วิธีเล่า Storytelling แบบ SCQA ไว้ใช้ Pitch งาน ขายของให้คนอยากซื้อ
6 ธ.ค. 2024
การเล่าเรื่องราว หรือ Storytelling ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ สำหรับการทำงานด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์
เพราะไม่ว่าจะทำการตลาดเพื่อขายสินค้า สร้างแบรนด์ให้ติดตลาด หรือ Pitching นำเสนองานให้กับลูกค้า ต่างก็ต้องอาศัยการเล่าเรื่องที่ดี มีความน่าสนใจ และมีเหตุผลโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ คล้อยตามได้ แทบทั้งสิ้น
แล้วถ้าถามว่า เราจะมีวิธีในการเล่าเรื่องราวอย่างไรให้น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลมากพอที่จะโน้มน้าวคนอื่น ๆ ให้คล้อยตามได้
จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้มีเฟรมเวิร์กหนึ่ง ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการเล่าเรื่องราวโดยเฉพาะ
เฟรมเวิร์กนั้นมีชื่อว่า “SCQA Storytelling Framework”
- SCQA Storytelling Framework คือเฟรมเวิร์กที่ใช้ในการเล่าเรื่องราวอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นขั้นเป็นตอน มีความเชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผล และเข้าใจได้ง่าย
โดย SCQA Storytelling Framework จะมีวิธีในการเล่าเรื่องราวออกเป็น 4 ขั้นตอน ตามอักษรย่อ S, C, Q และ A
1. S: Situation ปูพื้นฐาน เล่าสถานการณ์ ให้เข้าใจตรงกัน
เป็นขั้นตอนแรกของการเล่าเรื่องราว ควรเริ่มจากการปูพื้นฐานเพื่อให้ผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วย เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ บริบท หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในปัจจุบันก่อน
ที่สำคัญคือ ในขั้นตอนนี้จะได้ผลดีหากเราทำการบ้านมาก่อน ว่าผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วยเป็นใคร ชอบการเล่าเรื่องราวแบบไหน สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ
เพราะหากเราหยิบเอาสถานการณ์ที่เหมาะสมกับผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วย ก็จะเกิดเป็น “ความอิน” ไปกับเรื่องราวที่เรากำลังจะเล่า
และสร้างความรู้สึกเชื่อมโยง รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรื่องราวที่เรากำลังจะเล่า ได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
แม้จะเป็นเรื่องราวที่ใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้ว แต่ก็ใช้เป็นการเปิดเรื่องที่น่าสนใจได้
2. C: Complication ชี้ให้เห็นชัด ๆ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
ในขั้นตอนที่ 2 หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายรู้ถึงสถานการณ์ หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ก็ได้เวลาขยี้ต่อ ด้วยการเล่าถึง “ปัญหา” ที่กำลังเกิดขึ้น จากสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
แม้ว่าในขั้นตอนแรก จะเป็นการเล่าถึงสถานการณ์ที่ใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้ว แต่ในขั้นตอนนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นแบบชัด ๆ ไปเลยว่า จากสถานการณ์นั้น มีอะไรที่เป็นปัญหา มีอะไรที่น่ากังวล หรือมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง
เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเรากับกลุ่มเป้าหมาย ให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกสนใจ ฉุกคิด หรือต้องการทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้
3. Q: Question หรือการตั้งคำถาม ชวนให้สงสัย
หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารด้วยรู้แล้วว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คืออะไร
ขั้นตอนต่อไปของการเล่าเรื่องราวที่ดี คือการพยายามทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารด้วย เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง หรือเกิดความรู้สึกอยากรู้ว่า จะมีวิธีในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
หรือจะเป็นการเล่าเรื่องราวโดยการถามตรง ๆ กับกลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารด้วยเลยก็ได้ว่า เราจะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร
4. A: Answer หรือการให้คำตอบ กับสิ่งที่สงสัย
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเล่าเรื่องราว ในขั้นตอนนี้เป็นเหมือนการคลายปมทุกอย่างที่เราปูมา ด้วยการให้คำตอบ บอกวิธีแก้ไขปัญหา หรือเฉลยความจริงให้กับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารด้วยมีความสงสัย
ถ้าให้เปรียบเทียบเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง การเล่าเรื่องในขั้นตอนนี้คงเป็นบทสุดท้ายของหนังสือ ที่เฉลยปมทุกอย่าง ก่อนที่จะปิดจบเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ
ทีนี้ เราลองมาดูตัวอย่างของการเล่าเรื่องตาม SCQA Storytelling Framework กันดีกว่า
สมมติสถานการณ์ว่า เราเป็นเจ้าของเว็บไซต์ ที่รวบรวมความรู้ด้านการตลาด สำหรับคนที่สนใจ ให้สามารถหาความรู้ด้านการตลาดที่มีคุณภาพ แบบง่าย ๆ ในที่เดียว
หากเราลองเล่าเรื่องราวตาม SCQA Storytelling Framework จะได้แบบนี้
1. S: Situation
ในปัจจุบัน ความรู้ต่าง ๆ สามารถหาได้ง่ายทั่วอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มักมีคนที่ชอบแบ่งปันความรู้ สาระดี ๆ ในเรื่องต่าง ๆ
โดยเฉพาะเรื่องการตลาด และเทรนด์ของผู้บริโภค เป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการหาความรู้ หรือไอเดียใหม่ ๆ ด้านการตลาดด้วยตัวเอง
2. C: Complication
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ความรู้ด้านการตลาดที่มีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต มีทั้งถูกและผิด
หลายครั้งต้องอาศัยการหาข้อมูลต่อ หลายครั้งข้อมูลนั้นก็กระจัดกระจาย ไม่ได้รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน ให้ค้นหาได้แบบง่าย ๆ
3. Q: Question
แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ? จะดีกว่าหรือไม่หากมีเว็บไซต์ที่รวบรวมความรู้ทางด้านการตลาดไว้ในที่เดียว ?
4. A: Answer
เว็บไซต์ของเรารวมความรู้ด้านการตลาดกว่า 1,000 เรื่อง ไว้ในที่เดียว ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงความรู้ด้านการตลาดที่มีคุณภาพ ต่อยอดไอเดีย ทำการตลาดได้ถูกใจผู้บริโภค ได้แบบฟรี ๆ ทุกที่ ทุกเวลา
ซึ่งหากเราลองมาสังเกตกันดี ๆ จะพบว่า SCQA Storytelling Framework นั้น จะมีการเล่าเรื่องที่เป็นขั้นเป็นตอน ไล่ระดับเรื่องราวได้อย่างชัดเจน
ตั้งแต่การปูพื้นฐานด้วยสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้น โหมโรงให้รู้สึกตื่นเต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหา กระตุ้นให้อยากรู้วิธีการแก้ไข และปิดจบด้วยการคลายปม เฉลยวิธีการแก้ไขปัญหาเป็นการปิดท้าย
ซึ่งเราสามารถนำ SCQA Storytelling Framework มาใช้ได้ ทั้งการ Pitch งานด้านการตลาดให้กับผู้บริหาร หรือลูกค้า ให้ซื้อไอเดียการตลาดที่เรานำเสนอ
หรือจะใช้ในการเล่าเรื่องราวให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความรู้สึกอยากได้สินค้าก็ได้
หรือจะใช้กับการทำรายงาน หรือการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน ให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ก็ทำได้เช่นกัน
อ้างอิง :
-https://blog.skooldio.com/scqa-framework-for-data-storytelling/
-https://www.indeed.com/career-advice/career-development/scqa
-https://analytic-storytelling.com/scqa-what-is-it-how-does-it-work-and-how-can-it-help-me/
-https://corporatefinanceinstitute.com/resources/career/scqa/
-https://antonov.com.au/scqa-framework
-https://www.indeed.com/career-advice/career-development/scqa
-https://analytic-storytelling.com/scqa-what-is-it-how-does-it-work-and-how-can-it-help-me/
-https://corporatefinanceinstitute.com/resources/career/scqa/
-https://antonov.com.au/scqa-framework