รู้จัก KOC เครื่องมือการตลาดรูปแบบใหม่ ในยุคที่ลูกค้า อาจไม่ได้ตามดาราอีกต่อไป

รู้จัก KOC เครื่องมือการตลาดรูปแบบใหม่ ในยุคที่ลูกค้า อาจไม่ได้ตามดาราอีกต่อไป

26 ก.พ. 2021
ปัจจุบันเครื่องมือทางการตลาด มีอยู่หลากหลายเครื่องมือให้เลือกใช้
หนึ่งในนั้นคือการทำ Influencer Marketing ซึ่งเป็นการทำการตลาด ที่กำลังเป็นเทรนด์ในช่วงนี้
โดยประเภทของ Influencer ที่เรารู้จักกัน มักจะมีอยู่ 4 ประเภท คือ
1. Celebrity / Mass Publisher กลุ่มดารานักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง
2. Key Opinion Leaders (KOL) กลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความสนใจหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เนื้อหาจึงดึงดูดคนเฉพาะกลุ่ม
3. Micro Influencer คนที่มีผู้ติดตามประมาณ 10,000 - 100,000 คน เป็นกลุ่มคนที่สร้างคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์
4. Nano Influencer คนที่มีผู้ติดตามประมาณหลัก 1,000 คน แต่เป็นกลุ่มผู้ติดตามที่เหนียวแน่น
แต่ตอนนี้มี Influencer ประเภทใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญ ในการทำการตลาดของแบรนด์ในยุคต่อจากนี้
นั่นคือ KOC (Key Opinion Consumer)
KOC (Key Opinion Consumer) คือ กลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงในโลกอินเทอร์เน็ต
แต่มีลักษณะพิเศษคือ เป็นคนที่ใช้สินค้าจริงๆ และนำมารีวิว จนมีฐานผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีฐานจำนวนมากเท่า KOL (Key Opinion Leaders)
แล้วนอกเหนือจากฐานผู้ติดตามแล้ว KOL กับ KOC แตกต่างกันอย่างไร
KOL จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์
ซึ่งยิ่งมีผู้ติดตามจำนวนมาก ก็จะเป็นผู้นำทางความคิดด้านความงาม
แบรนด์ส่วนใหญ่ มักจะเลือกใช้ KOL ในกรณีที่ต้องการสร้างยอดขาย และต้องการสร้างอิทธิพลในวงกว้าง
ส่วน KOC (Key Opinion Consumer) จะเป็นผู้บริโภคที่ใช้สินค้าจริงๆ และรีวิวจริงๆ
จนมีฐานผู้ติดตามในระดับหนึ่ง โดยแบรนด์สามารถเลือกใช้ KOC ได้ ในกรณีที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะผู้ติดตามจะรู้สึกว่า เป็นเสียงจากผู้ใช้จริงที่ไม่ได้ถูกจ้างมา
แล้วระหว่าง KOL กับ KOC แบรนด์ควรเลือกแบบไหน ในการสื่อสารไปยังผู้บริโภค
หากเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นและยังมีงบไม่เยอะ อาจจะเลือกใช้ KOC ในการทำการตลาด
เนื่องจากมีผู้ติดตามจำนวนไม่มาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
ส่วนแบรนด์ที่มีขนาดใหญ่แล้ว อาจใช้ KOL ในกรณีที่ออกสินค้าใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ได้ในวงกว้าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้งาน KOL และ KOC ก็ไม่ได้มีหลักการตายตัว
จะใช้ทั้ง KOL และ KOC ควบคู่กันไปก็ได้ เช่น สำหรับธุรกิจเครื่องสำอาง
อาจเริ่มจากการใช้ KOL ในการช่วยสร้างกระแสก่อน แล้วจึงค่อยใช้ KOC เข้าช่วย
เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับกระแสก่อน แล้วจึงเกิดความเชื่อถือจากรีวิวของ KOC เป็นต้น
อย่างในอุตสาหกรรมความงามในประเทศจีน
Perfect Diary ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์เครื่องสำอาง ที่ใช้ทั้ง KOL และ KOC ในการทำการตลาด
โดยแบ่งสัดส่วนเป็น
KOC 84.4% และ KOL 15.5%
เพิ่มเติมด้วย Celebrity อีกเพียง 0.1%
โดยใช้ Celebrity เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ เพื่อสร้างกระแสก่อน
จากนั้นจึงใช้ KOL เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้บริโภค จนทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก (Word of mouth)
และสุดท้ายก็คือ KOC ที่ได้มาจากกระแสด้านบน ช่วยเป็นกระบอกเสียงต่อๆ ไป
จนทำให้แบรนด์ Perfect Diary เป็นที่จดจำ และสามารถครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องสำอาง ในประเทศจีน ได้ในที่สุด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.