ทำไม Google คือบริษัทเทคโนโลยี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักฆ่า” นวัตกรรม

ทำไม Google คือบริษัทเทคโนโลยี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักฆ่า” นวัตกรรม

4 ก.พ. 2023
Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังระดับโลก ที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมาแล้วมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น บริการ Search Engine อย่าง Google ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาด ได้สูงถึง 90% จน Google กลายเป็นคำกริยาที่ใช้เรียกการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หรือแอปอื่น ๆ ของ Google ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เช่น YouTube, Google Maps, Google Document, Google Translate และแอปอื่น ๆ อีกมากมาย..
หรือแม้แต่ระบบปฏิบัติการ Android ที่ใช้ในสมาร์ตโฟนหลากหลายแบรนด์ รวมแล้วหลายพันล้านเครื่องทั่วโลก
แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ Google จะดูเหมือนบริษัทที่ “ประสบความสำเร็จ” ในการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาให้คนทั่วโลกใช้อยู่ตลอดเวลา แต่ในความจริงแล้ว บริการของ Google ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเล็ก ๆ เท่านั้น..
เพราะที่ผ่านมา แม้ Google จะขึ้นชื่อว่าเป็น บริษัทผู้สร้างนวัตกรรม แต่ในหลาย ๆ ครั้ง Google ก็เป็นบริษัทที่ “ฆ่า” นวัตกรรมต่าง ๆ เสียเอง
และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ Google ฆ่าทิ้ง ก็มีมากจนถึงขนาดมีผู้จัดทำเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเหมือนสุสานรวบรวมนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ Google ตัดสินใจฆ่าทิ้งและปิดให้บริการ เลยทีเดียว
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ Killed by Google พบว่า ที่ผ่านมา Google ฆ่านวัตกรรมของตัวเองทิ้งไปแล้วทั้งสิ้น 281 รายการ ซึ่งแบ่งเป็น
- แอปพลิเคชัน จำนวน 55 รายการ
- บริการของ Google จำนวน 205 รายการ
- ฮาร์ดแวร์ จำนวน 21 รายการ
(สามารถเข้าไปดูเว็บไซต์ Killed by Google ได้ที่ > https://killedbygoogle.com/)
เฉพาะปี 2022 เพียงปีเดียว Google ได้ฆ่านวัตกรรมของตัวเองไปมากถึง 12 รายการ เช่น แอป YouTube Go ที่ออกแบบมาสำหรับการรับชม YouTube บนสมาร์ตโฟนที่มีสเป็กต่ำ, แอปส่งข้อความ Google Hangouts, YouTube Originals สตูดิโอผลิตคอนเทนต์ลงบน YouTube ที่ Google วางแผนจะนำมาสู้กับ Netflix โดยเฉพาะ
ส่วนในปี 2023 นี้ หลังขึ้นปีใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน Google ก็ได้ประกาศปิดบริการ Google Stadia บริการคลาวด์เกมมิง ที่ Google ตั้งใจพัฒนาเพื่อเข้ามาตีตลาดเกม แข่งกับบริษัทอื่น ๆ อย่าง Sony และ Microsoft
ทำให้หลาย ๆ คน อาจสงสัยว่า ทำไม Google จึงกลายเป็นบริษัทที่พัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นทั้งแอป บริการ หรือแม้แต่ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้วก็เลือกฆ่าทิ้งไป โดยไม่ได้ผลักดันอย่างต่อเนื่อง
คำตอบก็เป็นเพราะ แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมองค์กร” ของ Google นั่นเอง..
โดยหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่สุด ที่ส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมของ Google นั่นคือ ความเชื่อที่ว่า “ไอเดียใหม่ ๆ มีอยู่ทุกที่” ไม่ว่าใครก็สามารถนำเสนอไอเดียของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของ Google ได้
รวมถึง Google ยังอนุญาตให้พนักงานของตัวเอง โดยเฉพาะวิศวกร จัดสรรเวลาการทำงาน 1 วันต่อสัปดาห์ ไปกับการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ตามความสนใจของตัวเอง
แม้ว่าโครงการที่พนักงานคนนั้นสนใจ อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของ Google เลยก็ตาม..
โดยตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง จากการพัฒนาโครงการตามความสนใจของพนักงานแต่ละคน คือ ในครั้งหนึ่ง วิศวกรของ Google คนหนึ่ง กำลังวางแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศ เขาจึงเปิด Google Street View แล้วพบว่า ตรอกซอกซอยเล็ก ๆ จำนวนมาก ไม่มีภาพ Street View เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ถ่ายภาพ ไม่สามารถขับเข้าไปได้
เขาจึงเสนอไอเดีย ให้ Google ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เข้าไปเก็บภาพ Street View ในตรอกซอกซอยต่าง ๆ แทน
นอกจากนี้ Google ยังมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้นวัตกรรมนั้นสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแอป บริการ หรือฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ
แต่ให้ปล่อยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่พนักงาน Google คิดค้นขึ้น ออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การปล่อยนวัตกรรมออกสู่ตลาดนี้ ทำให้ Google ได้ “ทดลอง” นวัตกรรมของตัวเอง กับผู้ใช้งานจริง
นั่นหมายความว่า Google ก็จะได้ข้อมูล และความคิดเห็น (Feedback) ที่เกิดจากคนที่ใช้งานนวัตกรรมนั้นจริง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงนวัตกรรมของตัวเองต่อไป ตามหลักการของ Minimum Viable Product (MVP)
ซึ่งหากนวัตกรรมใดที่ Google ปล่อยออกมาสู่ตลาดแล้ว “ล้มเหลว”
Google ก็จะไม่ได้มองว่าความล้มเหลวของนวัตกรรมนั้น กลายเป็นตราบาปขององค์กรแต่อย่างใด
เพราะ Google เข้าใจว่า หากไม่เคยล้มเหลวเลย นั่นแปลว่ายังไม่เคยพยายาม ที่จะลงมือทำในสิ่งใหม่ ๆ เลย
และการเรียนรู้จากความล้มเหลว รวมถึงเสียงตอบรับจากตลาดจริง ๆ นั้น ก็เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ
จากแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมของ Google นี้เอง ส่งผลโดยตรง ต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของ Google เพราะพนักงานของ Google ถูกสนับสนุนให้นำไอเดียของตัวเอง มาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ออกสู่ตลาดจริง ไม่ว่าจะเป็นแอป บริการ หรือแม้แต่ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ
และหากนวัตกรรมนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ไม่สามารถทำกำไรให้กับ Google ได้ หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการไม่มากพอ Google ก็จะเลือกฆ่านวัตกรรมนั้นทิ้งทันที ด้วยการยกเลิกการให้บริการไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ Google จะฆ่านวัตกรรมหลาย ๆ อย่างทิ้งไป รวมแล้วเกือบ 300 รายการ
แต่ Google ก็ได้หยิบเอาส่วนประกอบและองค์ความรู้หลาย ๆ อย่าง จากนวัตกรรมที่ถูกฆ่าทิ้งไป ใส่ไว้ในนวัตกรรมอื่น ๆ ของตัวเอง ที่ประสบความสำเร็จ และยังเหลือรอดอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า Google เอง ได้นำส่วนที่ดีที่สุด ของนวัตกรรมที่พนักงานเป็นคนคิดขึ้นมา ไปต่อยอดเป็น “ฟีเชอร์” ให้กับบริการอื่น ๆ ของ Google นั่นเอง
นอกจากนี้ การที่ Google ล้มเหลวกับนวัตกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก นั่นก็เป็นเพราะ Google ได้ใช้ความพยายามอย่างมหาศาล ในการค้นหานวัตกรรม ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนทั่วโลก
และหาก Google ไม่ได้ทำเช่นนี้ เราอาจไม่มีทางได้เห็น Google กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ และมีเทคโนโลยีในหลากหลายรูปแบบ อย่างทุกวันนี้ก็ได้..
อ้างอิง:
-https://killedbygoogle.com/
-https://www.forbes.com/sites/enriquedans/2019/04/04/heres-the-problem-with-googles-innovation-strategy/
-https://www.fastcompany.com/3021956/googles-nine-principles-of-innovation
-https://www.androidpolice.com/what-google-killed-2022/
-https://www.androidcentral.com/heres-why-google-kills-so-many-its-projects
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.