อธิบาย 5 ระดับ อินฟลูเอนเซอร์ ตามยอดผู้ติดตาม พร้อมไอเดียคอนเทนต์ สำหรับครีเอเตอร์แต่ละกลุ่ม

อธิบาย 5 ระดับ อินฟลูเอนเซอร์ ตามยอดผู้ติดตาม พร้อมไอเดียคอนเทนต์ สำหรับครีเอเตอร์แต่ละกลุ่ม

5 ธ.ค. 2024
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มีรากศัพท์มาจากคำว่า Influence ที่แปลว่า อิทธิพล
คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” จึงหมายถึง บุคคลที่มีอิทธิพลหรือสามารถชักจูงใจผู้อื่นได้
อินฟลูเอนเซอร์ นับเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงการตลาดและการโฆษณา
เพราะพวกเขาเหล่านี้คือบุคคลที่สามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ จากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมา
ตัวอย่างบุคคลที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็เช่น ดารา นักแสดง ศิลปิน นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ
ซึ่งการแบ่งประเภทอินฟลูเอนเซอร์มีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่เป็นที่นิยมสำหรับนักการตลาดก็คือ 
การแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ออกเป็น 5 ประเภท ตามจำนวนผู้ติดตาม
โดยการแบ่งตามวิธีนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากเข้าใจง่าย เหมาะสมสำหรับการวางแผนการตลาด
แล้วอินฟลูเอนเซอร์ ทั้ง 5 ประเภท มีอะไรบ้าง ? 
และเหล่าครีเอเตอร์จะมีแนวทางเพิ่มยอดผู้ติดตามได้อย่างไรกันบ้าง ? เราไปดูพร้อมกัน
1. Nano Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 - 10,000 Followers
ส่วนใหญ่แล้ว อินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้ ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง แต่มักจะเป็นคนที่เป็นที่รู้จักดีของคนกลุ่มหนึ่ง จากความสามารถพิเศษเฉพาะตัว หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นจำนวนมาก 
เช่น เป็นประธานนักเรียนของรุ่น เป็นเชียร์ลีดเดอร์ หรือแม้แต่คนที่พูดเก่ง มีเพื่อนเยอะ ๆ ก็สามารถมีผู้ติดตามมากกว่า 1,000 คน และกลายเป็น Nano Influencer ได้เช่นกัน
ซึ่งจะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงระดับประเทศ หรือมีผู้ติดตามจำนวนหลักล้านคนก็ได้
แต่จำนวนผู้ติดตามเริ่มต้นเพียงหลักพันคน ก็สามารถเริ่มเดินทางในสายอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ได้แล้ว
สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็คงหนีไม่พ้นการเริ่มต้นทำคอนเทนต์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตามให้ถึงอย่างน้อย 1,000 คนก่อนเป็นเป้าหมายแรก
โดยตัวอย่างไอเดียเพิ่มจำนวนยอดผู้ติดตามให้ถึง 1,000 คน ก็เช่น
- เพิ่มยอดผู้ติดตามผ่านบุคคลใกล้ตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก
- ทำกิจกรรมของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นและเพิ่มโอกาสเพิ่มผู้ติดตาม
- เลือกสร้างคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม 
เช่น Facebook เน้นบทความประกอบรูปภาพ, Instagram เน้นรูปภาพและสตอรี, YouTube เน้นวิดีโอยาว มีรายละเอียดเยอะ, TikTok เน้นวิดีโอสั้น กระชับ เข้าใจง่าย
- เริ่มทำคอนเทนต์จากเรื่องใกล้ตัวง่าย ๆ ก่อน เช่น รูปภาพหรือวิดีโอที่เล่าเรื่องราวไลฟ์สไตล์ชีวิตของเรา วิดีโอสอนทำอาหารหรือสอนสิ่งที่ตัวเองถนัด
- อาจเน้นไปที่ปริมาณคอนเทนต์มากกว่าคุณภาพของคอนเทนต์ เพื่อให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มและผู้ชมเข้าใจว่า ช่องของเราเป็นช่องเกี่ยวกับอะไร และทำให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วงนานจนเกินไป
2. Micro Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,001 - 50,000 Followers
อินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้ มักจะมีแนวทางในการทำคอนเทนต์ที่ชัดเจนมากขึ้น ตามแนวทางที่ตัวเองถนัด
เรียกได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้เป็นคนที่รู้ลึก รู้จริง ในขอบข่ายเรื่องราวที่ตัวเองถนัดและมีความรู้
ทำให้มีกลุ่มผู้ติดตามเฉพาะทาง ที่สนใจในเรื่องราวเดียวกันเป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น
สำหรับใครที่ต้องการมียอดผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน จึงควรหาแนวทางการทำคอนเทนต์ของตัวเองให้ชัดเจน 
เช่น บางคนถนัดพูดโน้มน้าวใจ ก็อาจจะหาสินค้าที่ดี มีคุณภาพ มาทำคอนเทนต์รีวิวสินค้า
หรือบางคนถนัดเรื่องเทคโนโลยี ก็อาจจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับความรู้ทางเทคโนโลยีและรีวิวสินค้าประเภทเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่
นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมกับผู้ติดตามก็ทำให้อินฟลูเอนเซอร์และผู้ติดตามใกล้ชิดกันมากขึ้น
และเป็นการเพิ่มเอนเกจเมนต์ให้กับคอนเทนต์ด้วย 
ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มมองว่า คอนเทนต์นี้เป็นที่สนใจของผู้ชมและเพิ่มการมองเห็นได้ในทางอ้อมเช่นกัน
3. Mid-Tier Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 50,001 - 100,000 Followers
คนที่ทำคอนเทนต์มาจนมีผู้ติดตามถึงระดับนี้แล้ว คุณภาพของคอนเทนต์มักจะเริ่มดีมากขึ้น เพราะมีประสบการณ์ในการทำคอนเทนต์มาระดับหนึ่งแล้ว และอาจลงทุนใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้นในการทำคอนเทนต์ 
รวมถึงอาจมีสปอนเซอร์เข้ามาให้ทำคอนเทนต์รีวิว หรือโฆษณาบ้างแล้ว 
เครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มยอดผู้ติดตามอีกเครื่องมือหนึ่งก็คือ การยิงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ซึ่งถ้าทำคอนเทนต์ออกมาดี ผลตอบรับของการยิงโฆษณาก็จะเห็นผลมากขึ้นตามไปด้วย
4. Macro Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 100,001 - 1,000,000 Followers
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ คือคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในวงกว้าง มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของสังคม
ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์แบบเต็มตัว มีแนวทางการทำคอนเทนต์แบบชัดเจนและเป็นมืออาชีพ อาจมีการทำคอนเทนต์หลากหลายสไตล์มากขึ้น ทำให้มีผู้ติดตามจากหลากหลายกลุ่ม
ตัวอย่างไอเดียเพิ่มจำนวนยอดผู้ติดตามให้ถึง 100,000 คน ก็เช่น
- เพิ่มความลึก ความเข้มข้นของเนื้อหาคอนเทนต์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่อยากพลาดที่จะกดติดตาม
- ลองทำคอนเทนต์ให้เนื้อหามีความหลากหลายมากขึ้น จากที่อาจจะทำคอนเทนต์แนวเนื้อหาเดิม ๆ เพื่อขยายฐานผู้ติดตามให้ใหญ่และหลากหลายมากขึ้น 
ตัวอย่างเช่น
- ถ้าทำคอนเทนต์สอนทำอาหารมาก่อน อาจจะลองเพิ่มคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงไปด้วยอย่าง รีวิวห้องครัวของตัวเอง, ถ่าย Vlog ตอนไปตลาดเพื่อเลือกซื้อวัตถุดิบ หรือเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับทำความสะอาดเครื่องครัวหลังทำอาหารเสร็จ
หรือถ้าทำคอนเทนต์เกี่ยวกับรีวิวคาเฟ อาจจะลองเพิ่มคอนเทนต์รีวิวป้ายยาร้านอาหาร ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว หรือของใช้ใกล้ตัวที่ใช้อยู่แล้วดีจริงอยากบอกต่อด้วยก็ได้
- คอลแลบกับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่น โดยการทำคอนเทนต์ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นรู้จักเรา และเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะมาติดตามเราเพิ่มขึ้น
5. Mega Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000,001 Followers ขึ้นไป
อินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มนี้ มักจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสังคม เช่น ดารา นักร้อง นักกีฬา หรืออินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ 
และอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจจะมีชื่อเสียงดังไปไกลถึงต่างประเทศด้วยก็ได้
ดังนั้น การเพิ่มฐานผู้ติดตามจากต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
โดยอาจจะเพิ่มคอนเทนต์วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับคนต่างประเทศเข้าไป และทำคำบรรยายภาษาอังกฤษไว้ด้านล่าง ตัวอย่างเช่น
ถ้าทำคอนเทนต์เกี่ยวกับรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว อาจจะทำคอนเทนต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่คนมาเที่ยวประเทศไทยต้องไม่พลาด หรือแหล่งช็อปปิงและร้านอาหารร้านเด็ดก็ได้
นอกจากนี้ การสร้าง Personal Branding และชื่อเสียงให้ตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ทำคอนเทนต์เชิงให้ความรู้
ผ่านการจัดงานอิเวนต์ การให้สัมภาษณ์ การเข้าร่วมงานสัมมนา หรือเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายตามมหาวิทยาลัยหรืองานอิเวนต์ต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้ก็คือ การแบ่งอินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภทตามจำนวนผู้ติดตาม และไอเดียสำหรับการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามให้กับครีเอเตอร์แบบคร่าว ๆ
ใครที่สนใจเป็นอินฟลูเอนเซอร์และอยากเริ่มทำคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ก็ลองนำไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเองได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.