สรุป 8 เช็กลิสต์ Brand Identity ใช้สร้างแบรนด์ ให้มีตัวตนชัด ลูกค้าจำได้แม่น จากเคส Apple

สรุป 8 เช็กลิสต์ Brand Identity ใช้สร้างแบรนด์ ให้มีตัวตนชัด ลูกค้าจำได้แม่น จากเคส Apple

8 เม.ย. 2025
Brand Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ ที่ได้รับการออกแบบขึ้น เป็นเหมือน “ตัวตน” ที่ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ และทำให้แบรนด์มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดเดียวกัน
ซึ่งแบรนด์ที่มี Brand Identity ชัดเจน นอกจากจะทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้แล้ว ยังช่วยสร้างยอดขาย เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อความหมายของคำว่า Brand Identity ดูกว้างแบบนี้ ทำให้หลายคนอาจสับสน ว่าจริง ๆ แล้ว Brand Identity มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?
บทความนี้จะพาไปเจาะลึก 8 องค์ประกอบที่ต้องมี ในการสร้าง Brand Identity กัน
1. ชื่อแบรนด์ (Brand Name)
เป็นองค์ประกอบแรกของการสร้าง Brand Identity เพราะเป็นเหมือน First Impression ที่ลูกค้าจะรับรู้จากแบรนด์
ซึ่งชื่อแบรนด์ที่ดี จะมีลักษณะแบบนี้
- สั้น กระชับ จดจำได้ง่าย
- มีความแตกต่าง ไม่เหมือนคู่แข่ง
- บ่งบอกถึงสินค้า บริการ หรือสิ่งที่แบรนด์ทำ
- คนจำนวนมากอ่านหรือฟังชื่อแบรนด์แล้วเข้าใจทันที ว่าแบรนด์นี้เกี่ยวข้องกับอะไร
- สื่อถึงค่านิยม ความเชื่อ ทิศทาง และวิสัยทัศน์ของแบรนด์
- เหมาะสมกับ Brand Positioning และ Product Positioning ที่กำหนดไว้
ตัวอย่างของการตั้งชื่อแบรนด์ เช่น
- แบรนด์ Apple
เป็นชื่อแบรนด์ที่สั้น กระชับ เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญคือจดจำง่าย เพราะเป็นชื่อของผลไม้ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก
นอกจากนี้ ชื่อของ Apple ยังมีแนวคิดเบื้องหลังที่น่าสนใจ เพราะจริง ๆ แล้วที่มาของชื่อ เกิดจากแอปเปิล เป็นผลไม้ที่ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ชื่นชอบ
และคำว่า Apple ยังเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว A ทำให้แบรนด์ Apple จะเป็นชื่อลำดับแรก ๆ ในสมุดหน้าเหลือง ซึ่งใช้สำหรับการหาที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ของธุรกิจต่าง ๆ ในอดีต
- แบรนด์ Netflix
คำว่า Net ที่มาจากคำว่า Internet และ Flix ที่มาจากคำว่า Flicks ซึ่งเป็นศัพท์สแลงของคำว่า Movies และ Film
ชื่อแบรนด์ Netflix จึงหมายถึง บริการการดูภาพยนตร์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งสื่อสารออกมาแล้วเข้าใจทันทีว่า Netflix คืออะไร รวมถึงเป็นชื่อแบรนด์ที่สั้น กระชับ และจดจำได้ง่าย
2. ตราสัญลักษณ์ (Logo)
เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญไม่แพ้ชื่อแบรนด์ เพราะโลโกเป็นการสร้าง Brand Identity ผ่านการมองเห็นเป็นหลัก
โดยโลโกของแบรนด์นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นตัวอักษร ข้อความ รูปภาพ หรือรูปทรง นำมาผสมกัน
หน้าที่ของโลโก คือ การสร้างความน่าจดจำให้กับแบรนด์ จากการมองเห็นในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลโกที่อยู่บนตัวสินค้า แพ็กเกจจิง เว็บไซต์ หน้าร้าน หรือสื่อประชาสัมพันธ์ของแบรนด์
หากแบรนด์ออกแบบโลโกได้ดี ก็จะยิ่งทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ซึ่งหลักสำคัญของการออกแบบโลโกที่ดี ก็คือ ความเรียบง่าย ไม่มีองค์ประกอบที่ยุ่งยากและซับซ้อน และที่สำคัญต้องมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ
ตัวอย่างของการออกแบบโลโกของแบรนด์ เช่น
- แบรนด์ Apple
โลโกของ Apple มีความเรียบง่าย ไม่มีองค์ประกอบที่ดูยุ่งยากหรือซับซ้อน มีเพียงรูปผลแอปเปิลที่ถูกกัดจนแหว่ง ในโทนสีขาว-ดำ
ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถจดจำโลโกของ Apple ได้ ในเวลาอันรวดเร็ว
3. การเลือกใช้สี (Color Scheme)
สี เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการสร้าง Brand Identity ผ่านการมองเห็น ไม่ต่างจากโลโก
เพราะหน้าที่ของสีคือ การกระตุ้นการจดจำ สร้างอารมณ์และความรู้สึก สร้างความเป็นเอกลักษณ์ และความแตกต่างให้กับแบรนด์ รวมถึงยังใช้เพื่อสื่อสารตัวตนหรือลักษณะที่แบรนด์เป็น ผ่านสีได้อีกด้วย
โดยแบรนด์ควรเลือกใช้ชุดสีเดียวกันสำหรับการสร้าง Brand Identity อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาโทนสีของแบรนด์ ให้คนจดจำได้
ซึ่งสีแต่ละสี จะมีความหมาย หรือสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น
สีเหลือง แสดงถึง ความสดใส ร่าเริง ความอบอุ่น และความคิดสร้างสรรค์
สีแดง แสดงถึง ความตื่นเต้น การกระตุ้นพลัง และความรู้สึกหิว
สีฟ้า แสดงถึง ความมั่นคง ปลอดภัย และสติปัญญา
สีเขียว แสดงถึง ความเป็นธรรมชาติ ความสงบ และความสดชื่น
ตัวอย่างของการเลือกใช้สีของแบรนด์ต่าง ๆ เช่น
- แบรนด์ Apple
เลือกใช้โทนสีขาว-ดำ ในการออกแบบองค์ประกอบหลักของเว็บไซต์ เช่น เมนู และข้อความอธิบายรายละเอียดของสินค้า
นอกจากจะสื่อถึงความเรียบง่ายในการออกแบบแล้ว ยังสร้างความรู้สึกหรูหรา และพรีเมียม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ Apple อีกด้วย
รวมถึง Apple ยังมีการเลือกใช้สีอื่น ๆ ที่มีความสดใส เช่น สีฟ้า สีเขียว สีชมพู ซึ่งเป็นสีของสินค้า Apple บางชนิด มาตัดกับสีขาว-ดำของเว็บไซต์ เป็นการช่วยเพิ่มความโดดเด่น ไม่ให้เว็บไซต์ดูจืดชืดจนเกินไป และเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวสินค้าที่มีสีสันสดใสได้อีกด้วย
- แบรนด์ Starbucks
เลือกใช้สีเขียวในหลากหลายโทน เพื่อสื่อสารถึงความเป็นธรรมชาติ ความสดใหม่ของกาแฟ และความเป็นมิตร ที่เชื้อเชิญให้คนเดินเข้ามาในร้านของ Starbucks
4. รูปทรง (Shape)
พูดถึงคำว่า “รูปทรง” หลายคนอาจจะนึกถึงรูปทรงที่อยู่ในโลโกของแบรนด์ แต่จริง ๆ แล้ว ในการสร้าง Brand Identity มีการใช้รูปทรงต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบหน้าร้าน ป้ายโฆษณา ป้ายเมนูอาหาร ป้ายแสดงข้อมูล ตัวสินค้า หรือแพ็กเกจจิง ไปจนถึงสื่อออนไลน์ที่แบรนด์ใช้สื่อสารการตลาด
โดยรูปทรงแต่ละประเภท จะสร้างอารมณ์และความรู้สึก ให้กับผู้ที่พบเห็นได้แตกต่างกัน เช่น
- ทรงกลม ให้ความรู้สึกเป็นมิตร ความกลมกลืน ความอบอุ่น ความหลากหลาย
- สี่เหลี่ยม ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ และความเป็นมืออาชีพ
- สามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกตื่นเต้น มีชีวิตชีวา
- เส้นโค้ง ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ความคิดสร้างสรรค์ และความหรูหรา
ดังนั้น แบรนด์ก็สามารถนำหลักการเหล่านี้ไปใช้กับการเลือกรูปทรงต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงตัวตนของแบรนด์ตามที่ต้องการได้
ตัวอย่างการออกแบบรูปทรงของแบรนด์ เช่น
- แบรนด์ Apple มีการออกแบบโดยใช้เส้นโค้งในหลายองค์ประกอบ ทั้งในการออกแบบสินค้า เช่น iPhone, iPad และ MacBook รุ่นต่าง ๆ ที่เรามักเห็นเส้นขอบที่มีความโค้งมนของสินค้าเหล่านี้
รวมถึงการออกแบบ UI ต่าง ๆ ที่อยู่บนหน้าจอ ที่มักมีเส้นโค้งเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ เช่น เมนู ไอคอน หรือกล่องข้อความแจ้งเตือนที่อยู่บนหน้าจอ Lock Screen
5. รูปภาพ (Imagery)
การเลือกใช้รูปภาพ หรือกราฟิกต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง Brand Identity เพราะรูปภาพเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน หรือเอกลักษณ์ ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารไปยังลูกค้า
ซึ่งการเลือกใช้รูปภาพที่ดีนั้น มีหลักการอยู่คร่าว ๆ คือ ควรเลือกใช้รูปให้มีความสม่ำเสมอกัน จนเป็นสไตล์ หรือเอกลักษณ์ของแบรนด์ ที่ลูกค้าจดจำได้
เช่น หากแบรนด์เลือกใช้รูปภาพที่คุมโทนสีขาว-ดำ ก็ควรเลือกใช้รูปภาพในสไตล์เดียวกันในทุก ๆ สื่อที่แบรนด์ลง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนลูกค้าจดจำไม่ได้
ตัวอย่างการเลือกใช้รูปภาพของแบรนด์ เช่น
- แบรนด์ Apple
เลือกใช้รูปภาพที่มีสีสันสดใส มี Contrast จัด ในการออกแบบ ทั้งการเลือกใช้รูปภาพบนบัญชี Instagram และการเลือกใช้รูปภาพบนเว็บไซต์ของ Apple ให้ตัดกับโทนสีขาว-ดำ ที่ Apple ใช้เป็นโทนสีหลัก
เป็นการช่วยเพิ่มความโดดเด่น ความคมชัด และความมีมิติ ให้กับรูปภาพต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นรูปภาพที่ถ่ายโดย iPhone เพื่อนำเสนอความสามารถของสินค้าของ Apple นั่นเอง
- แบรนด์ Starbucks
เน้นการใช้รูปภาพ หรือกราฟิกที่มีความสดใส ใช้สีสันที่ตัดกัน เพื่อสร้างความโดดเด่น จนเป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าจดจำได้
โดย Starbucks มีหน้าเว็บไซต์ที่ระบุแนวทางการใช้รูปภาพ หรือกราฟิกต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://creative.starbucks.com/illustration/
6. ตัวอักษร (Typography)
การเลือกใช้ฟอนต์ มีความสำคัญไม่แพ้การออกแบบโลโกของแบรนด์ เพราะเป็นการสร้าง Brand Identity ผ่านการมองเห็นเช่นกัน
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฟอนต์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยที่ฟอนต์แต่ละประเภท มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ฟอนต์แบบ Serif หรือฟอนต์แบบมีเชิง (มีขีดยื่นออกมาที่ปลายตัวอักษร) มีความเป็นทางการ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ
- Sans Serif หรือฟอนต์แบบไม่มีเชิง ช่วยสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย
- Script หรือฟอนต์แบบตัวเขียน ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูหรูหรา มีเอกลักษณ์
- Display หรือฟอนต์ประดิษฐ์ ช่วยสร้างความมีเอกลักษณ์ และสร้างสรรค์
ตัวอย่างของฟอนต์ที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ ก็อย่างเช่น
- Apple ใช้ฟอนต์ที่ชื่อว่า San Francisco ซึ่งเป็นฟอนต์ที่ Apple ออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนสินค้าของตัวเองโดยเฉพาะ
- Netflix ใช้ฟอนต์ที่ชื่อว่า Bebas Neue
- Calvin Klein ใช้ฟอนต์ที่ชื่อว่า ITC Avant Garde Gothic
- ZARA ใช้ฟอนต์ที่ชื่อว่า Didot
- Disney ใช้ฟอนต์ที่ชื่อว่า Waltograph ซึ่งเป็นฟอนต์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับ Disney
7. สโลแกน (Slogan) หรือแท็กไลน์ (Tagline)
สโลแกน คือ ข้อความ หรือประโยคสั้น ๆ ที่ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ รวมถึงช่วยสื่อสารตัวตนของแบรนด์ ให้ลูกค้ารับรู้ เป็นคำติดหูที่ลูกค้าจดจำได้ และทำให้นึกถึงแบรนด์ในทันทีที่ได้ยิน
โดยสโลแกนที่ดี ควรเป็นข้อความ หรือประโยคสั้น ๆ ที่มีลักษณะดังนี้
- เป็นข้อความ หรือประโยคสั้น ๆ ไม่ยาวจนเกินไป
- สะท้อนคุณค่าของแบรนด์
- นำเสนอความแตกต่างระหว่างแบรนด์กับคู่แข่ง
- สร้างความเชื่อมโยงระหว่างลูกค้าเข้ากับแบรนด์
- อยู่เหนือกาลเวลา ไม่เชยง่าย
ตัวอย่างของสโลแกนที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น
- คิดจะดื่มน้ำ ดื่มคริสตัล
- เป้าหมายมีไว้พุ่งชน
- เครื่องฟิต สตาร์ตติดง่าย
- ไร้กลิ่นติดจาน ไร้สารตกค้าง
หรืออย่างแบรนด์ Apple ที่ใช้สโลแกน สำหรับสินค้าแต่ละชิ้น เช่น
- ทรงพลังอย่างล้ำลึก ของ iPhone 16 Pro
- ลอยลำเรื่องความเร็ว ของ iPad Air
- เร็วเหนือเมฆ ของ MacBook Air
8. น้ำเสียงของแบรนด์ (Brand Voice)
คือ การกำหนดบุคลิกของแบรนด์ ที่อยากให้ลูกค้ารับรู้ผ่านการสื่อสารในทุกรูปแบบ เช่น ข้อความที่อยู่บนเว็บไซต์ ป้ายโฆษณา โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Brand Voice ก็คือบุคลิกของแบรนด์ ที่แฝงอยู่ในการสื่อสาร ในทุก ๆ Touch Point ที่ลูกค้าจะได้สัมผัสจากแบรนด์
โดยสิ่งที่ทำให้ Brand Voice สำคัญ ก็เป็นเพราะแบรนด์นั้น เปรียบเสมือนคนคนหนึ่ง
และคนคนนั้นจะพูดคุยกับลูกค้าอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจ และจดจำแบรนด์ได้ จึงต้องมีการกำหนด Brand Voice ขึ้นมานั่นเอง
โดยที่ Brand Voice จะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ แล้วแต่แบรนด์จะกำหนดขึ้น เช่น
- อบอุ่น ใจดี เป็นมิตร
- ตลก สนุกสนาน
- เรียบหรู ดูแพง อยู่เหนือกาลเวลา
- ใจดี มีเมตตา ชอบให้ความช่วยเหลือ
- เป็นผู้นำเทรนด์ ไม่ทำตามใคร
ตัวอย่างของการกำหนดน้ำเสียงของแบรนด์ เช่น
- แบรนด์ Apple
เป็นแบรนด์ที่กำหนดน้ำเสียง ให้ลูกค้ารู้สึกว่า Apple เป็นคนที่มีบุคลิกเท่ ๆ เรียบง่าย มั่นใจ ชอบคิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ
- แบรนด์ Coca-Cola
เป็นแบรนด์ที่กำหนดน้ำเสียง ให้ลูกค้ารู้สึกว่า Coca-Cola เป็นแบรนด์ที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย และให้ความรู้สึกสดชื่น
ทั้งหมดนี้ คือ 8 องค์ประกอบที่ต้องมีในการสร้าง Brand Identity เพื่อทำให้แบรนด์มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากคู่แข่ง และทำให้ลูกค้าจดจำได้
ซึ่ง Brand Identity ที่ชัดเจน มีความสำคัญไม่แพ้การทำการตลาด
เพราะหากลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาส ให้การตลาดของแบรนด์ประสบความสำเร็จ และทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นในระยะยาว
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.