สรุปวิธีเขียน คำโฆษณา Copywriting ให้ทรงพลัง ด้วย PASTOR Framework

สรุปวิธีเขียน คำโฆษณา Copywriting ให้ทรงพลัง ด้วย PASTOR Framework

14 ก.ย. 2024
Copywriting คือ งานเขียนคำโฆษณา เพื่อจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ ทำบางสิ่งบางอย่างตามที่ผู้เขียนต้องการ
เช่น กรอกแบบสอบถาม สมัครสมาชิกกับแบรนด์ หรือแม้แต่กระทั่งการตัดสินใจซื้อสินค้า
Copywriting เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โพสต์ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เว็บไซต์ ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด แผ่นพับหรือโปสเตอร์ต่าง ๆ
ซึ่งความท้าทายของการเขียน Copywriting คือ ต้องทำให้ลูกค้าสะดุดตา และหยุดอ่านข้อความให้ได้ภายในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที
ถ้าทำไม่ได้ ก็จะไม่สามารถโน้มน้าวใจของลูกค้า ให้พวกเขาทำตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ได้เลย โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่เราเห็นคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านตาหลายร้อยคอนเทนต์ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การเขียน Copywriting ให้โดนใจลูกค้า ก็มีเฟรมเวิร์กหนึ่งที่สามารถเรียนรู้และเริ่มทำตามได้ ชื่อว่า PASTOR Framework
PASTOR Framework คืออะไร ?
PASTOR Framework คือ เครื่องมือทางการตลาดที่คิดค้นขึ้นมาโดย Ray Edwards นักการตลาดชาวอเมริกัน
เขามีชื่อเสียงเรื่องการเขียน Copywriting โดยเฉพาะ เพื่อเป็นไกด์ไลน์การเขียน Copywriting ที่ดีและช่วยโน้มน้าวให้ผู้อ่านทำตามในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการ
PASTOR Framework มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน
1. Problem - เข้าใจปัญหาที่ลูกค้าเจอ
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเขียน Copywriting ได้ดี ก็คือการเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงว่า พวกเขากำลังเจอกับปัญหา (Pain Point) อะไรอยู่บ้าง แล้วจากปัญหานั้นส่งผลต่อชีวิตของลูกค้าอย่างไร
ยิ่งเราเข้าใจลูกค้าได้ดีมากขึ้นเท่าไร เราก็จะสามารถนำประเด็นปัญหานี้ มาใช้เขียนคำโฆษณาที่โน้มน้าว
และถ่ายทอดได้ดีมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น
- ลูกค้ามีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ ถึงหลับแต่ก็หลับไม่ลึก ทำให้ตอนตื่นรู้สึกเพลีย ไม่สดชื่น
- ลูกค้ามีปัญหาขายสินค้าไม่ออก ทำให้สต๊อกสินค้าล้นและหมุนเงินไม่ทัน
2. Amplify - ขยายความ จี้ปมปัญหาของลูกค้า ให้ชัดเจนขึ้น
หลังจากที่เรารู้ปัญหาของลูกค้าแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ เราต้องขยายความปัญหาของลูกค้าให้ชัดมากขึ้น
โดยการจี้ลงไปที่ปัญหาที่ลูกค้าเจอ และใช้คำที่สื่อถึงอารมณ์ได้ดี ก็จะช่วยให้โน้มน้าวใจของลูกค้าได้ง่ายขึ้น
เทคนิคหนึ่งคือ การอธิบายว่าถ้าลูกค้าไม่ทำอะไรกับปัญหานั้นเลย จะส่งผลเสียอะไรบ้าง ก็สามารถจูงใจลูกค้าได้
เช่น หากลูกค้ามีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ แล้วปล่อยไปแบบนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวของลูกค้าได้
3. Story - ผูกเรื่องราว แล้วเล่าให้ลูกค้าฟัง
เรื่องราวที่ดี ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า
เช่น ปัญหาที่ลูกค้าพบเจอมา (ในองค์ประกอบข้อที่ 1) เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอินและคล้อยตามไปกับเรื่องที่แบรนด์เล่าจริง ๆ
รวมถึงการใช้เรื่องราว เป็นสิ่งที่ช่วยนำเสนอข้อมูลให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าจดจำได้ และรู้ว่าเราจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าเจอได้อย่างไร
4. Transformation & Testimony - การเปลี่ยนแปลง & คำบอกเล่า
Theodore Levitt ศาสตราจารย์ของ Harvard Business School เคยพูดว่า “ลูกค้าไม่ได้ต้องการสว่าน แต่พวกเขาอยากได้รูต่างหาก”
จากคำพูดนี้ ถ้าเราคิดอย่างถี่ถ้วนและตกตะกอนออกมาจะพบว่า แท้จริงแล้วลูกค้าต้องการซื้อโซลูชัน (Solution) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของพวกเขา ไม่ใช่เพราะต้องการตัวสินค้า (Product)
นั่นหมายความว่า ถ้าเราสามารถเจาะกำแพงเป็นรูได้เองโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ เราก็ไม่ต้องการใช้สว่าน
หรือถ้าลูกค้าพบหนทางที่ดีกว่าการเจาะกำแพงเป็นรู เช่น การซื้อกรอบรูปมีขาตั้งแทนการแขวนรูปกับผนัง
พวกเขาก็คงไม่ต้องการซื้อสว่านมาใช้อยู่ดี
ดังนั้น คำโฆษณาที่ดีควรบอกด้วยว่า สินค้าชิ้นนั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้าอย่างไร เมื่อลูกค้าได้ใช้สินค้าชิ้นนั้น
เช่น หากสินค้าของเราเป็นที่นอน นั่นหมายความว่าที่นอนของเรา ไม่ได้ทำให้ลูกค้านอนหลับได้สบายตลอดคืนเพียงอย่างเดียว
แต่ยังทำให้ลูกค้ามีแรงออกไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง จากที่นอนของเรา
อีกเทคนิคที่ช่วยโน้มน้าวใจลูกค้าได้ดี ถ้ามีในงานเขียนคำโฆษณาก็คือ คำบอกเล่าจากผู้ซื้อคนก่อน (Testimony)
ลองสมมติตัวเองเป็นคนที่กำลังจะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง แล้วคิดว่า เราเชื่อคำโฆษณาของแบรนด์มากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ถ้าเป็นร้านเล็ก ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เราก็คงไม่เชื่อในคำโฆษณาของเขา
ดังนั้น คำบอกเล่าหรือรีวิวจากลูกค้าคนก่อน จึงสำคัญมากในการนำมาใช้ประกอบคำโฆษณา
5. Offer - สร้างข้อเสนอให้ลูกค้า
คือการนำองค์ประกอบที่เรารู้และเตรียมไว้จากขั้นตอนก่อนหน้ามาสร้างเป็นข้อเสนอขายให้ลูกค้า
โดยเริ่มตั้งแต่พูดถึงปัญหาที่ลูกค้าพบเจอ จากนั้นก็ขยี้ปัญหานั้นให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับบอกว่าถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยจะส่งผลเสียต่อเขาอย่างไรบ้าง
จากนั้นก็นำปัญหามาผูกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวลูกค้า ซึ่งเราสามารถนำเฟรมเวิร์กการสร้าง Storytelling อื่น ๆ มาช่วยให้เรื่องราวของเราน่าสนใจขึ้นได้
อย่างเช่น Hero’s Journey ที่มีสเต็ปการเล่าเส้นเรื่องใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ เจอปัญหา ต่อสู้เพื่อเอาชนะ และสุดท้ายก็ชนะ
ซึ่งเราสามารถวางสินค้าหรือบริการของเรา ให้เป็นฮีโรของเรื่องราวนี้ได้
ในโฆษณาจะต้องบอกด้วยว่า ลูกค้าจะได้รับอะไรและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อพวกเขาได้ซื้อสินค้าของเรา
และอย่าลืมนำรีวิวหรือคำบอกเล่าของลูกค้าเก่า มาประกอบคำโฆษณาให้มีความน่าเชื่อถือขึ้นด้วย
6. Response - กระตุ้นให้ลูกค้ามีการตอบสนอง
สุดท้ายอย่าลืมสร้าง Call to Action หรือก็คือ การกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ให้ลูกค้าทำในสิ่งที่เราต้องการ
เช่น สั่งซื้อสินค้า ลงทะเบียนแสดงความสนใจ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หรือใช้บริการรับคำปรึกษาจากเรา
รวมทั้งบอกลูกค้าว่า ถ้าพวกเขาสนใจในสินค้าของเรา จะต้องทำอะไรต่อไป ขั้นตอนเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ทั้งหมดนี้ก็คือ PASTOR Framework เครื่องมือที่ช่วยไกด์ไลน์การเขียนคำโฆษณาให้ทรงพลังมากขึ้น
ใครที่กำลังขายของ และต้องการสื่อสารผ่านการโฆษณาให้ลูกค้าได้รับรู้ พร้อมกับโน้มน้าวใจลูกค้าไปด้วย
ก็สามารถนำเทคนิคการสื่อสารผ่านเครื่องมือนี้ ไปประยุกต์ใช้กันได้ง่าย ๆ
ซึ่งต้องบอกว่า เฟรมเวิร์กนี้เป็นเพียงเค้าโครงพื้นฐานเท่านั้น
จริง ๆ แล้วการเขียน Copywriting เขียนคำโฆษณาให้โหด ๆ ต้องอาศัยเทคนิคการเขียน ประกอบเข้าไปด้วย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.