สรุปอินไซต์ TikTok Shop ปี 2024 คอนเทนต์จากอินฟลูฯ ขายสินค้า ได้ดีกว่าคอนเทนต์จากแบรนด์
28 ก.พ. 2024
ในวันนี้ TikTok ได้จัดงาน The Future of Consumer & Commerce โดยมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก ทางด้านความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย และเอเชียแปซิฟิก
MarketThink จะสรุปไฮไลต์ที่น่าสนใจทั้งหมด ให้อ่านกันในโพสต์นี้..
- หมวดหมู่สินค้ายอดนิยม 5 อันดับแรก ของคนไทยบน TikTok Shop และแพลตฟอร์ม Shopertainment อื่น ๆ ได้แก่
อันกับ 1: แฟชั่น และเครื่องประดับ
อันดับ 2: ความงาม และผลิตภัณฑ์ส่วนตัว
อันดับ 3: อาหาร และเครื่องดื่ม
อันดับ 4: อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อันดับ 5: ของใช้ในครัวเรือน
- คอนเทนต์ขายของแบบตรง ๆ เริ่มไม่ได้ผลอีกต่อไป
คอนเทนต์ขายของแบบตรง ๆ เหมือนที่เคยทำกันมานาน เริ่มใช้ไม่ได้ผล กับผู้บริโภคชาวไทยอีกต่อไปแล้ว
จากผลสำรวจของ TikTok พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 88% ได้รับอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้า ด้วยคอนเทนต์ที่ไม่มีการส่งเสริมการขาย
ทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ ก็คือ คอนเทนต์ขายของ ที่มีการบอกราคา หรือโปรโมชั่น โดยตรง ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคชาวไทย ตัดสินใจซื้อสินค้า ได้มากเท่ากับคอนเทนต์ขายของแบบอ้อม ๆ เช่น คอนเทนต์รีวิว จากอินฟลูเอนเซอร์
- คอนเทนต์จากแบรนด์ ดูน่าเบื่อ จนคนไม่อยากซื้อสินค้า
เช่นเดียวกับคอนเทนต์จากแบรนด์โดยตรง ก็ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้า
เพราะ TikTok พบว่า ครึ่งหนึ่ง ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (รวมประเทศไทย) มองว่าคอนเทนต์ของแบรนด์ดู “น่าเบื่อ” จากภาพต่าง ๆ ที่ดูเป็นมืออาชีพ และสวยงามจนเกินไป จนทำให้ไม่ได้รู้สึกอยากซื้อสินค้าของแบรนด์
ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคกว่า 90% เลือกที่จะ “กดข้าม” โฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ เพราะรู้สึกถึงการจัดฉาก จากแบรนด์ และรู้สึกว่าคอนเทนต์ของแบรนด์ เข้าถึงได้ยาก
แต่สิ่งที่ผู้บริโภคมองหา คือ อารมณ์ร่วม ขณะดูคอนเทนต์ต่าง ๆ
โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนคอนเทนต์นั้น กำลังคุยกับตัวผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องนำไปคิดกลยุทธ์กันต่อไป เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค ได้อย่างตรงใจ มากที่สุด
ซึ่งเรื่องนี้เอง ทำให้ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เรามักเห็นรูปแบบของคอนเทนต์ที่แตกต่างออกไป
โดยเฉพาะคอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ และนักรีวิว ที่เน้นความเรียบง่าย สมจริง แต่กลับเข้าถึงง่าย และสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดีกว่า
- Emotional ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ไม่ต่างจาก Functional
จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภค มีความต้องการจากการซื้อสินค้าออนไลน์ แบ่งออกเป็น 6 ปัจจัยด้วยกัน
โดยที่ 3 ปัจจัยแรก จะเป็นความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยพิจารณาจาก ประโยชน์ใช้สอย (Functional) ของตัวสินค้า
ทั้งการเลือกซื้อสินค้าที่ใหม่ที่สุด และดีที่สุด
เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
และการเลือกซื้อสินค้า ที่ซื้อง่าย สะดวก คุ้มค่า และมีการจัดส่งที่น่าเชื่อถือ
ในขณะที่อีก 3 ปัจจัยที่เหลือ จะเป็นปัจจัยทางด้านอารมณ์ (Emotional) ได้แก่
การแนะนำเกี่ยวกับสินค้า จากบุคคล หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
การซื้อสินค้าจากแรงบันดาลใจ และเทรนด์ ที่กำลังเกิดขึ้น
การซื้อสินค้าตามใจตัวเอง ช็อปปิงเพื่อความสุข
- คอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ กระตุ้นให้คนไทยซื้อสินค้า ได้มากกว่าโปรโมชั่น
หากเจาะลึกไปที่ “คอนเทนต์” ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทย ซื้อสินค้าได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1. คอนเทนต์แนะนำสินค้า จากอินฟลูเอนเซอร์ และครีเอเตอร์
2. คอนเทนต์เกี่ยวกับโปรโมชั่น และการลดราคาสินค้า
3. คอนเทนต์เกี่ยวกับข้อมูล และประโยชน์ของตัวสินค้า
- คนไทย เชื่อคอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ มากกว่าแบรนด์
และหากเราเจาะลึกไปที่ อิทธิพลของคอนเทนต์ ที่มีผลต่อผู้บริโภค
TikTok พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย กว่า 60% เชื่อคอนเทนต์จากคอมมูนิตี้ (อินฟลูเอนเซอร์ และนักรีวิว)
ในขณะที่มีผู้บริโภคชาวไทย เพียง 11% เท่านั้น ที่เชื่อคอนเทนต์จากแบรนด์โดยตรง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ ถ้าถามว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อแบรนด์ และนักการตลาดอย่างไร ?
เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า ส่งผลต่อแบรนด์ และนักการตลาด แบบเต็ม ๆ
เพราะแบรนด์ และนักการตลาด จะทำคอนเทนต์ขายของแบบตรง ๆ เพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
แต่ต้องพิจารณาการทำคอนเทนต์ชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่ดูสมจริง และเข้าถึงง่าย
เพราะคอนเทนต์แบบนี้ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค มากกว่า
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ TikTok ระบุว่า ตลาด Shopertainment (มาจากคำว่า Shopping + Entertainment) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 39.6 ล้านล้านบาท)
และคาดว่าตลาด Shopertainment ในประเทศไทย มีโอกาสสร้างรายได้ มากถึง 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 แสนล้านบาท) ภายในปี 2568