รู้จัก “Muketing” การตลาดจากความเชื่อ.. ที่ใช้เพิ่มยอดขาย และมูลค่าสินค้าแบบง่าย ๆ

รู้จัก “Muketing” การตลาดจากความเชื่อ.. ที่ใช้เพิ่มยอดขาย และมูลค่าสินค้าแบบง่าย ๆ

31 ส.ค. 2022
บูชาไอ้ไข่, บูชาพระตรีมูรติ, เปลี่ยนวอลล์เพเปอร์นำโชค หรือแม้แต่เปลี่ยนกระเป๋าสตางค์ให้เป็นสีมงคล
คงเป็นภาพที่ใครหลายคนเห็นจนชินตา ตามโซเชียลมีเดียของคนใกล้ตัว ไปจนถึงระดับอินฟลูเอนเซอร์ ในช่วงหลัง ๆ มานี้
ถึงแม้ว่าความเชื่อเรื่องโชคลาภและโชคชะตานั้น อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนานแล้ว
แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา และอาจใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากทั้งการระบาดของโควิด 19 รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ใครหลายคนหันไปหาที่พึ่งทางใจกันมากขึ้นนั่นเอง
โดยในปัจจุบันก็มีคำเรียกของชุดความเชื่อเหล่านี้ว่า “มูเตลู” โดยภายหลังก็กลายเป็นคำเรียกของคนที่มีลักษณะเชื่อเรื่องดวงชะตาและโชคลาภ ว่าเป็น “สายมู”
ซึ่งถ้าลองมองในแง่ของการแบ่ง Segment การตลาด จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้บริโภค “สายมู” นั้นเป็นตลาดที่ไม่เล็กเลย เพราะมีผลสำรวจระบุว่า ในปัจจุบันคนไทยกว่า 52 ล้านคน หรือมากกว่า 74% ของคนทั้งประเทศนั้น
มีความเชื่อเรื่องโชคลาภและดวงชะตาอีกด้วย..
พูดง่าย ๆ ก็คือ “ความมู” เป็นดั่งวัตถุดิบชั้นดีในการหยิบมาทำการตลาด เพราะจะทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงคนได้เกือบ 3 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมดเลยทีเดียว..
โดยที่ผ่านมาเราก็มักจะเห็นแบรนด์ใหญ่ ๆ หยิบเอา “ความมู” มาผสมกับ “การตลาด” เพื่อสร้างการรับรู้ หรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของแบรนด์กันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น
Tinder x พระตรีมูรติ
แคมเปญที่เชิญชวนให้ผู้ใช้ Tinder มาปัดหาคู่กันในวันวาเลนไทน์ที่บริเวณหน้าพระตรีมูรติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความรัก ซึ่งก็สร้าง Engagement บนโลกออนไลน์ได้ดีเลยทีเดียว
หรือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง DTAC ที่ได้ร่วมมือกับ อ.ช้าง ทศพร หมอดูชื่อดัง
มาร่วมทำแคมเปญเบอร์มงคล โดยให้ลูกค้ากรอกวันเดือนปีเกิด เพื่อรับเบอร์มงคลที่เหมาะสมกับวันเดือนปีเกิดของตนเอง
จะเห็นได้ว่าความมูนั้นเป็นสิ่งที่นำมาต่อยอดได้ง่าย และสามารถนำมาพลิกแพลงใช้ได้กับหลายกลยุทธ์
จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราจึงเห็นหลายแบรนด์นำ “ความมู” มาปรับใช้กับธุรกิจ
ซึ่งสิ่งนี้ก็สร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์หลายอย่าง..
1) “ความมู” สามารถนำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของแบรนด์ได้แบบไม่ต้องทำอะไรเยอะ..
เพราะอย่างที่รู้กันว่า ปัจจุบันมีกลยุทธ์การตลาดอยู่มากมาย ที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้
ไม่ว่าจะเป็นการวาง Positioning ของแบรนด์ให้ดูพรีเมียม, การสร้างนวัตกรรม, การทำ Storytelling หรือการเพิ่มวัตถุดิบพรีเมียมเข้าไปในสินค้าของตัวเอง ก็ต่างทำให้แบรนด์สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้ทั้งนั้น
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา อาจต้องใช้เวลาและต้นทุนที่สูง ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับแบรนด์เล็ก ๆ ที่ยังมีงบการตลาดไม่มากพอ
ดังนั้น ในทางกลับกัน ถ้าหากแบรนด์มีการใช้ “ความมู” ที่มีต้นทุนก็คือ “ความเชื่อ” ของลูกค้ามาทำการตลาด
ก็อาจจะทำให้แม้แต่แบรนด์เล็ก ๆ ก็ยังสามารถโดดเด่นเหนือคู่แข่งขึ้นมาได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ
ขอยกตัวอย่างเคสจริง กับตลาดเครื่องประดับขนาดเล็ก
ที่หลายแบรนด์ล้วนพุ่งไปที่การทำให้สินค้าของตัวเองดูพรีเมียมที่สุด อย่างการเปลี่ยนช่องทางการจำหน่ายไปอยู่บนห้างสรรพสินค้าหรู
หรือมีการส่งให้อินฟลูเอนเซอร์ระดับ KOL เป็นคนใส่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าของแบรนด์
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ก็มีแบรนด์เล็ก ๆ หลายแบรนด์ที่เลือกนำ “ความมู” มาสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจของตัวเองอยู่เหมือนกัน แล้วก็ได้ผลดีเสียด้วย..
อย่าง “กำไลนาคนิมิต” จากแบรนด์เล็ก ๆ ชื่อ “บ้านมหาเฮง” ที่มีการนำความเชื่อมาแบ่งตามสีของกำไล อย่างสีทอง จะเสริมเรื่องการค้าขาย
สีนาค จะเสริมเรื่องเสน่ห์ และความเมตตา
ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถโกยรายได้ไปมากถึงหลัก 10 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว..
2) สายมูสามารถประยุกต์ใช้กับการทำ CRM ได้ดี
อย่างที่เรารู้กันว่า ในปัจจุบัน Data นั้นมีค่าไม่ต่างจากทองคำ แต่อย่างไรก็ตาม การจะได้มาซึ่งข้อมูลของลูกค้านั้น มันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
ในปัจจุบันหลายแบรนด์ก็มักมีการเก็บข้อมูลลูกค้าผ่านบัตรสมาชิก, ระบบสะสมแต้ม ซึ่งก็ต้องใช้โปรโมชัน หรือให้พนักงานมาโน้มน้าวให้ลูกค้าสมัคร
ซึ่งก็อาจจะต้องใช้แรงเยอะหน่อย แถมลูกค้าบางคนยังอาจให้คำตอบมั่ว ๆ หรือไม่ตรงกับความจริง ทำให้ข้อมูลที่เก็บมาไม่มีคุณภาพ
ในจุดนี้แบรนด์อาจจะสามารถนำความมูเข้ามาช่วยได้ เช่น อาจจะมีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ามาแลกกับผลคำทำนายดวง เพียงเท่านี้ลูกค้าก็จะไม่ค่อยให้คำตอบมั่ว ๆ เพราะต้องการให้ผลทำนายออกมาแม่นยำนั่นเอง..
3) การตลาดสายมูนั้น เหมาะกับยุคนี้
จากสถานการณ์ข้าวของแพงจากเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
จึงทำให้หลายแบรนด์ต้อง “รัดเข็มขัด” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้นทุนของแบรนด์ที่จะถูกตัดออกเป็นอันดับแรก ๆ เลยก็คือ “งบการตลาด”
จึงทำให้ในช่วงหลัง ๆ หลายแบรนด์มักจะมีการทำเนื้อหาในการโปรโมตแบรนด์ให้กระชับ และขายของแบบตรง ๆ มากขึ้น
ดังนั้นการนำ “ความมู” มาใช้ จึงค่อนข้างเหมาะสมในการทำการตลาดท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้
เพราะนอกจากแบรนด์จะไม่ต้องลงทุนทำโปรโมชัน หรือกิจกรรมอะไรที่ใช้งบประมาณเยอะแล้ว
การใช้ความมูยังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ในวงกว้าง แทบจะทุกเพศทุกวัยอีกด้วย..
เปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าความมูคือ วงดนตรี
ความมู ก็คือวงดนตรีที่มีฐานแฟนคลับเยอะ จัดคอนเสิร์ตที่ไหนบัตรก็ขายดี แถมค่าจ้างไม่แพงนั่นเอง..
ทั้งนี้การนำ “ความมู” มาใช้กับการตลาดนั้น ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปเสียทุกครั้ง
ขึ้นอยู่กับรูปแบบการสื่อสารด้วยว่า จะสามารถทำให้คนอินตามไปกับแบรนด์ได้มากแค่ไหน
ซึ่งถ้าหากแบรนด์สื่อสารได้ไม่ดี เช่น
คุม CI หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ไม่ดี
ใช้คีย์เวิร์ดไม่เหมาะสม
ก็อาจส่งผลเสียทำให้แบรนด์ดูล้าสมัยหรือดูงมงาย ในสายตาผู้บริโภคได้เลย
สุดท้ายนี้ ความมูนั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่ในบางครั้งมันก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของใครหลายคนได้จริง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเราเอาตัวไปผูกกับความมูหรือความเชื่อมากเกินไป จนถึงขั้นงมงาย มันก็อาจส่งผลเสียที่คาดไม่ถึงตามมาได้..
—--------------------------------
Sponsored by JCB
JCB แบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตจากประเทศญี่ปุ่น
พิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB พบกับโปรโมชันในไทยและต่างประเทศมากมาย
สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน เที่ยว ช้อป
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH
และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.