อธิบายคำว่า Retargeting กับ Remarketing การตลาดชื่อคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

อธิบายคำว่า Retargeting กับ Remarketing การตลาดชื่อคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

18 ส.ค. 2024
Retargeting และ Remarketing คือสองคำศัพท์ด้านการตลาด ที่ถูกใช้สลับกันไปมา เพราะหลายคนอาจเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้ หมายถึงการทำการตลาด ที่ต้องการเปลี่ยนคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้า หรือมีความสนใจสินค้าของเรา ให้กลายมาเป็นลูกค้าของเราในที่สุด
แต่จริง ๆ แล้ว คำว่า Retargeting และ Remarketing มีทั้งความเหมือนและความต่าง
ในโพสต์นี้ MarketThink จะอธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ
- Retargeting เปลี่ยน “ว่าที่” ลูกค้า ให้กลายเป็นลูกค้า
Retargeting คำนี้หมายถึงกลยุทธ์การตลาดที่มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยน “ว่าที่” ลูกค้า เช่น ผู้ที่มีความสนใจในตัวสินค้า เคยดูสินค้าของเราบนเว็บไซต์ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ ให้กลายเป็นลูกค้าจริง ๆ ของเรา
โดยการใช้กระบวนการกระตุ้นแบบซ้ำ ๆ
เช่น การแสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ตามความสนใจของแต่ละคน
ลองคิดภาพตามง่าย ๆ ว่า หากเราเป็นคนที่ต้องการซื้อสมาร์ตโฟนสักรุ่นหนึ่ง เราคงต้องค้นหาข้อมูลของสมาร์ตโฟนรุ่นนั้นบน Google ก่อน แม้จะยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อในทันที
แต่เราก็จะเห็นโฆษณาของสมาร์ตโฟนรุ่นนั้นบนเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่เราใช้งาน เช่น Facebook หรือ Instagram อยู่บ่อย ๆ จนสุดท้ายเราก็อาจตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นนั้นไปในที่สุด
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Retargeting ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักการตลาดใช้กัน
- Remarketing ทำให้ลูกค้าเก่า ซื้อสินค้าซ้ำต่อไป
ส่วนคำว่า Remarketing จะแตกต่างจาก Retargeting อยู่เล็กน้อย นั่นก็คือ
Remarketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยซื้อสินค้าไปแล้ว ตัดสินใจซื้อสินค้าซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งลูกค้าเก่า ๆ ของเราก็คือกลุ่มคนที่เรามีข้อมูลต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น ลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าของเราบนหน้าเว็บไซต์ ทำให้เรามีข้อมูลทั้ง ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล
โดยเราสามารถนำข้อมูลของลูกค้าเหล่านี้ มาใช้ในการกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าซ้ำอีกครั้งได้
เช่น การส่งอีเมลโปรโมชันไปหาลูกค้าเก่า การแนะนำสินค้าเสริม ที่สามารถใช้คู่กับสินค้าที่ลูกค้าเก่าเคยซื้อไปแล้ว แนะนำให้สมัครสมาชิก หรือต่ออายุสมาชิก หรือสมัครบริการเสริมเพิ่มเติม ให้ส่วนลด หรือโปรโมชัน
โดยอาจส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังเบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือที่อยู่ของลูกค้า ซึ่งเราได้มาจากการสั่งซื้อสินค้าในครั้งก่อน ๆ หรือจะแสดงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน
สรุปง่าย ๆ อีกครั้ง Retargeting คือกลยุทธ์ที่ใช้เปลี่ยนว่าที่ลูกค้า ให้กลายเป็นลูกค้าจริง ๆ
ในขณะที่ Remarketing คือกลยุทธ์ที่ใช้ในการกระตุ้นให้ลูกค้าเก่า ๆ ตัดสินใจซื้อสินค้าซ้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน นิยามของ Retargeting และ Remarketing เริ่มมีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนอีกต่อไป จนนิยามของทั้งสองคำเริ่มทับซ้อนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
บ้างก็บอกว่า Retargeting และ Remarketing คือคำที่สามารถใช้แทนกันได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนว่าที่ลูกค้า ให้กลายเป็นลูกค้า เหมือน ๆ กัน
แต่จะต่างกันตรงที่ Retargeting จะใช้การแสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ตามพฤติกรรม และความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคน ที่ได้จากการเก็บ Cookies ของแต่ละเว็บไซต์
ส่วน Remarketing จะใช้การส่งอีเมลไปหาผู้ใช้แต่ละคน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้า
ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ หากเราเข้าไปดูสินค้าที่เว็บไซต์หนึ่ง และได้ทำการเพิ่มสินค้าลงในตะกร้าแล้ว แต่ยังไม่ได้กดชำระเงิน
นักการตลาดอาจใช้กลยุทธ์ Remarketing ด้วยการส่งอีเมลมาหาเราโดยตรง เพื่อบอกว่าขณะนี้ยังมีสินค้าค้างอยู่ในตะกร้า
หรือมอบส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าที่กำลังลังเลอยู่ แบบนี้ก็ได้เช่นกัน
ทำให้ในบางครั้ง Remarketing กลายเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำไปผูกติดกับ Email Marketing ไปโดยปริยาย
จนในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็อาจเรียกการตลาดที่ใช้ในการเปลี่ยนว่าที่ลูกค้า ให้กลายเป็นลูกค้าจริง แบบรวม ๆ ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดแบบ Retargeting ไปแล้ว
รวมถึงแพลตฟอร์มโฆษณาบางแพลตฟอร์ม ก็มีความสามารถทั้งการทำ Retargeting และ Remarketing ในแพลตฟอร์มเดียวกัน
จึงทำให้ในปัจจุบัน คำว่า Retargeting ได้รับความนิยมมากกว่าคำว่า Remarketing นั่นเอง..
- แล้ว Retargeting หรือ Remarketing แบบไหนดีกว่ากัน ?
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ หลายคนน่าจะอยากรู้ว่า Retargeting หรือ Remarketing กลยุทธ์ไหนที่มีความเหมาะสมกับการทำการตลาดของตัวเองมากกว่ากัน
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า Retargeting เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับการหาลูกค้าใหม่ โดยการแสดงโฆษณาตามพฤติกรรม และความสนใจของแต่ละบุคคล
เน้นการทำการตลาดไปกับสินค้าที่ซื้อครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ใช่สินค้าที่ต้องซื้อซ้ำบ่อย ๆ
และที่สำคัญคือ กลยุทธ์การตลาดแบบ Retargeting จะเหมาะกับแบรนด์ที่มีงบประมาณในการลงโฆษณาในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักการทำงานสำคัญของกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบนี้
ส่วน Remarketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับการขายสินค้าที่ลูกค้ามีแนวโน้มซื้อซ้ำบ่อย ๆ หรือแบรนด์ที่อยากขายสินค้าพ่วง ไปกับสินค้าเดิมที่ลูกค้าเคยซื้อไปก่อนหน้านี้
รวมถึงแบรนด์ที่มีฐานข้อมูลลูกค้าเป็นของตัวเอง และไม่ได้มีงบประมาณในการลงโฆษณาออนไลน์บ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง ในเมื่อนิยามของกลยุทธ์การตลาด Retargeting และ Remarketing ไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน
ก็หมายความว่าแบรนด์ต่าง ๆ อาจไม่สามารถเลือกทำการตลาดด้วยกลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้
เพราะกลยุทธ์ทั้งสอง ต่างมีข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน
และหากแบรนด์เลือกให้น้ำหนักกับทั้งสองกลยุทธ์นี้ ตามความเหมาะสม ก็จะยิ่งทำให้การเข้าถึงลูกค้าทำได้ดียิ่งขึ้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.