อธิบาย Brand Identity Prism เครื่องมือสร้างแบรนด์ ให้ลูกค้าอยากซื้อ ด้วย 6 องค์ประกอบ

อธิบาย Brand Identity Prism เครื่องมือสร้างแบรนด์ ให้ลูกค้าอยากซื้อ ด้วย 6 องค์ประกอบ

24 ส.ค. 2024
เมื่อพูดถึงการสร้างแบรนด์ หลายคนน่าจะนึกถึงการทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก มีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่จดจำในมุมของลูกค้า
และในหลาย ๆ ครั้ง การสร้างแบรนด์ ก็ถูกนำไปผูกติดอยู่กับการออกแบบโลโก และแพ็กเกจจิง ให้มีความสวยงาม มีสโลแกนเท่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็จำได้
แต่ในความจริงแล้ว การจะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้นั้นมีองค์ประกอบมากกว่านี้
หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้ คือเครื่องมือที่เรียกว่า Brand Identity Prism
แล้ว Brand Identity Prism คืออะไร เราจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ในโพสต์นี้..
- Brand Identity Prism คือ เครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ คิดค้นขึ้นโดย Jean-Noel Kapferer ซึ่งเป็นนักการตลาดชาวฝรั่งเศส ในช่วงปี 1986
โดย Brand Identity Prism จะประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบสำคัญด้วยกัน ได้แก่
1. Physique รูปลักษณ์หน้าตาของแบรนด์
ตรงตามชื่อขององค์ประกอบเลย เพราะ Physique คือเรื่องทางกายภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากสายตาของลูกค้า
เช่น โลโก สี ฟอนต์ การออกแบบสินค้า เว็บไซต์ แพ็กเกจจิง
เป็นเหมือนหน้าตาของแบรนด์ที่ลูกค้าจะมองเห็นแบบเดียวกับ First Impression
โดยที่เรื่อง Physique นี้ มีสิ่งที่ต้องคิดก็คือ เราอยากจะให้แบรนด์มีลักษณะอย่างไร อยากให้ลูกค้าเห็น รับรู้ หรือรู้สึกอย่างไรจาก Physique ซึ่งเป็นเหมือนลักษณะภายนอกของแบรนด์เรา
2. Personality แครักเตอร์ของแบรนด์
คือบุคลิก ลักษณะ แครักเตอร์ของแบรนด์ ที่ใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า และลูกค้าเองก็รับรู้ได้ว่าแบรนด์เป็นคนที่มีบุคลิกแบบไหน
เช่น จริงจัง สนุกสนาน เป็นมิตร ทางการ อ่อนโยน หรืออบอุ่น
โดยการกำหนดบุคลิกของแบรนด์ก็ทำได้ไม่ยาก
โดยใช้หลักคิดที่ว่า หากแบรนด์ของเราเป็นคนที่มีชีวิต เราอยากจะให้แบรนด์ของเราเป็นคนแบบไหน ในมุมมองของลูกค้า
3. Culture วัฒนธรรมของแบรนด์
เป็นปัจจัยภายในในการสร้างแบรนด์ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย เรื่องราวของแบรนด์ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ค่านิยม ความเชื่อ คุณค่าหรือสิ่งที่แบรนด์ของเรายึดถือ วิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีในการทำธุรกิจ
ซึ่งวัฒนธรรมที่ว่านี้ แม้จะเป็นปัจจัยที่อยู่ภายใน แต่จริง ๆ แล้วคนที่อยู่ภายนอกอย่างเช่นลูกค้า
ก็สามารถมองเห็นได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความรู้สึกในเชิงบวก หรือเชิงลบ ในมุมมองของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ได้เช่นกัน
4. Relationship ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
ไม่ใช่การมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบของ “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย”
แต่ความสัมพันธ์นี้ยังหมายถึงการกำหนดความสัมพันธ์ที่แบรนด์ต้องการมีต่อลูกค้า เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์
เช่น การมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย มีความเป็นคนในสังคมเดียวกัน เป็นเหมือนเพื่อนหรือคนในครอบครัว
นอกจากนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง ความสัมพันธ์ยังหมายถึงการสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ในระยะยาว
ผ่านบริการหลังการขาย การให้ความช่วยเหลือ การจัดกิจกรรม หรือการให้ลูกค้าสมัครสมาชิกของแบรนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างความผูกพันได้ในระยะยาวอีกด้วย
5. Self-Image
คือภาพลักษณ์ที่ลูกค้ามองตัวเอง ว่าเป็นคนแบบใด มีลักษณะอย่างไร เป็นปัจจัยภายนอกของการสร้างแบรนด์
องค์ประกอบในข้อนี้คือ การที่แบรนด์จำลองว่าลูกค้าคนนั้น เป็นคนแบบใด มีลักษณะอย่างไร เมื่อลูกค้าคนนั้นได้ใช้สินค้าของแบรนด์
เช่น ลูกค้าของเราอาจมองว่าตัวเองใช้สินค้าของเราแล้ว เป็นคนเท่ สมาร์ต ทันสมัย
เป็นคนที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ตั้งแต่อายุยังน้อย
หรือเป็นคนเทสต์ดี มีรสนิยมกว่าคนอื่น ๆ
ซึ่งการที่เราเข้าใจว่าลูกค้าของเราเป็นใคร และมีภาพลักษณ์ที่มองตัวเองอย่างไร ก็จะทำให้แบรนด์เข้าใจ และสามารถทำการสร้างแบรนด์ ให้เหมาะสมกับลูกค้าของตัวเองได้
6. Reflection ส่วนกลับของ Self-Image
ในองค์ประกอบข้อสุดท้ายของ Brand Identity Prism นี้ มีลักษณะตรงกันข้ามกับ Self-Image ที่ลูกค้าเป็นฝ่ายมองว่าตัวเองมีภาพลักษณ์ หรือเป็นคนแบบใด เมื่อใช้สินค้าของแบรนด์
แต่ในองค์ประกอบของ Reflection นี้ เป็นการมองจากฝั่งของแบรนด์เองบ้างว่าลูกค้าของตนเองนั้นเป็นใคร เป็นคนกลุ่มใด และมีภาพลักษณ์อย่างไร
ตัวอย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา อาจมองว่าลูกค้าของตัวเอง เป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย ชอบทำกิจกรรมโลดโผน
เรียกง่าย ๆ ก็คล้ายกับกระจกที่สะท้อนว่ากลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการให้ความสำคัญนั้นคือใคร และทำให้แบรนด์สามารถทำการตลาดได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่ตัวเองต้องการ
ซึ่งเมื่อเรานำองค์ประกอบทั้ง 6 ข้อมารวมกัน ก็จะทำให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างรอบด้าน
ทีนี้ เพื่อการทำความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เรามาลองดูตัวอย่างจริง ๆ กันดีกว่าว่า หากเราลองอธิบายอัตลักษณ์ของแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย Brand Identity Prism จะเป็นอย่างไร
- Brand Identity Prism ของ Apple
1. Physique
สิ่งที่เห็นได้จากลักษณะภายนอกของ Apple ก็คือ ความเรียบง่ายของการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี มินิมัล เรียบหรู มีนวัตกรรมใหม่ ๆ
รวมถึงเอกลักษณ์ของโลโก Apple ที่ถูกกัดจนแหว่ง ซึ่งใคร ๆ ก็จดจำได้
2. Personality
หาก Apple เป็นคน จะเป็นคนที่มีบุคลิกเรียบ ๆ คูล ๆ ฉลาด ทันสมัย และคิดนอกกรอบ สังเกตได้จากการสื่อสาร และการทำการตลาดของ Apple ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
3. Culture
วัฒนธรรมของ Apple ดูมีความคิดต่าง คิดนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า รวมถึงให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม
4. Relationship
ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple กับลูกค้า มีความเป็นมิตร เชื่อถือได้ น่าไว้วางใจ มีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกค้าพบกับปัญหา
5. Self-Image
ลูกค้าของ Apple มองว่าตัวเองคือผู้ที่โดดเด่น มีความแตกต่าง เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานที่ต้องใช้ความครีเอทิฟ เป็นผู้นำเทรนด์
6. Reflection
Apple มองว่าลูกค้าของตัวเอง คือคนที่ใช้สินค้าของ Apple เพื่อยกระดับการใช้ชีวิต ทำให้การใช้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่ มีเสรีทางความคิด และเป็นคนพิเศษสำหรับแบรนด์
ทั้งหมดนี้ คือ Brand Identity Prism เครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์และนักการตลาด สามารถสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่ง จากทั้ง 6 ปัจจัยรอบด้าน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.