รู้จัก SEK Studio บริษัทผลิตแอนิเมชัน จากประเทศเกาหลีเหนือ

รู้จัก SEK Studio บริษัทผลิตแอนิเมชัน จากประเทศเกาหลีเหนือ

11 เม.ย. 2021
ประเทศเกาหลีเหนือ ในภาพจำของใครหลายคน อาจเป็นประเทศแห่งเผด็จการ ไม่ชอบมีความสัมพันธ์กับใคร และทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล
แต่ว่า หากเรารู้จักบริษัทผลิตแอนิเมชันสัญชาติเกาหลีเหนือ อย่าง SEK Studio และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเขา ก็อาจทำให้มุมมองของเรา ที่มีต่อประเทศเกาหลีเหนือเปลี่ยนไปบ้าง ไม่มากก็น้อย
เชื่อว่าหลาย ๆ คน ในที่นี้ อาจเคยเห็นผลงานการ์ตูนชื่อดังอย่าง
Teenage Mutant Ninja Turtles (2003 TV series)
The Simpsons Movie (2007)
หรือ Simba the King Lion (1997)
จุดที่น่าสนใจคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตแอนิเมชันการ์ตูน ที่ว่าเหล่านี้
เป็นสตูดิโอที่มาจากประเทศเกาหลีเหนือ
สตูดิโอแอนิเมชันแห่งนี้ เดิมทีมีชื่อว่า “4.26 Children's Film Studio”
ก่อตั้งขึ้นในปี 1957 โดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ ที่กรุงเปียงยาง
ต่อมาในปี 1997 บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “The Scientific and Educational Film Studio” หรือ ชื่อย่อคือ SEK Studio
ที่เปลี่ยนชื่อ นั่นก็เพราะ บริษัทต้องการที่จะไปเข้าร่วมงาน “International Animation Festival” ที่ประเทศฝรั่งเศส และต้องการให้ชื่อบริษัทนั้น สามารถถูกเรียกได้ง่าย และมีความน่าเชื่อถือขึ้นมากขึ้น
ซึ่งการที่รัฐบาลเกาหลีเหนือ ได้ส่งบริษัทผลิตแอนิเมชันแห่งนี้ เข้าร่วมงานดังกล่าว
ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการเลยทีเดียว เพราะหลังจากนั้น SEK Studio ก็ได้มีโอกาสร่วมงาน ในฐานะผู้ผลิตเบื้องหลังของแอนิเมชันการ์ตูนชื่อดังหลายแห่ง
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Mondo TV จากประเทศอิตาลี และบริษัททำภาพยนตร์ในประเทศฝรั่งเศส
หลังจากนั้น แอนิเมชันที่เริ่มสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ ให้กับ SEK Studio ก็คือเรื่อง Les Misérables ในปี 1989
ตามมาด้วย Simba the King Lion และ Pocahontas: Princess of the American Indians ในปี 1997
โดยภาพยนตร์การ์ตูนดังกล่าว เป็นเวอร์ชันที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่า มาจากประเทศเกาหลีเหนือ
และเป็นการร่วมมือในการผลิตและเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ ร่วมกับบริษัท Mondo TV ของประเทศอิตาลี
ทั้งนี้ ตัวเนื้อหาอาจมีความคล้ายกับ การ์ตูน Lion King และ Pocahontas ของบริษัท Walt Disney
อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 บริษัทก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่อย่างใด..
SEK Studio ได้มุ่งหน้าผลิตแอนิมเมชันต่อไปเรื่อย ๆ โดยอีกหนึ่งผลงาน ที่เรียกได้ว่า เป็นการประสานความสัมพันธ์ร่วมกัน ระหว่างประเทศเกาหลีเหนือ และประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้นโยบาย “แสงตะวันฉาย (Sunshine Policy)”
ด้วยการสร้างตัวการ์ตูน ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศเกาหลีใต้ อย่าง เพนกวินใส่หมวกนักบินที่มีชื่อว่า “Pororo the Little Penguin”
โดย SEK Studio ได้อำนวยการผลิตแอนิเมชัน ในการ์ตูนซีซันที่ 1 ทั้งหมดทุกตอน
ถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า
SEK Studio มีกลยุทธ์ หรือ จุดเด่นอะไร
ที่ทำให้บริษัทจากเกาหลีเหนือแห่งนี้ กลายเป็นสตูดิโอที่น่าจับตามอง และขยายผลงานออกไปได้ในหลาย ๆ ประเทศ
กลยุทธ์ที่ 1 : การเข้าไปอยู่เบื้องหลังการผลิตผลงาน ให้กับบริษัทอื่น ๆ
SEK Studio รู้ดีว่า การที่พวกเขาจะผลิตแอนิเมชัน แล้วฉายเพียงแค่ในประเทศของตัวเอง อาจเป็นการหารายได้ที่ไม่ยั่งยืนนัก และตลาดมีขนาดจำกัด
พวกเขาจึงได้เริ่มมองเรื่องการขยายธุรกิจ ไปยังต่างประเทศ
ในเมื่อการอยู่หน้าฉาก คงเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นการอยู่เบื้องหลังฉาก ก็ไม่ได้แย่ไปซะทีเดียว
ต้องบอกว่า หนึ่งในจุดเด่นที่สำคัญ คือ แรงงานชาวเกาหลีเหนือ มีค่าตัวถูก และมีคุณภาพของการผลิตแอนิเมชันที่สูงเทียบเท่ากับมาตรฐานโลก
จึงทำให้ SEK Studio ใช้ความได้เปรียบนี้ เข้าไปเป็นบริษัทรับจ้างเหมาช่วงผลิตแอนิเมชัน ในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป
กลยุทธ์ที่ 2 : การนำเสนอผลงาน ให้เป็นที่ประจักษ์
SEK Studio รู้ดีว่า คุณภาพแอนิเมชันของพวกเขานั้น ไม่ได้เป็นรองใคร
แต่การที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก คงต้องมีการนำเสนอผลงานออกมาสักหน่อย เพื่อให้คนในต่างประเทศได้เริ่มรู้จัก
อาทิ ได้ออกผลงาน หนังสือภาพการ์ตูนเรื่อง “Pyongyang: A Journey in North Korea” ซึ่งผลิตด้วยความร่วมมือของ SEK Studio และ Guy Delisle ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศเกาหลีเหนือ รวมถึงบริษัท SEK Studio เอง ในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ
กลยุทธ์ที่ 3 : การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ให้มีความหลากหลาย
แรกเริ่มเดิมที SEK Studio ถนัดการทำการ์ตูนสำหรับเด็กเล็ก
แต่ต่อมา ก็ได้มีการขยายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ให้ครอบคลุมถึง แอนิเมชันสารคดี หรือ การ์ตูนที่เน้นการต่อสู้ และภาพที่สวยงาม สำหรับกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่
อันที่จริงแล้ว มีอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ที่หากไม่พูดถึงก็คงไม่ได้
เพียงแต่ว่า กลยุทธ์นี้ เป็นการพึ่งพาอำนาจ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท
นั่นคือ การขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของ “คิม จองอิล”
โดยผู้นำ คิม จองอิล เป็นคนที่ชื่นชอบในศิลปะภาพยนตร์ และแอนิเมชัน เป็นทุนเดิม
หลังจากได้รับการขอการสนับสนุน ก็ได้เห็นความสำคัญ และเข้ามาผลักดันวงการผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีเหนือ นั่นรวมถึงการผลักดัน SEK Studio ให้ขยายผลงานออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น
เช่น การเข้าไปเป็นบริษัทรับจ้างช่วง ให้กับผู้ผลิตแอนิเมชัน จากสปน, อิตาลี, ฝรั่งเศส และจีน
กลยุทธ์เหล่านี้ ทำให้ในช่วงปี 2000
SEK Studio ได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ของบริษัทสัญชาติเกาหลีเหนือ ที่มีการรับจ้างทำงาน และติดต่อทำธุรกิจกับ บริษัทนอกประเทศตัวเอง
โดย SEK Studio ได้มีการรับจ้างผลิตแอนิเมชันการ์ตูน มากกว่า 60 เรื่องต่อปี
และมีการจ้างพนักงานชาวเกาหลีเหนือ มากถึง 1,700 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี อำนาจในการผลักดัน ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม
กล่าวคือ SEK Studio ในปัจจุบัน อาจมีเส้นทางที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก ทั้งหมดก็เป็นเพราะ รัฐบาลอีกเช่นกัน
โดยสาเหตุหลักมาจาก เรื่องของการซุ่มผลิตอาวุธอันตรายอย่างนิวเคลียร์ ของเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของ “คิม จองอึน” ในปี 2006 - 2009
จากเรื่องนี้ทำให้ SEK Studio ต้องตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และสูญเสียความไว้วางใจ
นานาประเทศ ต่างยกเลิกสัญญารับจ้างเหมากับ SEK Studio
ซึ่งแน่นอนว่าในตอนนี้ แหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท มาจากภายนอกประเทศ..
นั่นจึงทำให้ตั้งแต่ปี 2014 สถานการณ์ของ SEK Studio จึงได้ตกที่นั่งลำบาก
โดยสะท้อนจาก งานผลิตแอนิเมชันที่ลดลงต่ำกว่า 10 เรื่องต่อปี
ทำให้ต้องลดจำนวนพนักงาน เหลือเพียงแค่ 900 คน
จนถึงปัจจุบัน SEK Studio ยังคงเดินหน้าผลิตแอนิเมชันออกมาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแอนิเมชันสารคดี สำหรับการศึกษาของประเทศเกาหลีเหนือ
น่าสนใจนะว่า หากความสัมพันธ์ของประเทศเกาหลีเหนือ กับนานาประเทศ ค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา
เราอาจจะได้เห็น ผลงานแอนิเมชันที่น่าตื่นตาตื่นใจ จาก SEK Studio บนโรงภาพยนตร์ หรือใน Netflix ก็เป็นได้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับบริษัทในประเทศเกาหลีเหนือ
เกือบ 95% ของบริษัทเกาหลีเหนือ ถูกจัดตั้งโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ
และอีก 5% ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทข้ามชาติ ที่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศเกาหลีเหนือ
ส่วนรายได้ของบริษัท 100% จะเข้าสู่กระเป๋าของรัฐบาล
เพราะเหตุนี้เอง เราจึงอาจจะไม่ค่อยเห็นงบการเงินของบริษัทในเกาหลีเหนือ สักเท่าไร..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.