10 อินไซต์ จากโรงงานเบเกอรี CPRAM ผลิตขนมปัง เลอแปง 2,400,000 แผ่นต่อวัน

10 อินไซต์ จากโรงงานเบเกอรี CPRAM ผลิตขนมปัง เลอแปง 2,400,000 แผ่นต่อวัน

19 ส.ค. 2024
10 อินไซต์ จากโรงงานเบเกอรี CPRAM ผลิตขนมปัง เลอแปง 2,400,000 แผ่นต่อวัน - MarketThink
เชื่อไหมว่าในรูปนี้ไม่ใช่ระบบพลังงานหรือโครงสร้างอาคารอะไรทั้งนั้น แต่เป็น “ที่พักขนมปัง” ขนาดสูงเท่าตึก 4 ชั้น 
ซึ่งนี่คือภาพจากในโรงงานเบเกอรีแห่งใหม่ของ CPRAM มูลค่า 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ชลบุรี ที่เพิ่งเปิดให้สื่อได้เข้าชมเมื่อไม่กี่วันมานี้
ที่น่าสนใจคือ โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตขนมปังได้มากถึง 2,400,000 แผ่นต่อวัน ด้วยคนงานแค่ 400 คนเท่านั้น ถือเป็นโรงงานเบเกอรีที่ล้ำเป็นเบอร์ต้น ๆ ในไทยแล้วตอนนี้
แล้วอยากรู้ไหมว่า โรงงานแห่งนี้มีอะไรเจ๋ง ๆ ซ่อนอยู่อีกบ้าง ? MarketThink จะสรุป 10 อินไซต์ที่น่าสนใจของโรงงานนี้ให้ฟัง..
1. บริษัท ซีพีแรม จํากัด หรือ CPRAM เป็นผู้ผลิต ข้าวกล่องสีแดงและสีขาว ที่อยู่ตาม 7-Eleven รวมถึงเป็นเจ้าของขนมปังแบรนด์ “เลอแปง”
โดย CPRAM เป็นบริษัทในเครือ CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) เจ้าของ 7-Eleven ในไทย ซึ่ง CPALL ถือหุ้น CPRAM อยู่ในสัดส่วน 99.99%
2. โรงงานใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีมูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาท 
มีหน้าที่หลักคือผลิตสินค้าในหมวดเบเกอรีที่วางขายใน makro และ Lotus's รวมไปถึงผลิตขนมปังแบรนด์ เลอแปง ที่วางขายใน 7-Eleven  
3. เอาเท่าที่ตาเห็น โรงงานนี้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำ ๆ และอลังการมาก ๆ เช่น
- มีตู้พักขนมปังสูงเท่าตึก 4 ชั้น
- มีสายพานส่งขนมปังที่เร็วแบบตามองไม่ทัน
- มีเครื่องจักรผสมไส้ขนมปังที่แบ่งสัดส่วนของส่วนผสมได้เท่ากันทุกชิ้น
ขนมปังและเบเกอรีทุกชิ้นของโรงงานนี้จะถูกผลิตในระบบปิด แทบไม่ใช้คนเข้ามายุ่งเลย จึงไม่แปลกที่โรงงานนี้จะใช้คนงานแค่ 400 คน แต่ผลิตขนมปังได้วันละ 2,400,000 แผ่น
4. CPRAM บอกว่าตอนนี้ ตลาดเบเกอรีในไทยกำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 40,000 ล้านบาท ในปีนี้ และจะโตขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ 
โดยก่อนหน้านี้ CPRAM มีโรงงานผลิตขนมปังและเบเกอรีอยู่ที่ลาดกระบังอยู่แล้ว
แต่ตรงนั้นผลิตขนมปังได้แค่ 2,000,000 แผ่นต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องสร้างโรงงานตรงนี้เพิ่ม ตามความต้องการของผู้บริโภค 
5. ถ้ารวมกำลังการผลิตขนมปังของทั้ง 2 โรงงาน CPRAM จะสามารถผลิตขนมปังรวมกันได้ 4,400,000 แผ่นต่อวัน แถมตอนนี้ที่โรงงานใหม่จะยังใช้กำลังการผลิตแค่ 80% เท่านั้น 
หมายความว่า CPRAM ยังมีกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการเหลือเฟือไปอีกหลายปี
6. CPRAM บอกว่าวาง Position ของเลอแปง ให้อยู่ในตลาด Mass ดังนั้นต้องทำราคาขายถูก ๆ จะได้เข้าถึงคนเยอะ ๆ 
7. การลงทุนสร้างโรงงานมากถึง 2,000 ล้านบาท แม้จะใช้เงินเยอะ แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต 
เพราะยิ่งผลิตเยอะขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าก็จะยิ่งต่ำลง ตามตำราเรียกว่า การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ทำให้แม้ต้นทุนของขนมปังจะสูงขึ้น แต่ CPRAM จะสามารถตรึงราคาขายสินค้าได้นานกว่าคนอื่นได้ 
โดยผู้บริหาร CPRAM บอกว่า ไม่ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นแค่ไหน ทางบริษัทจะขอขึ้นราคาเป็นคนสุดท้าย เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงสินค้าดีมีคุณภาพในราคาสบายกระเป๋า
8. CPRAM มี 7 สำนักงานใหญ่ กับอีก 16 โรงงาน กระจายอยู่ทั่วไทย เช่น กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, ชลบุรี, ขอนแก่น, ลำพูน และสุราษฎร์ธานี
ที่ต้องสร้างโรงงานเยอะ ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคไวขึ้นโดย CPRAM บอกว่าการสร้างโรงงาน 1 แห่ง ช่วยลดเวลาจัดส่งสินค้าได้ 3-4 ชั่วโมง
9. ผลประกอบการของ บริษัท ซีพีแรม จํากัด 
- ปี 2564 รายได้ 20,508 ล้านบาท กำไร 187 ล้านบาท 
- ปี 2565 รายได้ 25,697 ล้านบาท กำไร 571 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 28,612 ล้านบาท กำไร 1,122 ล้านบาท
โดยผู้บริหาร CPRAM บอกว่า รายได้จากสินค้ากลุ่มเบเกอรี คิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด ถ้าคำนวณคร่าว ๆ รายได้จากสินค้ากลุ่มเบเกอรีของ CPRAM จะอยู่ที่ประมาณ
- ปี 2564 รายได้ 6,150 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 7,710 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 8,580 ล้านบาท 
10. สินค้าที่ขายดีสุดในกลุ่มเบเกอรีของ CPRAM คือ “แซนด์วิชกระเป๋า” 
สำหรับอนาคต CPRAM จะพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาขายมากขึ้น และแง้มว่าอาจมีการพิจารณาเปิดโรงงานเพิ่ม ที่ภาคอีสาน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.