สรุป 3 ไอเดีย วิธีตั้งราคาสินค้า ให้ธุรกิจมีกำไร และมีแต้มต่อ

สรุป 3 ไอเดีย วิธีตั้งราคาสินค้า ให้ธุรกิจมีกำไร และมีแต้มต่อ

30 มิ.ย. 2024
- Cost-Plus Pricing ตั้งราคาแบบ บวกจากต้นทุน
- Competition-Based Pricing ตั้งราคาแบบ เทียบราคาคู่แข่ง
- Value-Based Pricing ตั้งราคาแบบ ตามมุมมองความคุ้มค่าจากลูกค้า
นี่คือ 3 ไอเดีย วิธีตั้งราคาสินค้า ให้ธุรกิจมีกำไรและมีแต้มต่อ
โดยหลัก ๆ การตั้งราคานั้นมาจากพื้นฐาน 4 อย่าง ได้แก่
- ต้นทุนของสินค้าและบริการ
- ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
- ตำแหน่งทางการตลาดของสินค้า
- คู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมชนิดเดียวกัน
ซึ่งจากพื้นฐานในการตั้งราคาทั้ง 4 อย่างนี้ สามารถกำหนด 3 กลยุทธ์พื้นฐาน ในการตั้งราคา ได้แก่
1. Cost-Plus Pricing ตั้งราคาแบบ บวกจากต้นทุน
หมายถึง การตั้งราคาจากต้นทุน เป็นวิธีที่ตรง ๆ และเข้าใจง่ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำการวิจัยตลาด ทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
โดยเริ่มจากการหาต้นทุนที่ใช้ผลิตสินค้าทั้งหมด คือ ต้นทุนคงที่ + ต้นทุนแปรผัน จากนั้นก็บวกเข้าไปเลยว่าจะเอากำไรเท่าไรจากต้นทุน
แต่ก็มีข้อเสียของวิธีแบบนี้คือ
การตั้งราคาขายด้วยวิธี Cost-Plus Pricing อาจมาจากความต้องการของฝั่งผู้ขายทางเดียว ยังไม่ได้คำนึงถึงความเต็มใจจ่ายของลูกค้า หรือคู่แข่งรายอื่น
ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจร้านอาหาร
- ต้นทุนวัตถุดิบต่อจาน 80 บาท
- ค่าแรงรายวัน หารด้วยจำนวนอาหารที่ขายได้ต่อวัน เฉลี่ย 10 บาท/จาน
- ต้นทุนค่าเช่าที่ หารด้วยจำนวนอาหารที่ขายได้ต่อวัน เฉลี่ย 5 บาท/จาน
- ต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ เฉลี่ย 5 บาท/จาน
หากต้องการกำไร 20% ก็ต้องขายอาหาร เฉลี่ยจานละ 120 บาท
2. Competition-Based Pricing ตั้งราคาแบบ เทียบราคาคู่แข่ง
หมายถึง การตั้งราคาโดยดูราคาผู้ขายรายอื่นเป็นหลัก และตั้งราคาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับคู่แข่ง
แต่ก็มีข้อเสีย เนื่องจากหากเราเลียนแบบราคาของคู่แข่ง จะเท่ากับว่า เราอาจไม่ได้ประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าตนเอง
ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าที่เราถ่ายทอดลงไปในสินค้า ซึ่งอาจส่งผลให้เราติดอยู่ในกับดักการตั้งราคาสินค้าในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ร้านหม่าล่า คิดราคาตามน้ำหนัก
- ร้าน La Meow ราคาขีดละ 45 บาท หากต้องการเนื้อสัตว์ต้องจ่ายเพิ่ม และต้องจ่ายค่าน้ำซุปเพิ่ม
- ร้าน Hot Girl ราคาขีดละ 49 บาท ฟรีน้ำซุป น้ำจิ้ม
- ร้าน Zhang Liang Malatang ราคาขีดละ 49 บาท จ่ายค่าน้ำจิ้ม และค่าน้ำซุปเพิ่ม แต่มีของว่างและไอศกรีมฟรี
จากตัวอย่างร้านหม่าล่าตักเอง ที่นำมาแสดงให้เห็นนี้ จะเห็นได้ว่าราคาต่อขีดจะใกล้เคียงกัน แต่จุดเด่นของแต่ละร้านมีความต่างกัน
3. Value-Based Pricing ตั้งราคาแบบ ตามมุมมองความคุ้มค่าจากลูกค้า
หมายถึง การตั้งราคาโดยการวิจัยและวิเคราะห์เหตุผลจากลูกค้า ว่ามีความต้องการจ่ายเท่าไร
วิธีนี้อาจยากกว่าวิธีอื่น และบางธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ วิจัย หรือทำแบบสอบถาม
แต่ถ้าทำได้ดี แม่นยำ จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว
ตัวอย่างเช่น เราอาจจะเคยเห็นบางแบรนด์มาตั้งบูท ให้ทดลองใช้สินค้า ให้ลองดูชิ้นงานโฆษณาสินค้า ถามฟีดแบ็ก
และบางแบรนด์จะมีการสอบถามช่วงราคา ว่าราคาประมาณไหนถึงจะโอเค
การทำแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนการถามความเห็นลูกค้า
แต่ข้อดีคือ ได้เช็กฟีดแบ็กตรง ๆ จากลูกค้า ก่อนจะปล่อยสินค้าหรือเอาไปทำการตลาดต่อ
ซึ่งถ้าวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ดี ก็น่าจะช่วยเรื่องการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล คุ้มค่า และมีแต้มต่อในการขายได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.