รวม 5 ไอเดีย ทำคลิปสั้น Reels เอาไว้เพิ่มเอนเกจเมนต์ เพิ่มยอดขายสินค้า พร้อมไอเดียการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

รวม 5 ไอเดีย ทำคลิปสั้น Reels เอาไว้เพิ่มเอนเกจเมนต์ เพิ่มยอดขายสินค้า พร้อมไอเดียการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

6 ม.ค. 2025
1. เปิดคลิปด้วยโปรโมชัน
การเปิดคลิปด้วยโปรโมชันจะช่วยให้คนที่สนใจในตัวสินค้าอยู่แล้ว ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น เป็นการกระตุ้นการซื้อสินค้าได้อย่างดีเยี่ยม เหมาะกับคอนเทนต์ที่ต้องการขายสินค้าโดยเฉพาะ
ตัวอย่างโครงสร้างคลิปวิดีโอ
เปิดคลิป : มีข้อความตัวใหญ่ ๆ และเสียงเล่าแบบตื่นเต้นเกี่ยวกับโปรโมชันของสินค้าแบบจัดเต็ม
เช่น
“ใครกำลังแพลนเที่ยวหยุดยาวสิ้นปีนี้ เรามีโปรลับจองโรงแรมมาบอก แค่ทำตามนี้ลดไปเลย 10%”
เนื้อหา : อธิบายเกี่ยวกับโปรโมชันว่าต้องทำอะไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง อย่างละเอียด
เช่น
“เพียงจองโรงแรมกับแพลตฟอร์ม.. แล้ว.. เพียงเท่านี้ก็รับส่วนลดไปเลยทันที 10%”
ก่อนจบคลิป : อย่าลืมกระตุ้นด้วย Call to Action ผ่านกลยุทธ์แบบขาดแคลน ที่ทำให้ผู้ชมต้องรีบตัดสินใจทันที
เช่น
“โคดส่วนลดมีจำนวนจำกัด รีบจองเลย แค่คลิกไปที่..” หรือ “รีบจองเลย ภายในวันนี้เท่านั้น”
2. เปิดคลิปด้วยปัญหา (Pain Point)
การเปิดคลิปด้วย Pain Point จะช่วยให้ผู้ชมที่มีปัญหาเดียวกันรู้สึกอิน มีอารมณ์ร่วมไปด้วยและเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น เหมาะกับสินค้าหรือบริการที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ใครบางคนได้
ตัวอย่างโครงสร้างคลิปวิดีโอ
เปิดคลิป : มีข้อความและคำพูดที่กระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหา
เช่น
“ใครมีปัญหาผิวหน้าหมองคล้ำ ดูแห้งกร้าน ไม่สดใส ออกไปเจอใครก็มีแต่คนทัก สร้างความกังวล ไม่มั่นใจ วันนี้เรามีทางแก้มาให้..”
เนื้อหา : อธิบายสาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไขอย่างละเอียดว่ามีอะไรบ้าง และแนะนำสินค้าหรือบริการของเราว่าช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง
เช่น
“สาเหตุของผิวหมองคล้ำส่วนหนึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การพักผ่อนน้อย การสูบบุหรี่ ความเครียด การละเลยการดูแลผิวหน้า ดังนั้น นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่ดีอย่าง ครีมบำรุงผิวของเรา ที่มีส่วนผสมจาก.. ช่วยให้ผิวดูกระจ่าง สดใส เปล่งประกาย..”
ก่อนจบคลิป : ปิดท้ายด้วย Call to Action ว่า ใครที่สนใจซื้อสินค้า ต้องกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและกดซื้อตรงไหน เพื่อให้คนดูรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป เช่น “ใครสนใจ คลิกที่ตะกร้าได้เลย”
3. ทำคลิป Unbox
หรือคลิปแกะกล่องสินค้า แกะกล่องสุ่ม เป็นคอนเทนต์ที่เน้นให้คนดูเกิดความรู้สึกตื่นเต้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งมักจะเป็นคลิปที่คนดูจนจบ ทำให้เป็นคลิปที่มีระยะเวลาการดูคลิป และเปอร์เซ็นต์การดูคลิปจนจบสูง
ตัวอย่างโครงสร้างคลิปวิดีโอ
เปิดคลิป : เริ่มด้วยการบอกว่า วันนี้เราจะมาทำอะไรกัน
เช่น
“วันนี้เราจะมาแกะกล่อง POP MART คอล Baby Molly ที่เพิ่งซื้อมา 3 กล่องกัน มาดูกันว่าวันนี้จะได้ตัวอะไรบ้าง”
เนื้อหา : เล่าถึงความรู้สึกตื่นเต้นระหว่างที่แกะกล่อง หรือเล่าสตอรีต่าง ๆ ของสินค้า เช่น ความเป็นมา ศิลปินที่ออกแบบ วัสดุที่ใช้ ความน่าสนใจ
เช่น
“Baby Molly ออกแบบโดย.. ได้รับแรงบันดาลใจจาก..”
ก่อนจบคลิป : อาจจะบอกพิกัดสินค้า โปรโมชัน หรือเล่าแบบสรุปเกี่ยวกับสินค้าที่เรานำเสนอ
เช่น
“ถ้าใครสนใจ อยากลองจุ่มน้อง ๆ ที่น่ารักแบบนี้ก็ทักเข้าไปที่อินบอกซ์เพจได้เลยนะคะ”
4. ทำคลิปตอบคำถามจากคอมเมนต์
บางครั้งผู้ชมหลายคนเกิดความสงสัยและทิ้งคำถามเอาไว้ในคอมเมนต์ โดยคำถามของแต่ละคนอาจจะคล้าย ๆ กัน
การตอบคำถามจากคอมเมนต์จึงช่วยคลายความสงสัยให้ผู้ชม รวมทั้งทำให้เรามีคลังคอนเทนต์ใหม่ ๆ เอาไว้ลงได้เพิ่มเติม
ตัวอย่างโครงสร้างคลิปวิดีโอ
เปิดคลิป : บอกคนดูว่าเราจะมาตอบคำถามอะไร
เช่น
“สวัสดีครับ วันนี้จะเป็นช่วง Q&A ตอบคำถามที่น่าสนใจจากคอมเมนต์ที่หลาย ๆ คน อาจจะสงสัยกันอยู่ครับ”
เนื้อหา : อ่านคำถามและตอบคำถามเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
เช่น
“คำถามจากคุณ A นะครับ ถามว่า ทำไมสินค้าของร้านเราถึงแพงกว่าร้านอื่น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสินค้าของเราใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ..”
ก่อนจบคลิป : คลิปแบบนี้ก็สามารถใส่ Call to Action ได้เช่นกัน ด้วยการขอบคุณทุกคนที่ถาม แล้วอาจจะบอกว่า “ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็สามารถทิ้งไว้ในคอมเมนต์ได้เลย และฝากกดไลก์ กดติดตาม เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ”
5. ทำคลิปรวมข้อเท็จจริง/สิ่งที่ควรรู้ แต่ผู้ชม (บางคน) ยังไม่รู้
อธิบายข้อเท็จจริง/สิ่งที่ควรรู้/เรื่องน่ารู้ ที่อาจจะเข้าใจยาก ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ซึ่งคอนเทนต์แบบนี้เป็นคอนเทนต์เชิงให้ความรู้ เหมาะสำหรับการสร้างภาพลักษณ์ให้ครีเอเตอร์หรือแบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ตัวอย่างโครงสร้างคลิปวิดีโอ
เปิดคลิป : เริ่มด้วยข้อความบนหน้าปกคลิปและเสียงเล่าแบบชวนให้สงสัย
เช่น
“รู้หรือไม่ว่า..” หรือ “รวม 3 สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนเริ่มทำ Personal Branding” ยิ่งข้อความเปิดคลิปสั้น กระชับ และฮุกมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่คนจะดูคลิปต่อมากเท่านั้น
เนื้อหา : เล่าข้อเท็จจริง จากข้อมูลที่เตรียมไว้แบบกระชับ เข้าใจง่าย โดยอาจลิสต์เป็นข้อ ๆ เพื่อให้คนดูจับใจความได้ดีมากขึ้น
เช่น
“สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเริ่มทำ Personal Branding 1. ค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบทำอะไร 2. ..”
ก่อนจบคลิป : สรุปข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจและจดจำข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น และอาจ Tie-in สินค้าหรือบริการเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผู้ชมรู้จักสิ่งที่เราขายและต้องการไปซื้อมาใช้ต่อ
เช่น
“ถ้าใครสนใจสร้าง Personal Branding แบบจับมือทำ เข้าใจง่าย แนะนำหนังสือเล่มนี้เลยชื่อว่า.. เป็นหนังสือที่จะช่วยไกด์ไลน์ให้ทุกคนที่อยากปั้นช่องเป็นของตัวเอง อ่านจบแล้วทุกคนจะจับหลักได้แบบง่าย ๆ”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.