สรุปกระแสใหม่ตอนนี้ รับจ่ายบิลแทนคนอื่น แล้วค่อยผ่อนจ่าย กับ Shopee SPayLater

สรุปกระแสใหม่ตอนนี้ รับจ่ายบิลแทนคนอื่น แล้วค่อยผ่อนจ่าย กับ Shopee SPayLater

29 เม.ย. 2024
ตอนนี้กำลังมีกระแสบนโซเชียลมีเดีย มีหลายคนออกมาประกาศ หาคนจ่ายบิลต่าง ๆ ให้
ไม่ว่าจะเป็น บิลค่าโทรศัพท์, บิลค่าน้ำ, บิลค่าไฟ จนไปถึงบิลค่าบัตรเครดิต
โดยคนที่รับจ่ายบิลให้ จะต้องจ่ายผ่านบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังอย่าง SPayLater ของ Shopee
ที่น่าสนใจคือ คนที่รับจ่ายบิลให้ จะได้รับเงินจากเจ้าของบิลไม่เต็มจำนวน โดยจะโดนหักราว 10-25%
เรื่องนี้ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ทั้งคนจ่าย คนรับจ่าย ทำไปทำไม ?
กลไกของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ? เรามาดูกัน..
ต้องอธิบายก่อนว่า SPayLater คือหนึ่งในฟีเชอร์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee
ซึ่งบริการนี้เป็นบริการสินเชื่อประเภทหนึ่ง ที่ให้วงเงินกับลูกค้าไว้จำนวนหนึ่ง ไว้สำหรับผ่อนสินค้าใน Shopee โดยจะมีการเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด
หรือจะเอาวงเงินไปซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นงวดเดียวโดยไม่ต้องผ่อนชำระ และไม่มีดอกเบี้ยก็ได้
โดย SPayLater จะมีข้อกำหนดและวงเงินให้กับลูกค้าแต่ละคนไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ลูกค้าสมัคร SPayLater และพฤติกรรมการใช้จ่าย
ตัวอย่างเช่น
- หากสมัครก่อนวันที่ 4 สิงหาคม 2566 จะได้รับวงเงินสูงสุด 100,000 บาท
สามารถผ่อนรายเดือนนานสูงสุด 12 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (ลดต้นลดดอก)
- หากสมัครตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป จะได้รับวงเงินสูงสุด 20,000 บาท
สามารถผ่อนรายเดือนนานสูงสุด 5 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี (ลดต้นลดดอก)
ประเด็นคือ วงเงิน SPayLater ที่ว่านี้ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้
ซึ่งนี่คือประเด็นสำคัญของกลไกและกระแสนี้ ..
ทีนี้เรามาดูกันว่า กระแสตามหาคนจ่ายให้ผ่าน SPayLater
ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เป็นอย่างไร
เรื่องนี้สามารถอธิบายให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ คือ
-นาย A มีเครดิตกับ SPayLater อยู่ 50,000 บาท สามารถผ่อน 0% ได้นาน 5 เดือน และอยากเอาเงินก้อนดังกล่าวมาใช้
เลยไปประกาศในกลุ่ม Facebook ว่า จะขอจ่ายบิลต่าง ๆ ให้กับสมาชิกในกลุ่ม พร้อมเสนอส่วนลด 10-15%
-นาย B มีบิลค่าไฟ 1,000 บาทอยู่ และอยากได้ส่วนลดค่าไฟ เลยเสนอให้นาย A มาจ่ายค่าไฟให้ และจะให้เงินสดนาย A จำนวน 900 บาท
ถามว่าทำแบบนี้ทำไม ก็ย้อนกลับไปที่เงื่อนไข SPayLater ว่าเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้
เพราะฉะนั้นฝั่งคนที่มีวงเงิน และต้องการเงินสด เลยต้องการหาคนเอาเงินสดมาให้ ผ่านการ ฝากจ่าย นั่นเอง
ทีนี้เมื่อตกลงกันได้ ก็อาจจะมีการจ่ายเงินอยู่หลัก ๆ 2 กรณีคือ
1. นาย A รับเงินสดจากนาย B มา 900 บาท และไปจ่ายผ่าน SPayLater 1,000 บาท
2. นาย A จ่ายให้นาย B ก่อน โดยหักจากวงเงิน SPayLater เมื่อการจ่ายได้รับการยืนยัน นาย B จึงค่อยโอนเงิน 900 บาทให้นาย A
สรุปแล้ว นาย A และนาย B ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?
-นาย B ที่เป็นคน ฝากจ่าย
เสียส่วนต่าง 100 บาท แต่ได้เงินสดมาใช้ก่อน 900 บาท
แล้วค่อยผ่อนชำระกับ Shopee ในภายหลัง
-นาย A ที่เป็นคน รับจ่าย
ได้จ่ายค่าไฟในราคาที่ถูกลง เหมือนได้ส่วนลดค่าไฟฟรี ๆ 100 บาท
คือถ้าตกลงกันได้ ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์แบบ Win-Win
-แล้ว Shopee ได้อะไร ?
ก็อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมจากการจ่ายบิล แต่กรณีนี้ บางทีก็จะมีโคดลดค่าธรรมเนียม
แต่สิ่งที่ Shopee น่าจะชอบที่สุดน่าจะเป็น การได้ดึงคนมาใช้งาน SPayLater ซึ่งก็จะทำให้คนมีโอกาสเอาวงเงินไปซื้อของใน Shopee ต่อ
รวมถึงคนที่มาใช้ ก็มีโอกาสไปใช้ฟีเชอร์อื่น ๆ ของ Shopee ต่ออีก
หรือถ้ามีการผิดนัดชำระ ก็มีกลไกการรคิดดอกเบี้ยจากคนที่ชำระเกินกำหนดเวลา
แล้วข้อระวังของกระแสนี้ มีอะไรบ้าง ? ลองมาวิเคราะห์ข้อสำคัญ ๆ กัน..
- ระวังถูกโกง
สำหรับใครที่ต้องการจ่ายบิลต่าง ๆ ด้วยราคาที่ถูกลงกว่าบิลที่แท้จริง ก็ต้องระวังที่จะถูกโกง เพราะเราต้องโอนเงินสด ไปให้บุคคลอื่นเพื่อจ่ายบิลด้วย SPayLater แทนเรา
นั่นหมายความว่า เรามีโอกาสที่จะถูกโกง โอนเงินไปแล้ว แต่คนคนนั้นกลับไม่ได้จ่ายบิลให้เราจริง ๆ ตามที่ตกลงกันไว้
หรือในอีกมุมหนึ่ง ถ้าฝ่ายที่เป็นผู้จ่ายบิลให้ผ่าน SPayLater ต้องจ่ายบิลให้ก่อน
ก็มีความเสี่ยงที่เจ้าของบิลตัวจริงจะไม่โอนเงินมาให้ตามที่ตกลงกันไว้
- ระวังโดนอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 25% ต่อปี
ส่วนคนที่เป็นผู้รับจ่ายบิลด้วย SPayLater เพื่อต้องการได้รับเงินสดมาใช้ ก็ต้องระวังความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด
จนเสียอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 25% ต่อปี รวมถึงยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย
เพราะต้องเข้าใจว่า คนที่ต้องการเงินสดไปใช้ในลักษณะแบบนี้ อาจเป็นคนที่มีสภาพคล่องที่ไม่ดี หรือก็คือต้องการเงินสดไปหมุนใช้
สรุปกระแสเรื่องนี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่า
คนไทยก็มีความครีเอทีฟในการหาวิธีการหมุนเงินมาก ๆ
แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน เยอะเหมือนกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.