สรุป 5 อินไซต์ พฤติกรรมคนไทย บนโลกออนไลน์ ที่นักการตลาดควรรู้ ในปี 2024 จาก DataReportal

สรุป 5 อินไซต์ พฤติกรรมคนไทย บนโลกออนไลน์ ที่นักการตลาดควรรู้ ในปี 2024 จาก DataReportal

1 มี.ค. 2024
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา DataReportal แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดิจิทัล เพิ่งรายงานอินไซต์ ทั้งพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต ของทั่วโลกประจำปี 2024
ที่น่าสนใจ ในรายงานยังมีแยกรายละเอียดต่าง ๆ ออกเป็นแต่ละประเทศ
แล้วอินไซต์ ทั้งพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต ของคนไทย ที่นักการตลาดควรรู้ในปีนี้ เพื่อนำไปปรับใช้มีอะไรบ้าง ?
1. พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต
- คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งหมดราว 63.2 ล้านคน คิดเป็น 88% ของประชากรทั้งประเทศ
โดยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต เฉลี่ย 7 ชั่วโมง 58 นาที/วัน โดยแบ่งออกเป็น
ใช้เวลาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟน 5 ชั่วโมง 2 นาที และผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต 2 ชั่วโมง 56 นาที
- คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตไปกับการเซิร์ชข้อมูล
โดยคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหาบน Google มากที่สุดคือ แปล, หนัง, ผลบอล, หวย และแปลภาษา
รองลงมาคือ ติดตามข่าวสาร, ดูคลิปวิดีโอและรายการต่าง ๆ, ค้นหาแรงบันดาลใจ ไอเดียใหม่ ๆ รวมถึงค้นหา How-to ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
- ประเภทคอนเทนต์วิดีโอบนโลกออนไลน์ ที่คนไทยเลือกดูมากที่สุดคือ MV เพลง
รองลงมาคือ คลิปตลก มีม และไวรัล, วิดีโอที่เกี่ยวกับเกม, วิดีโอรีวิวสินค้า และไลฟ์สด
2. พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย
- คนไทยมีบัญชีโซเชียลมีเดีย (บัญชีที่สามารถยืนยันตัวตนได้ และมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป)
รวม 49.1 ล้านบัญชี คิดเป็นราว 68.3% ของประชากรทั้งประเทศ
โดยช่วงอายุที่มีบัญชีโซเชียลมีเดียมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 25-34 ปี รองลงมาคือ 35-44 ปี และ 18-24 ปี
- คนไทยใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียกว่า 2 ชั่วโมง 31 นาที/วัน
โดยใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อติดต่อครอบครัว เพื่อน, ติดตามข่าวสาร และใช้โซเชียลมีเดียเพื่อฆ่าเวลาว่างในแต่ละวัน
- คนไทยมีบัญชีโซเชียลมีเดีย เฉลี่ยคนละ 6 แพลตฟอร์ม
- แพลตฟอร์มที่คนไทยใช้เวลาอยู่ด้วยนานที่สุด คือ
YouTube คิดเป็น 41 ชั่วโมง 28 นาที/เดือน
TikTok คิดเป็น 38 ชั่วโมง 16 นาที/เดือน
Facebook คิดเป็น 24 ชั่วโมง 2 นาที/เดือน
- จำนวนผู้ใช้งานในไทย ของแต่ละแพลตฟอร์ม
(นับเฉพาะบัญชีที่เข้าถึงโฆษณา ตามเกณฑ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ใช้งานที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป)
Facebook มีผู้ใช้งาน 49.1 ล้านบัญชี
TikTok มีผู้ใช้งาน 44.4 ล้านบัญชี
YouTube มีผู้ใช้งาน 44.2 ล้านบัญชี
Instagram มีผู้ใช้งาน 18.8 ล้านบัญชี
X (Twitter) มีผู้ใช้งาน 14.7 ล้านบัญชี
3. การใช้งานแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
- คนไทยมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน (Mobile App) กว่า 2,160 ล้านครั้ง
- คนไทยมียอดการซื้อแอปพลิเคชัน และจ่ายเงินบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ (In-App Purchase) กว่า 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 41,085 ล้านบาท/ปี)
4. อินไซต์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มให้บริการต่าง ๆ
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
คนไทยส่วนใหญ่กว่า 66.9% เลือกซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์
โดยส่วนใหญ่มองว่า การมีคูปองส่วนลด ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รองลงมาคือ ส่งฟรี และมีบริการเก็บเงินปลายทาง
- แพลตฟอร์มเรียกรถ
คนไทยกว่า 13.73 ล้านคน ใช้บริการเรียกรถผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Grab
โดยคิดเป็นมูลค่าการบริการรวมกว่า 1,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46,500 ล้านบาท)
- คนไทย จ่ายเงินค่าบริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งดาวน์โหลดคอนเทนต์ เช่น ดาวน์โหลดภาพยนตร์เพื่อรับชม หรือค่าสมัครสมาชิกรายเดือน (Subscriptions) รวมแล้วกว่า 1,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 42,500 ล้านบาท/ปี)
ยกตัวอย่าง
แพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น Netflix ราว 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,340 ล้านบาท)
แพลตฟอร์มเพลง เช่น Spotify ราว 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,930 ล้านบาท)
5. ช่องทางการทำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
- ช่องทางที่คนไทยใช้เพื่อค้นหาแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากที่สุด คือ การเซิร์ชผ่าน Search Engine อย่าง Google
รองลงมาคือ พบเห็นแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จาก “โฆษณา” บนแอปพลิเคชันต่าง ๆ และโฆษณาผ่านทีวี
ที่น่าสนใจคือ 50.8% ของคนไทย มีการเซิร์ชข้อมูลแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
- ประเทศไทยมียอดค่าโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) ผ่านทางช่องทางการเซิร์ช และโซเชียลมีเดีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 67,100 ล้านบาท)
แบ่งออกเป็น
- โฆษณาผ่านช่องทางการเซิร์ช คิดเป็นมูลค่า 418.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,100 ล้านบาท)
- โฆษณารูปแบบวิดีโอ คิดเป็นมูลค่า 517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,600 ล้านบาท)
- โฆษณารูปแบบแบนเนอร์บนออนไลน์ คิดเป็นมูลค่า 417.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,100 ล้านบาท)
ที่น่าสนใจ โฆษณาบนออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ กำลังเป็นที่นิยม
คิดเป็นมูลค่ากว่า 60.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,170 ล้านบาท) เติบโต 16.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งหมดนี้คือ อินไซต์ ทั้งพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต ของคนไทย ที่นักการตลาดควรรู้ในปีนี้
ซึ่งถ้าถามว่า นักการตลาดจะนำไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ?
ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากแบรนด์ของเราขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย คือ ต้องมีคูปองส่วนลด หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรมีบริการส่งฟรี หรือเก็บเงินปลายทาง
และหากเราอยากโฆษณาสินค้าหรือบริการของเราให้เป็นที่รู้จัก ด้วยรูปแบบวิดีโอ
หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจคือ การทำวิดีโอโปรโมตให้สอดคล้องกับมีมหรือไวรัลที่กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นรูปแบบวิดีโอที่คนส่วนใหญ่สนใจ
ด้วยการนำอินไซต์ง่าย ๆ เหล่านี้ มาต่อยอด
เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้แบรนด์ของเราสามารถทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.