รวม 4 ไอเดีย เอาไว้ตั้งชื่อแบรนด์ ให้คนจำได้ง่าย ๆ

รวม 4 ไอเดีย เอาไว้ตั้งชื่อแบรนด์ ให้คนจำได้ง่าย ๆ

2 พ.ย. 2024

ว่ากันว่าแบรนด์มีเวลาเพียง “7 วินาที” เท่านั้น ในการสร้างความประทับใจ และสร้างการจดจำให้ลูกค้า
ดังนั้น การที่เรามีชื่อแบรนด์ที่ดี เลยสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ลูกค้าได้เห็น
คุณ Gretta van Riel ที่ปรึกษาด้านธุรกิจชื่อดัง และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ Influencer Marketing
เคยแชร์ไว้ว่า ชื่อแบรนด์ที่ดีจะมีองค์ประกอบและวิธีการตั้งชื่ออยู่หลัก ๆ 4 วิธี ดังนี้
1. ตั้งชื่อแบรนด์ด้วยคำที่คนคุ้นเคย และอ่านตามในหัวได้ง่าย
วิธีนี้อาจจะเอาคำง่าย ๆ ที่คนคุ้นเคย อย่างเช่น ปลาหมึก, มะลิ หรือจะเป็นคำศัพท์สากลอย่าง Apple, Amazon ก็ได้ ขอแค่เป็นคำที่อ่านง่าย และมีจำนวนพยางค์น้อยมาช่วยสร้างเป็นชื่อแบรนด์
ยกตัวอย่างเช่น นมตรามะลิ, น้ำปลาตราปลาหมึก หรือ Café Amazon
โดยการตั้งชื่อด้วยวิธีนี้จะทำให้คนจดจำแบรนด์ และนึกถึงแบรนด์เราได้ง่ายขึ้น
ดีกว่าเอาคำยาก ๆ มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
มีร้านกาแฟร้านหนึ่งอร่อยมากเปิดที่หัวหิน แต่ตั้งชื่อร้านว่า “ลีฬฆวรรณ”
ที่ทั้งอ่านยาก และสะกดยาก แบบนี้คนที่อยากบอกต่อจะทำได้ยาก
อาจจะกลายเป็นว่า บอกต่อชื่อร้านไปแบบผิด ๆ แนว ๆ ว่า “มีร้านกาแฟร้านหนึ่งที่หัวหิน
อร่อยมาก แต่จำชื่อร้านไม่ได้”
ซึ่งทางร้านก็อาจจะพลาดโอกาสในหลาย ๆ มุมจากการตั้งชื่อแบบนี้ได้
2. เอาสินค้าที่จะขายมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อแบรนด์
การตั้งชื่อแบรนด์ให้มีความเชื่อมโยงเล็ก ๆ น้อย ๆ กับสินค้าที่ขายอยู่ หรือตั้งชื่อที่สื่อถึง
สิ่งที่แบรนด์ต้องการส่งมอบให้ลูกค้า จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจธุรกิจของเราง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
- ร้านอาหาร “เนื้อแท้” สื่อถึงวัตถุดิบหลักของทางร้านที่เป็น “เนื้อวัว” แท้ ๆ
- แพลตฟอร์มรวมฟรีแลนซ์ “Fastwork” ที่แปลตรงตัวว่า “งานเร็ว” สื่อถึงธุรกิจของตัวเองที่เป็น
แหล่งรวมของคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ ที่หลายคนนิยมจ้างมาช่วยงานให้เสร็จเร็วขึ้น
โดยการใช้เทคนิคแบบนี้จะช่วยให้ภาพจำของแบรนด์ชัด ว่าเด่นเรื่องไหน ธุรกิจทำอะไร ได้ตั้งแต่อ่านชื่อ
แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ถ้าธุรกิจมีการแตกไลน์สินค้าประเภทใหม่ ๆ ก็อาจจะทำให้ลูกค้าไม่ชิน
และเปิดใจให้สินค้าใหม่ของเราได้ยาก
ยกตัวอย่างเคสของ Dunkin' Donuts ที่หลายคนมีภาพจำว่าเป็นแบรนด์ขายโดนัท
เลยต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ ด้วยการตัดคำว่า “Donuts” ออกจากชื่อแบรนด์ เหลือแค่ Dunkin' เพื่อให้แบรนด์สามารถขายสินค้าได้หลากหลายขึ้น
3. ตั้งชื่อแบรนด์ให้น่าสงสัย
วิธีนี้คือให้ตั้งชื่อแบรนด์ให้สะดุดตา หรือตั้งชื่อแบรนด์ให้คนสงสัยได้เยอะ ๆ
ข้อนี้คุณ Gretta ได้ยกตัวอย่างร้านชาเพื่อสุขภาพของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า “SkinnyMe Tea” ที่ประสบความสำเร็จระดับที่มียอดขายเกิน 10 ล้านแก้ว
โดยที่มาของชื่อแบรนด์ คือการเอาคำว่า “SkinnyMe” ที่สื่อความหมายว่า “ผอม หรือผอมลง”
มาใช้คู่กับคำว่า “Tea” หรือ “ชา” ที่เป็นสินค้าหลักของแบรนด์
ทำให้คนที่เห็นชื่อแบรนด์แบบนี้ จะเกิดความสงสัยในใจว่า “ชาจะทำให้ผอมลงได้อย่างไร ?”
พอเป็นแบบนี้ คนจะเปิดใจทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของแบรนด์ และเข้าใจฟังก์ชันสินค้าได้ง่ายขึ้น
กลยุทธ์แบบนี้จะเหมาะมากกับแบรนด์ที่มีการทำ Storytelling หรือการเอาเรื่องราวมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้า
ซึ่งเคสนี้จะคล้าย ๆ กับการตั้งชื่อแบรนด์ร้านสลัด “โอ้กะจู๋” ที่เรียกความสนใจได้ดี แถมยังช่วยให้คนอยากทำความรู้จักแบรนด์ว่า ทำไมร้านสลัดถึงต้องตั้งชื่อแบบนี้ ?
4. ตั้งชื่อให้ยืดหยุ่น และสามารถเอาไปใส่ในสินค้าได้
ข้อนี้อาจจะไม่ใช่เคล็ดลับตั้งชื่อตรง ๆ แต่เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเวลาจะตั้งชื่อแบรนด์
- ชื่อแบรนด์ไม่ควรตั้งชื่อตามกระแส ควรมองระยะยาวมากกว่า
ถ้าเทรนด์อาหารคีโตกำลังมาแรง แล้วเราดันไปตั้งชื่อแบรนด์แนว ๆ ว่า “The Keto”
หมายความว่า ถ้าเทรนด์อาหารคีโตเบาลง อาจจะทำให้แบรนด์ดูตกยุคได้ง่าย ๆ ดังนั้นควรเลี่ยงไปใช้ชื่ออื่นที่ไม่ตามกระแสจะดีกว่า..
- ชื่อแบรนด์ควรต้องสามารถเอาไปใส่ “นำหน้าชื่อสินค้า” แล้วเข้ากันได้
ปัจจุบันหลายแบรนด์นิยมเอาชื่อแบรนด์มาใส่นำหน้าชื่อสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างให้สินค้าของตัวเองจากคู่แข่ง แบบง่าย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น McDonald's ชอบตั้งชื่อเมนูตัวเอง ด้วยการใส่ชื่อแบรนด์ไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็น แมคฟิช, บิ๊กแมค, แมคนักเก็ต, แมคไก่ และอีกหลายเมนู
ทำให้หลายคนจำเมนูของ McDonald's ได้ง่ายขึ้น และยังดูแตกต่างจากเมนูเดียวกันของร้านอื่น ๆ ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ซึ่งถ้าเราตั้งชื่อยาก ๆ เราจะไม่สามารถใช้กลยุทธ์แบบนี้ได้

อ่านถึงตรงนี้ ขอปิดท้ายด้วย กรณีศึกษาการตั้งชื่อร้านเจ๋ง ๆ จากภาพไวรัลในวันฮาโลวีน
ที่มีร้านขายชาเย็นตั้งชื่อร้านว่า “อนันต์จะปั่นชาเย็น”
โดยชื่อร้านจะไปคล้ายกับวลีเด็ด “โอมมม อะนันตะปัดชะเย อะปัดติเถเถนา”
จากหนังเรื่องหลวงพี่เท่ง 3 ที่โด่งดังและคนไทยรู้จักเยอะ
ทำให้ร้านกลายเป็นกระแส และโด่งดังในชั่วข้ามคืน ทั้ง ๆ ที่ทางร้านไม่ได้ทำอะไรเยอะเลย
แค่ตั้งชื่อแบรนด์ให้น่าสนใจเท่านั้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.