รู้จัก Freemium โมเดลธุรกิจแจกของฟรี เพื่อสร้างรายได้มหาศาลในภายหลัง

รู้จัก Freemium โมเดลธุรกิจแจกของฟรี เพื่อสร้างรายได้มหาศาลในภายหลัง

6 ก.พ. 2022
หลายคนอาจจะคิดว่าการทำธุรกิจจำเป็นต้องมีรายได้เข้ามาทันที
ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผล เพราะถ้าไม่มีรายได้ แล้วธุรกิจจะอยู่รอดอย่างไร
แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่า การพยายามหารายได้เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีเสมอไป
เพราะบางครั้งทำให้ธุรกิจของเราพลาดโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอย่างน่าเสียดาย
บทความนี้จึงอยากพูดถึงโมเดลธุรกิจที่ไม่รีบสร้างรายได้ แต่จะให้ความสำคัญกับการกอบโกยจำนวนลูกค้าก่อน เพื่อสร้างการเติบโตที่รวดเร็ว
โมเดลนี้ทุกคนคงจะคุ้นเคยอย่างแน่นอน หากเคยใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้
เช่น YouTube, Spotify, Viu, Google Drive หรือเกม RoV
โดยธุรกิจที่กล่าวมา ล้วนใช้ Freemium หรือโมเดลธุรกิจแจกของฟรี เพื่อเน้นสร้างรายได้มหาศาลในภายหลัง
Freemium คืออะไร ?
ก่อนอื่นต้องเล่าที่มาของชื่อ Freemium
โดย Freemium มาจากคำว่า Free และ Premium ผสมรวมกัน
มีความหมายว่า เป็นสินค้าหรือบริการที่ใช้ได้ฟรี แต่ถ้าหากอยากได้ความพิเศษหรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นมา ต้องจ่ายเงิน
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โมเดลธุรกิจ Freemium
YouTube ปัจจุบันมีให้เลือกเป็นสมาชิกได้ 2 แบบ คือ
1. ไม่เสียเงิน แต่ต้องเจอกับโฆษณาที่เข้ามาคั่นทุก ๆ คลิปวิดีโอ
2. เสียเงิน สมัครสมาชิก Premium เพื่อไม่ให้มีโฆษณามารบกวน
รูปแบบนี้นี่เอง ที่เรียกว่า Freemium
จะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์มประเภทนี้จะใช้ฟรีตลอดไป ก็สามารถทำได้
แต่ถ้าหากอยากได้รับฟีเชอร์หรือประโยชน์ที่มากขึ้น คงต้องยอมเสียเงิน
นอกจาก YouTube อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Spotify แอปพลิเคชันสตรีมมิงฟังเพลง
ใครที่เคยใช้ Spotify แบบฟรี คงจะรู้ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การมีโฆษณาคั่นระหว่างเพลง, การกดข้ามเพลงได้จำกัด และไม่สามารถดาวน์โหลดเพลงมาเก็บไว้ในเครื่องได้
แต่ถ้าหากเสียเงินไปแล้ว ข้อจำกัดเหล่านี้จะหายไปหมดเลย
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ยอมเสียเงินสำหรับค่าบริการ แม้จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
แล้วอะไรคือสาเหตุให้หลายบริษัทหันมาใช้โมเดล Freemium
คำตอบง่าย ๆ เลยคือ การเป็นของฟรี จะทำให้เกิดการดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานได้เยอะ เกิดการใช้งานในวงกว้าง เกิดความคุ้นชิน และทำให้มีกระแสการบอกต่อได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งการได้ฐานผู้ใช้งานหรือลูกค้ามาเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว สุดท้ายก็จะนำไปสู่โอกาสในการสร้างรายได้ที่มหาศาลในอนาคต นั่นเอง
ลองนึกตามว่า หากแพลตฟอร์มดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานได้ 1 ล้านคน
และเราสามารถเปลี่ยนลูกค้าให้สมัคร Premium ได้สัก 10% คิดค่าบริการ 50 บาทต่อเดือน
ก็จะมีรายได้ต่อเดือนถึง 5 ล้านบาทแล้ว
หรือหากดูตัวอย่างจริงอย่าง Spotify
ด้วยการใช้โมเดล Freemium ทำให้ปัจจุบันสตรีมมิงเจ้านี้มีผู้ใช้งาน 406 ล้านคน
โดยมีผู้ใช้งานแบบ Premium 180 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 44%
ส่งผลให้รายได้ไตรมาสล่าสุด (ต.ค. - ธ.ค. 2021) ของบริษัทอยู่ที่ 101,516 ล้านบาท
แบ่งเป็นรายได้จากค่าสมาชิก Premium 85%
และรายได้จากค่าโฆษณา 15%
ข้อดีอีกอย่าง ที่แฝงมาจากการใช้ Freemium คือ ทำให้ธุรกิจรู้จักลูกค้าได้ดีและรวดเร็วกว่าเดิม จากข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าจำนวนมาก และข้อมูลอันมีค่าต่าง ๆ
ทำให้รู้ว่าพวกเขาต้องการหรือกำลังหาอะไร และปัญหาไหนที่กำลังพบเจอ
ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มา ยิ่งทำให้เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดี, นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก
จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมหลายธุรกิจถึงยอมทำ Freemium
แม้ว่าจะไม่สามารถสร้างรายได้ในทันที
แต่นอกจากเหล่าแอปพลิเคชันที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Freemium แล้ว
มีอีกหลายธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้เช่นกัน โดยบางคนอาจไม่รู้ตัว
ตัวอย่างเช่น เพจให้ความรู้ต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องการลงทุน, การทำธุรกิจ, การดูแลสุขภาพ, การทำอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เราเสพกัน ณ ปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ตามเพจเหล่านี้ ล้วนเป็นของฟรีทั้งนั้น
แน่นอนว่าส่วนหนึ่ง เพราะมีรายได้จากค่าโฆษณาต่าง ๆ อยู่แล้ว
แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ มันดึงดูดให้คนติดตามได้ง่าย และนำไปสู่การสร้างรายได้ได้อีกขั้นตามมา เมื่อเพจมีฐานลูกค้า/ผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับแล้ว
อย่างการออกหนังสือ คอร์สอบรม หรือการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว นั่นเอง
การเป็นดาว TikTok นับว่าเป็น Freemium ได้เหมือนกัน
เพราะ TikToker แต่ละคนจะผลิตคอนเทนต์ฟรีลงบนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว
แต่ก็สามารถสร้างรายได้ด้วยการเชิญชวนให้แฟน ๆ ส่ง Virtual Gift เพื่อแลกกับความ Exclusive เช่น การสร้างคอนเทนต์ให้โดยเฉพาะ หรือการพูดคุยระหว่างไลฟ์สด
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เราสามารถประยุกต์ใช้ Freemium ได้กับหลายธุรกิจเลยทีเดียว
แล้วข้อควรระวังในการใช้ Freemium คืออะไร ?
สิ่งสำคัญที่ควรคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน คือ การสร้างสมดุลระหว่างคุณค่าที่ผู้ใช้งานหรือลูกค้า จะได้รับตอนใช้แบบ Free และ Premium
ก็คือต้องมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อให้คนมีแรงจูงใจในการสมัคร Premium
แต่ต้องไม่ให้สมาชิกแบบไม่เสียเงิน รู้สึกว่าไม่ได้รับคุณค่าอะไรเลยจากผลิตภัณฑ์ของเรา
เพราะหากคุณค่าหรือประโยชน์ ที่สมาชิกแบบไม่เสียเงิน ได้รับนั้นน้อยจนเกินไป
ลูกค้าก็จะไม่ได้รับความพึงพอใจเพียงพอในการใช้งาน และไม่คิดอยากเสียเงินให้
ขณะที่หากคุณค่าหรือประโยชน์ ที่สมาชิกแบบไม่เสียเงิน ได้รับนั้นมากจนเกินไป
ลูกค้าก็จะไม่ยอมเสียเงิน เพื่อมาใช้ Premium เพราะรู้สึกว่าใช้แบบฟรี ก็เพียงพอแล้ว
ดังนั้นส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะต้องตัดสินใจให้ดี
สรุป Freemium เป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วจริง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่จะใช้โมเดลนี้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ในการใช้งานฟรีและแบบเสียเงินให้สมดุล ไม่อย่างนั้นแล้วแทนที่ธุรกิจจะเติบโต อาจต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนยอมจ่ายเงินก็เป็นไปได้..
อ้างอิง:
-https://www.investopedia.com/terms/f/freemium.asp
-https://techsauce.co/tech-and-biz/freemium-model-you-should-know
-https://investors.spotify.com/financials/press-release-details/2022/Spotify-Technology-S.A.-Announces-Financial-Results-for-Fourth-Quarter-2021/default.aspx
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.