราได้อีกครั้ง
เช่น สินค้าหรือบริการของเรา ช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายของตัวเองอย่างไร
หรือประโยชน์ที่ได้รับ จากการใช้สินค้าหรือบริการจากแบรนด์ของเรา
ทั้งหมดนี้ คือ 4 องค์ประกอบพื้นฐานที่เรามักเห็นกันบ่อย ๆ ใน Company Profile ของแต่ละแบรนด์
แต่ต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า Company Profile นี้ ไม่ได้มีสูตรที่ตายตัว
บางแบรนด์อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความต้องการที่แตกต่างกัน
ทีนี้ เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เราลองไปดูตัวอย่างกันดีกว่าว่า Company Profile จริง ๆ ของแต่ละบริษัท เป็นอย่างไรบ้าง
โดยเราจะยกตัวอย่างเป็น Company Profile ของ Google จากหน้าเว็บไซต์ https://about.google/
สิ่งที่เราเห็นได้จาก Company Profile ของ Google เป็นอย่างแรก คือ การเล่าเรื่องราวของแบรนด์ ให้กับคนทั่วไปได้รู้จัก Google กันก่อน
ผ่านพันธกิจ (Mission) ของ Google ที่ระบุว่า “พันธกิจของเรา คือการจัดระเบียบข้อมูลในโลกนี้ และทำให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ และมีประโยชน์”
ตามด้วยประวัติคร่าว ๆ ของ Google ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา
โดยการเล่าผ่านคลิปวิดีโอสั้น ๆ ความยาวไม่ถึง 4 นาที ว่าที่ผ่านมาคนทั่วโลก ใช้ Google ในการค้นหาสิ่งใดบ้าง
และที่สำคัญคือ คลิปวิดีโอนี้ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า Google มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ของคนทั่วโลกอย่างไร
หลังจากที่ Google เล่าเรื่องราวของแบรนด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว Google ก็ได้เข้าสู่องค์ประกอบถัดไป นั่นคือ องค์ประกอบด้านสินค้าและบริการ
ซึ่ง Google ได้เลือกนำสินค้าและบริการของตัวเอง มาอยู่ใน Company Profile เพียง 2 หมวดหมู่ นั่นคือ Google Workspace ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำงานในองค์กรต่าง ๆ
และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Google เอง
โดยที่หากเราต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการทั้งหมดที่ Google มี ก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ ในอีกเว็บไซต์หนึ่งแทน
เพราะ Google เป็นแบรนด์ที่มีสินค้าและบริการจำนวนมาก ไม่สามารถบอกได้ละเอียดหมด ในหน้าแนะนำบริษัท
และองค์ประกอบสุดท้ายใน Company Profile ของ Google ก็คือ “ลูกค้า”
ที่แม้ Google จะไม่ได้ระบุมาตรง ๆ ว่าบริษัทใด หรือใครบ้างที่เป็นลูกค้าของ Google เพราะแน่นอนว่า ทุกคนบนโลกน่าจะต้องเป็นลูกค้าของ Google กันอยู่แล้ว
แต่ Google เลือกที่จะนำเสนอองค์ประกอบในด้านนี้ ด้วยการระบุถึงบุคคลที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Google
เช่น คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ดียิ่งขึ้น
ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจด้านความเท่าเทียม
คนที่ใช้ YouTube เรียนรู้การประดิษฐ์ลูกตาปลอมให้กับลูกสาวของตัวเอง
หรือศิลปินที่ขอแฟนแต่งงานด้วยศิลปะที่ทำจาก Google Earth
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ว่าขาดหายไปจาก Company Profile ของ Google ก็คือ รางวัล และความสำเร็จ
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ Google เป็นบริษัทที่คนทั่วโลกรู้จักอยู่แล้ว
รวมถึงคนทั่วโลกก็รู้อยู่แล้วว่า Google ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกอย่างไร
รางวัลและความสำเร็จ จึงอาจไม่ใช่องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับ Company Profile ของ Google ก็เป็นได้
และนั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า Company Profile ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว
ทุกแบรนด์ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือน ๆ กัน
แต่ต้องหาสูตรที่มีความเหมาะสมกับตัวเอง ให้มากที่สุด..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.