สรุป 5 ไอเดียทำ Low-Cost Marketing การตลาดต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลมาก

สรุป 5 ไอเดียทำ Low-Cost Marketing การตลาดต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลมาก

26 ต.ค. 2024
1. User Generated Content หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UGC
โดยปกติแล้ว การตลาดคือ การที่แบรนด์ทำแคมเปญ สร้างคอนเทนต์ เพื่อโปรโมตให้ลูกค้ารู้จักสินค้า
แต่ UGC มีแนวทางตรงข้ามกันคือ แทนที่แบรนด์จะโปรโมตสินค้าเอง กลับเป็นลูกค้าเข้ามาช่วยสร้างคอนเทนต์พูดถึงแบรนด์
ไม่ว่าจะเป็น บทความ วิดีโอ คลิปสั้น รีวิว แล้วเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางออนไลน์
ซึ่งข้อดีของกลยุทธ์นี้คือ การที่ลูกค้าเข้ามารีวิว หรือแนะนำสินค้าด้วยตัวเอง จะมีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ มากกว่าการที่แบรนด์ออกมาบอกเองว่าสินค้าดีอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ UGC จึงเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยที่แบรนด์แทบไม่ต้องเสียงบโฆษณาด้วยตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น
- การที่ลูกค้าเข้ามารีวิวสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Facebook, Instagram, Shopee, Lazada หรือแม้แต่บน Google Maps
- GoPro ที่ทำ UGC ร่วมกับ Hashtag Marketing
ให้ลูกค้าเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ภาพถ่าย วิดีโอต่าง ๆ ที่ถ่ายด้วยกล้อง GoPro ผ่าน #GoPro บนโซเชียลมีเดีย
2. Guerrilla Marketing
หรือมีอีกชื่อว่า การตลาดแบบกองโจร เป็นกลยุทธ์ที่คิดขึ้นโดยคุณ Jay Conrad Levinson ในปี 1984
การตลาดแบบกองโจร คือหนึ่งในการตลาดต้นทุนต่ำ ที่เน้นใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความประหลาดใจ ความแปลกใหม่ มาดึงดูดความสนใจให้กับผู้ที่พบเห็น
และด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่นี้เอง จึงมักทำให้การตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และมักจะเกิดกระแสการบอกต่อบนโซเชียลมีเดีย ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ (Brand Awareness) ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งการตลาดแบบกองโจร มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น
- Viral Marketing การที่แบรนด์เน้นสร้างคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดการแชร์ต่อในโลกโซเชียล หรือบอกปากต่อปาก จนแบรนด์ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง
เช่น Burger King ในไทย ที่เคยออกเมนูสุดสร้างสรรค์อย่าง “Real Cheese Burger” เป็นเบอร์เกอร์ชีส 20 แผ่น ซึ่งไม่เคยมีแบรนด์ไหนทำมาก่อน
ด้วยความสร้างสรรค์นี้เอง จึงทำให้เมนูนี้กลายเป็นไวรัล และเป็นที่พูดถึงทั้งในไทยและต่างประเทศ
- Stealth Marketing คือ การแอบโปรโมตสินค้าแบบเนียน ๆ กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม โดยไม่ให้ผู้บริโภครู้ตัวว่ากำลังถูกโฆษณา
เช่น การส่งหน้าม้า หรือที่ภาษาการตลาดเรียกว่า “Seeding” ไปตั้งข้อสงสัย ตอบคอมเมนต์ หรือรีวิวสินค้าบนโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกระแสว่า สินค้ากำลังเป็นที่พูดถึง หรือกำลังเป็นที่นิยม
หรืออย่างกรณีของ ยาคูลท์
คงไม่ผิดหากจะบอกว่า สาวยาคูลท์ เปรียบเสมือนเป็น “พรีเซนเตอร์” ของแบรนด์ ซึ่งไม่ว่าสาวยาคูลท์จะไปที่ไหน ก็เหมือนเป็นการโปรโมตแบรนด์และสินค้าไปในตัว
3. Referral Program
หมายถึง โปรแกรมส่งเสริมการตลาด ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเก่าบอกต่อสินค้าหรือแบรนด์ให้ลูกค้าใหม่ ซึ่งอาจจะเป็น เพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ได้รู้จัก
ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็มีหลักการเดียวกับ UGC คือ การที่เพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จัก แนะนำสินค้าให้ จะดูน่าเชื่อถือมากกว่าการรู้จักกับสินค้านั้น ๆ ผ่านทางโฆษณา
ทำให้บางครั้งการแนะนำแบบ Referral Program จึงมักได้ผลดีกว่าการโฆษณา โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงเท่าไรนัก
แต่อาจทำแค่มอบของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มอบส่วนลด 10% หรือมอบเครดิตเงินสำหรับใช้จ่ายครั้งถัดไป เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าเก่าช่วยบอกต่อให้ก็เพียงพอแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น
- แอปพลิเคชันด้านการเงินการลงทุน Dime! ในเครือธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่มี Referral Program ด้วยการมอบ Dime! Lucky หุ้นสหรัฐอเมริกา ในราคา 50 บาท ให้กับลูกค้าเก่าที่สามารถเชิญลูกค้าใหม่ให้เข้ามาสมัครใช้งานได้
4. Sampling
หมายถึง การแจกสินค้าทดลอง นอกจากจะทำให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทดลองสินค้าด้วยตัวเองโดยตรง ทำให้รับรู้ได้ว่า สินค้าดีหรือไม่ดีอย่างไร
ซึ่งถ้าหากลูกค้าทดลองแล้วพบว่า สินค้าดี ก็จะทำให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้า ช่วยเพิ่มโอกาสการซื้อในอนาคต โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียเงินโปรโมตหรือโฆษณาสินค้าเลย
การแจกสินค้าทดลองให้ได้ประสิทธิภาพ สามารถทำได้หลายวิธี
เช่น
- การเลือกแจกสินค้าใหม่ อาจมาแบบไซซ์ทดลอง ให้กับลูกค้าเก่า ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เปิดใจให้กับแบรนด์อยู่แล้ว
- การเลือกแจกสินค้าทดลองในบริเวณที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่เยอะ
อย่างถ้าแบรนด์มีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ก็ควรเลือกแจกใกล้ ๆ ย่านที่มีสำนักงานตั้งอยู่เยอะ หรือตาม BTS, MRT ในช่วงเช้าก่อนเข้างาน ช่วงพักกลางวัน หรือช่วงเย็นหลังเลิกงาน
5. CEO Branding
เชื่อว่า หลาย ๆ คนคงรู้จัก
- คุณอีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla
- คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ของ Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram
ซึ่งไม่ว่า คุณอีลอน มัสก์ หรือ คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะออกมาพูดหรือโพสต์อะไรบนโซเชียลมีเดีย ก็มักได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
การที่ CEO เป็นที่รู้จัก จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ และเป็นที่สนใจในสังคม ในทางทฤษฎีการตลาดเรียกว่า “CEO Branding”
ซึ่งกลยุทธ์นี้ มีข้อดีคือ แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณ ในการจ้างพรีเซนเตอร์เพื่อโปรโมตแบรนด์อีกต่อไป
แถมการสร้าง CEO Branding ยังช่วยให้แบรนด์ดูจริงใจและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นด้วย
แต่กลยุทธ์ CEO Branding ก็มีความเป็นดาบสองคมเหมือนกัน
เช่น ถ้า CEO เกิดทำอะไรหรือพูดอะไรที่เป็นกระแสแง่ลบต่อสังคม ก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือสินค้า ถูกมองไม่ดีตามไปด้วยก็ได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.