สรุป 4 เรื่องสำคัญ อาชีพนักไลฟ์ โมเดลรายได้-กลยุทธ์ทำให้เป็นธุรกิจ ครบในโพสต์นี้

สรุป 4 เรื่องสำคัญ อาชีพนักไลฟ์ โมเดลรายได้-กลยุทธ์ทำให้เป็นธุรกิจ ครบในโพสต์นี้

22 ต.ค. 2024
- “คุณ Win William” ใช้เวลาไม่ถึงวัน ไลฟ์สดขายของได้ 200 ล้านบาท
- “คุณพิมรี่พาย” ใช้เวลา 10 นาที ขายของผ่านไลฟ์สดได้ 100 ล้านบาท
2 คนที่ยกมานี้ ทำอาชีพ “นักไลฟ์” ที่ตอนนี้มีเทรนด์ว่าแบรนด์ดังหลายแบรนด์ ชอบให้นักไลฟ์มาขายของให้
เพราะช่วยเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ได้ แถมยังได้เอนเกจเมนต์เยอะ
ยกตัวอย่างเช่น HomePro เคยร่วมมือกับคุณ Win William ให้มาไลฟ์สดขายเฟอร์นิเจอร์ ก่อนจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
บทความนี้ MarketThink จะเล่าทุกอย่างของอาชีพนักไลฟ์ให้ฟัง
1. อะไรคือ “นักไลฟ์”
นักไลฟ์ เป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้ มีหน้าที่หลัก ๆ คือ ยืนบรรยายสรรพคุณของสินค้า และโน้มน้าวให้คนที่เข้ามาดูไลฟ์สดบนช่องทางอย่าง TikTok, Shopee หรือ Lazada ซื้อของให้ได้
เสน่ห์ของการซื้อของในไลฟ์สดคือ การที่คนดูและคนขายจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้แบบ Real-Time
เช่น สามารถซื้อ-ขาย, ถาม-ตอบเรื่องข้อมูลของสินค้า และขอส่วนลดต่าง ๆ ได้เลยผ่านไลฟ์
ทำให้การซื้อของผ่านไลฟ์สด ให้ประสบการณ์การซื้อที่ต่างจากการสั่งซื้อออนไลน์เฉย ๆ ค่อนข้างเยอะ
2. นักไลฟ์มีโมเดลการทำเงินอย่างไร ?
สำหรับโมเดลรายได้ของนักไลฟ์ โดยทั่วไปแล้วจะเก็บค่านายหน้าจากยอดขายโดยตรง ยิ่งขายได้เยอะ ยิ่งได้ส่วนแบ่งจากแบรนด์เยอะ
แม้จะไม่มีข้อมูลนักไลฟ์ในไทยอย่างเป็นทางการ
แต่สำหรับตลาดประเทศจีน นักไลฟ์ที่มีชื่อเสียง จะเก็บค่านายหน้าจากแบรนด์ราว ๆ 20% ของยอดขายที่ทำได้ในไลฟ์
ยิ่งนักไลฟ์คนไหนมีผู้ติดตามเยอะ หรือขายของเก่งมาก ๆ ก็จะยิ่งมีอำนาจต่อรองกับแบรนด์เยอะขึ้น ทำให้ได้ค่านายหน้าที่สูงขึ้นตาม
และสำหรับนักไลฟ์สมัครเล่นที่ยังไม่มีชื่อเสียงหรือฐานผู้ติดตาม ก็อาจจะมีการคิดค่าไลฟ์เป็นรายชั่วโมง โดยไม่เก็บค่านายหน้า
อย่างในไทย เท่าที่เช็กในแพลตฟอร์ม Fastwork ที่เอาไว้จ้างฟรีแลนซ์
นักไลฟ์จะมีการคิดเรตเริ่มต้นประมาณ 2,000 บาทต่อชั่วโมง
โดยราคาจะเพิ่มขึ้น ตามคุณภาพของอุปกรณ์ในการไลฟ์
- กลยุทธ์ของนักไลฟ์ เป็นอย่างไรบ้าง ?
กลยุทธ์ของนักไลฟ์ที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คน จะมีจุดร่วมที่คล้ายกัน
คือ “การเสนอส่วนลดให้ลูกค้า จนยากจะปฏิเสธได้”
โดยวิธีการก็อย่างเช่น นักไลฟ์จะใช้เครดิตของตัวเองไปต่อรองกับแบรนด์โดยตรง เพื่อให้ได้สินค้ามาขายในต้นทุนที่ราคาถูกมาก ๆ เพื่อเอามาขายในไลฟ์
อย่างเช่น คุณ Win William เองก็เคยเปิดเผยในช่อง TikTok ของตัวเองว่า มีการไปร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อเอาสินค้าราคาถูกมาขายให้คนในไลฟ์ด้วยเหมือนกัน
ซึ่งกลยุทธ์แบบนี้ ก็ดูเป็นอะไรที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย
ฝั่งแบรนด์เองก็ขายของได้เยอะขึ้น ค่านายหน้าที่ต้องเสียให้นักไลฟ์ ก็ตีเป็นงบการตลาดไป
ส่วนนักไลฟ์เองก็มีสินค้าราคาถูกมาขาย ทำให้ได้ผู้ติดตามและเอนเกจเมนต์เพิ่มขึ้น
3. ถ้าอยากเพิ่มยอดขาย ให้นักไลฟ์มาช่วยขายดีไหม ?
สำหรับระยะสั้น ๆ การให้นักไลฟ์มาช่วยขาย อาจจะช่วยเพิ่มยอดขายและเคลียร์สต๊อกสินค้าได้ดี
แต่สำหรับระยะยาว ตอนนี้เราอาจตอบไม่ได้ว่า ผลดี-ผลเสีย ของการให้คนมาช่วยไลฟ์เป็นอย่างไร
เพราะการไลฟ์สดขายของ เพิ่งจะมาได้รับความนิยมแค่ในช่วงหลัง ๆ มานี้
แต่ถ้าเอาตามตำรา การที่นักไลฟ์ชอบใช้กลยุทธ์ลดราคาบ่อย ๆ อาจทำให้คนเคยชิน และติดนิสัยไม่ยอมซื้อสินค้าราคาเต็ม ซึ่งไม่ดีต่อ Branding ของธุรกิจในระยะยาว
4. อนาคตของนักไลฟ์ จะเป็นอย่างไรต่อ ?

ถ้าลองวิเคราะห์ดู อาชีพนักไลฟ์เป็นอาชีพที่ Barriers to Entry ค่อนข้างต่ำ
คือหมายความว่า ไม่ต้องลงทุนเยอะ แค่มีกล้องหรือสมาร์ตโฟน กับขาตั้งกล้องก็เริ่มไลฟ์ได้แล้ว
แถมนักไลฟ์ยังเหมาะกับการทำเป็นงานเสริม
ซึ่งแปลว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่จะมีคนสนใจอาชีพนี้เยอะขึ้นในอนาคต
เชื่อไหมว่าแม้แต่คุณ Win William ยังเริ่มต้นอาชีพด้วยเงินแค่ 4,000 บาท ก่อนจะทำยอดขายในไลฟ์เดียวได้เป็น 100 ล้านบาท ในวันนี้
อย่างไรก็ดีด้วยกลยุทธ์เน้นขายราคาถูก โดยอาศัยเครดิตของนักไลฟ์ในปัจจุบัน ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างนักไลฟ์สมัครเล่น กับนักไลฟ์ระดับอาชีพได้
เพราะนักไลฟ์สมัครเล่นจะมีอำนาจต่อรองกับแบรนด์น้อยมาก
ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่นักไลฟ์รายย่อยจะต่อรองเอาสินค้าราคาถูกจากแบรนด์มาขาย เหมือนกับที่นักไลฟ์ระดับอาชีพทำได้
โดยเรื่องนี้ถูกแชร์ไว้โดยคุณ Jacob Cooke ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท WPIC Marketing and Technologies ที่ปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชีย
อ่านมาถึงตรงนี้ เทรนด์ไลฟ์สดเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงมาก ๆ โดยนักไลฟ์เก่ง ๆ
จะสามารถขายได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่ “ผงซักฟอก” ไปจนถึง “ทองคำ”
ถือเป็นโอกาสที่นักการตลาดควรทำความเข้าใจเอาไว้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.