สรุป 15 คำศัพท์ ตัวชี้วัดการตลาด Influencer Marketing ที่นักการตลาดและครีเอเตอร์ ต้องรู้

สรุป 15 คำศัพท์ ตัวชี้วัดการตลาด Influencer Marketing ที่นักการตลาดและครีเอเตอร์ ต้องรู้

4 พ.ย. 2024
ขั้นที่ 1 Top of Funnel คือ ตัวชี้วัดที่เน้นการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness)
1. Impression & Reach
Impression คือ จำนวนครั้งที่โพสต์ถูกแสดง (นับการมองเห็นซ้ำ)
Reach คือ จำนวนคนที่เห็นโฆษณา (ไม่นับซ้ำบัญชีเดิม)
_______________________
2. Cost Per Mile (CPM)
คือ ต้นทุนต่อการแสดงโฆษณา 1,000 ครั้ง มีสูตรการคำนวณคือ
CPM = (ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา / Impression) x 1,000
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น เรามีงบโฆษณา 10,000 บาท สร้างการแสดงผลโฆษณาได้ 100,000 ครั้ง จะได้
CPM = (10,000 / 100,000) x 1,000 = 100
ซึ่งความหมายก็คือ แบรนด์มีต้นทุน 100 บาท ต่อการแสดงผลโฆษณาทั้งหมด 1,000 ครั้ง
_______________________
3. Earned Media Value (EMV)
คือ มูลค่าที่เกิดขึ้นจากสื่ออื่นที่พูดถึงแบรนด์ของเรา โดยเราไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งมักเกิดจากการพูดกันแบบปากต่อปาก การรีวิว หรือการพูดถึงจากสื่ออื่น ๆ
โดยสูตรการคำนวณคือ EMV = จำนวนการแสดงผลทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้น x CPM
ซึ่ง Cost Per Mile (CPM) ที่ใช้ในการคำนวณ จะเป็นการประมาณเบื้องต้น ตามค่าเฉลี่ยของมูลค่าสื่อในแต่ละแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม การวัดผลด้วย EMV ก็มีข้อจำกัดคือ เก็บข้อมูลให้ครบถ้วนได้ลำบาก จึงวัดผลจริงได้ยาก
_______________________
4. Follower Growth
ยอดการเติบโตของผู้ติดตาม เป็นตัวชี้วัดสำคัญของแบรนด์ว่า หลังจากทำ Influencer Marketing แล้ว
มีคนสนใจในคอนเทนต์และสินค้าของเราเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนทำแคมเปญ
ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ คือคนที่มีโอกาสจะกลายเป็นลูกค้าในภายหลังได้
โดยส่วนใหญ่แล้ว Follower Growth จะคำนวณเป็นจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นแบบตรง ๆ เปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาที่กำหนดเลยก็ได้
หรือจะคำนวณจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นได้จากสูตร Follower Growth Rate
Follower Growth Rate = [(จำนวนผู้ติดตามหลังการทำแคมเปญ - จำนวนผู้ติดตามก่อนการทำแคมเปญ) / จำนวนผู้ติดตามก่อนการทำแคมเปญ] x 100
ตัวอย่างการคำนวณ ก่อนทำแคมเปญ Influencer Marketing บัญชี Instagram ของแบรนด์มีผู้ติดตาม 100,000 คน แต่หลังจากทำแคมเปญไปแล้วมีผู้ติดตามเพิ่มเป็น 145,000 คน
Follower Growth Rate เท่ากับ [(145,000 - 100,000) / 100,000] x 100 = 45%
ซึ่งความหมายก็คือ แบรนด์มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการทำแคมเปญ
_______________________
5. Total Number of Influencer Followers
จำนวนผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ แสดงถึงขนาดและศักยภาพของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ของอินฟลูเอนเซอร์ที่แบรนด์ร่วมงานด้วย ยิ่งมีผู้ติดตามมาก ก็ยิ่งสามารถสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ได้มากขึ้น
________________________
ขั้นที่ 2 Middle of Funnel คือ ตัวชี้วัดที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ (Engagement)
6. Engagement
คือ ยอดการมีส่วนร่วมของผู้ชมคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการกด Like, Comment, Share และการกด Save
ยิ่งอินฟลูเอนเซอร์มียอดเอนเกจเมนต์สูง แสดงว่าผู้ติดตามมีส่วนร่วมกับครีเอเตอร์หรือแบรนด์สูงตามไปด้วย
________________________
7. Brand Mentions
คือ การกล่าวถึงแบรนด์จากผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องหมาย # (Hashtag),
การใช้เครื่องหมาย @ (Mention) หรือการพูดถึงแบรนด์ผ่านการโพสต์ หรือคอมเมนต์ในคอนเทนต์ต่าง ๆ
ซึ่งข้อมูลจากคอมเมนต์เป็นข้อมูลอินไซต์ที่มีคุณค่ามาก เพราะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ข้อมูลเชิงปริมาณ ที่เราต้องนำไปวิเคราะห์ต่ออีกทอดหนึ่งก่อน แต่สามารถนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงแบรนด์ของเราได้ทันที
โดยการรวบรวมการพูดถึงแบรนด์บนสื่อออนไลน์ก็สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือ Social Listening Tools และ Brand Monitoring Tools
_________________________
8. Click-Through Rate (CTR) - Web Traffic
คือ ตัวเลขที่บอกว่า คนที่เห็นโฆษณาหรือคอนเทนต์ มีอัตราการคลิกเข้ามาดูมากน้อยแค่ไหน
มีสูตรคำนวณคือ CTR = (จำนวนครั้งที่คลิก / Impression) x 100
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น โฆษณาของเราแสดงผลบนหน้าเซิร์ช Google 1,000 ครั้ง มีคนกดเข้าไปในผลการค้นหานั้น 40 ครั้ง
แสดงว่า CTR เท่ากับ (40 / 1,000) x 100 = 4%
ซึ่งความหมายก็คือ ทุกการแสดงโฆษณาบนหน้าเซิร์ช Google 100 ครั้ง จะมีคนกดเข้ามาอ่าน 4 ครั้ง
________________________
9. Google Search Volume
คือ ปริมาณการค้นหาผ่าน Google ด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ของเรา ถ้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกได้ว่า มีคนให้ความสนใจแบรนด์ของเรา จนต้องเซิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติม
_________________________
ขั้นที่ 3 Bottom of Funnel คือ ตัวชี้วัดที่เน้นวัดการโต้ตอบที่แบรนด์อยากให้ลูกค้ากระทำ (Conversion)
10. Sales
คือ ยอดขายที่เกิดขึ้นจากแคมเปญนั้น ๆ ซึ่งยอดขายถือเป็นเป้าหมายหลักของกิจกรรมทางการตลาด
โดยคำนวณได้จากสูตร Sales = จำนวนคำสั่งซื้อทั้งหมด x มูลค่าคำสั่งซื้อเฉลี่ย
_________________________
11. Return on Ads Spend (ROAS)
คือ ผลตอบแทนจากโฆษณา มีสูตรคำนวณคือ ROAS = รายได้ที่ได้รับจากการโฆษณา / ต้นทุนจากการโฆษณา
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น ธุรกิจจัดแคมเปญโปรโมตสินค้าใหม่ ได้รายได้กลับมา 100,000 บาท ใช้ต้นทุนทั้งหมด 40,000 บาท โดยในต้นทุนนั้น เป็นค่ายิงโฆษณา 20,000 บาท
จะได้ว่า ROAS เท่ากับ 100,000 / 20,000 = 5 เท่า
ซึ่งความหมายก็คือ เงินโฆษณาที่ลงทุนไป จะได้ผลตอบแทนกลับมา 5 เท่า
____________________________
12. Customer Acquisition Cost (CAC)
คือ ต้นทุนเฉลี่ยในการหาหรือได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ต่อคน โดยไม่นับรวมลูกค้าเก่า
มีสูตรการคำนวณคือ CAC = (ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการขาย / จำนวนลูกค้าใหม่ที่ได้มา)
ตัวอย่างเช่น เราใช้เงินทำแคมเปญหนึ่งทั้งหมด 50,000 บาท ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มมา 500 คน
จะได้ว่า CAC เท่ากับ 50,000 / 500 = 100
ซึ่งความหมายก็คือ เพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่ 1 คน เราต้องจ่ายเงิน 100 บาท
____________________________
13. Customer Lifetime Value (CLTV)
คือ มูลค่าที่ลูกค้าสร้างให้กับแบรนด์ ตลอดระยะเวลาเฉลี่ยการเป็นลูกค้า มีสูตรคำนวณคือ
CLTV = (มูลค่าเฉลี่ยต่อการซื้อสินค้า 1 ครั้ง x จำนวนครั้งที่ซื้อสินค้าโดยเฉลี่ย) x ระยะเวลาเฉลี่ยของการเป็นลูกค้า
ตัวอย่างเช่น แบรนด์มีสถิติของลูกค้า 1 คน คือ ซื้อสินค้าต่อครั้งเฉลี่ย 500 บาท ตลอดเวลาการเป็นลูกค้า มีการซื้อสินค้า 3 ครั้ง และมีเวลาการเป็นลูกค้าเฉลี่ย 2 ปี
จะได้ว่า CLTV เท่ากับ (500 x 3) x 2 = 3,000 บาท
___________________________
14. Average Order Value (AOV)
คือ มูลค่าเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อสินค้า มีสูตรการคำนวณคือ AOV = ยอดขายสินค้าทั้งหมด / จำนวนคำสั่งซื้อ
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น แคมเปญหนึ่งสร้างยอดขายสินค้าทั้งหมด 150,000 บาท และมีคำสั่งซื้อเข้ามา 1,000 ออร์เดอร์
จะได้ว่า AOV เท่ากับ 150,000 / 1,000 = 150 บาท
ซึ่งความหมายก็คือ ใน 1 คำสั่งซื้อของแบรนด์ จะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 150 บาท
_____________________________
15. Conversion Rate
คือ อัตราการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเป้าหมายมาเป็นลูกค้าที่ทำตามเป้าหมายที่แบรนด์ตั้งไว้ เช่น สมัครสมาชิก, คลิกปุ่ม Call to Action หรือลิงก์บนเว็บไซต์ หรือซื้อสินค้ากับแบรนด์
โดยสูตรการคำนวณคือ Conversion Rate = (จำนวนการกระทำเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการทั้งหมด / จำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์) x 100
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น มีคนเข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์จำนวน 2,000 คน และมีคนสมัครสมาชิกจำนวน 200 คน
จะได้ว่า Conversion Rate เท่ากับ (200 / 2,000) x 100 = 10%
ซึ่งความหมายก็คือ แบรนด์มีอัตราการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเป้าหมายมาเป็นลูกค้าที่ทำตามเป้าหมายที่แบรนด์กำหนด (Conversion Rate) อยู่ที่ 10%
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.