รู้จัก Ai-CHA แบรนด์ชานม-ไอศกรีม น้องใหม่.. คล้าย ๆ MIXUE แต่ยังเล็กกว่ามาก

รู้จัก Ai-CHA แบรนด์ชานม-ไอศกรีม น้องใหม่.. คล้าย ๆ MIXUE แต่ยังเล็กกว่ามาก

25 ม.ค. 2024
นาทีนี้คงไม่มีร้านชานมไข่มุก-ไอศกรีมแบรนด์ไหนที่ร้อนแรงไปกว่า “MIXUE” แบรนด์รูปตุ๊กตาหิมะจากจีนอีกแล้ว
โดยตอนนี้ MIXUE มีจำนวนสาขาในไทยไปแล้วกว่า 200 สาขา ด้วยโมเดลแฟรนไชส์ กระจายอยู่ตามทุกตรอกซอกซอย ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดแค่ไม่กี่ปี
แถมจำนวนสาขาของ MIXUE ทั่วโลก ตอนนี้ก็มีมากถึง 36,153 สาขา
เป็นรองแค่ McDonald's, Subway และ Starbucks เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่เมื่อธุรกิจไหนดูไปได้สวย มันก็ต้องมีคนอยากมาแบ่งเค้ก ชิงส่วนแบ่งตลาดบ้างอยู่แล้ว
MIXUE เองก็เช่นกัน.. ที่ไม่มีทางจะโตแบบนี้ไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีคู่แข่งเลย
เพราะตอนนี้มีแบรนด์ชานมไข่มุก-ไอศกรีมแบรนด์ใหม่ ชื่อว่า Ai-CHA
ที่ขายชานมไข่มุก-ไอศกรีม ในราคาเริ่มต้นแค่ 15 บาท
แถมยังตกแต่งร้านโดยใช้โทนสีแดง, มีการใช้แมสคอตประจำร้าน มาสร้างการจดจำ และมีการใช้ฟอนต์ Tahoma ในป้ายเมนู
ซึ่งที่ว่ามามันคล้ายกับ MIXUE เอามาก ๆ ชนิดที่ว่าถ้าไม่สังเกตดี ๆ ก็แทบไม่รู้เลยว่าเป็นคนละร้านกัน
แล้ว Ai-CHA มาจากไหน มีกลยุทธ์อะไรบ้างมาใช้สู้กับ MIXUE ?
Ai-CHA เป็นแบรนด์ชานมไข่มุกและไอศกรีม จากอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดย 2 พี่น้องตระกูล Lie
โดยคำว่า “Ai-CHA” มีที่มาจากคำภาษาจีน 2 คำ
คือ “爱” (ài) ที่แปลว่า “รัก” และ “茶” (chá) ที่แปลว่า “ชา”
เพื่อสื่อถึงเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการแบ่งปันความรัก ผ่านการบริการเครื่องดื่มชาคุณภาพดี ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
Ai-CHA บอกว่าทางแบรนด์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบเป็นอย่างมาก
โดยเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดีจากทั่วโลก
เช่น ชาแท้จากไต้หวัน, นมสดจากนิวซีแลนด์ และไข่มุกจากไต้หวัน ผ่านกรรมวิธีของเครื่องจักรที่ทันสมัย
เพื่อให้สินค้าออกมามีคุณภาพดี ในราคาที่จับต้องได้
Ai-CHA สามารถขยายสาขาในประเทศบ้านเกิดอย่าง อินโดนีเซีย ได้ทั้งหมด 100 กว่าสาขา ก่อนจะเริ่มขยายสาขาออกต่างประเทศอย่างจริง ๆ จัง ๆ ตอนปี 2565
สำหรับกลยุทธ์ของ Ai-CHA ดู ๆ แล้วน่าจะเป็น C&D (Copy and Development) หรือการนำจุดแข็งของคู่แข่งมาพัฒนาให้ดีขึ้น
ถามว่า Copy อย่างไร ? ก็เริ่มตั้งแต่เมนูของ Ai-CHA จะเหมือนกับ MIXUE แทบทุกอย่าง
แถมยังใช้กลยุทธ์เน้นขายของถูก เพื่อให้เข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม
โดยเมนูของ Ai-CHA จะมีราคาประมาณ 15-45 บาท เท่ากันกับ MIXUE
- ไอศกรีมโคน 15 บาท
- น้ำเลมอนสด 20 บาท
- ชานมไข่มุก 40 บาท
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ทาง Ai-CHA จะมีการสร้างความแตกต่างด้วยจำนวน
เมนูที่หลากหลายกว่าถึง 40 เมนู ขณะที่ MIXUE มี 28 เมนูเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ไอศกรีมของ Ai-CHA ที่จะมีทั้งหมด 5 รสชาติ
ได้แก่ วานิลลา, มัทฉะ, ซีซอลท์ (เกลือทะเล), ทูโทนซีซอลท์ และทูโทนมัทฉะ
ในขณะที่ MIXUE มีรสชาติเดียวคือ วานิลลา (และช็อกโกแลตในช่วงวันเด็ก)
ที่เจ๋งก็คือ Ai-CHA มีการเพิ่มกิมมิก ด้วยการทำให้เมนูแต่ละวันไม่เหมือนกัน
เช่น ไอศกรีมซีซอลท์จะมีขายเฉพาะวันคี่ ส่วนไอศกรีมมัทฉะจะขายเฉพาะวันคู่
ช่วยสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้า ทำให้มาซ้ำได้บ่อย ๆ
นอกจากนี้ Ai-CHA น่าจะใช้การขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์คล้ายกับ MIXUE
เพราะถ้าอ้างอิงตามข้อมูลจาก ThaiFranchiseCenter จะเห็นได้ว่า Ai-CHA
ได้มีการมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตั้งแต่ปี 2565 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไอ-ชา ฟู้ด ทีจี จำกัด
และที่ผ่านมา Ai-CHA ก็มีการเปิดขายแฟรนไชส์ในไทยอย่างเป็นทางการไปแล้วด้วย
ซึ่งสาขาแรกของ Ai-CHA จะตั้งอยู่ที่บริเวณ รามคำแหง 24 แยก 14
ห่างกับ MIXUE สาขาแรก แค่ 2.3 กิโลเมตรเท่านั้น..
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงการแข่งขันในระยะยาว.. MIXUE น่าจะยังได้เปรียบในเรื่องนี้มากที่สุดอยู่ดี
เพราะด้วยจำนวนแค่ 136 สาขา (อินโดนีเซีย 127 สาขา, สิงคโปร์ 4 สาขา และไทย 5 สาขา) ของ Ai-CHA มันยังน้อยมาก ถ้าเทียบกับจำนวน 36,153 สาขาทั่วโลกของ MIXUE
ทำให้ทั้งอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้า รวมไปถึงการประหยัดต่อขนาด (ยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนยิ่งถูกลง) น่าจะยังไม่มีใครสู้ MIXUE ได้ในตอนนี้
แต่ถึงอย่างนั้น.. การที่เริ่มมีคนลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
แถมยังแข่งกันเสนอสินค้าที่หลากหลาย ในราคาที่พอ ๆ กัน
มันก็น่าจะเป็นสัญญาณแล้วว่า
หลังจากนี้ สงครามร้านชานมไข่มุก-ไอศกรีม ที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ ๆ 30,000 ล้านบาทในประเทศไทย น่าจะทวีความดุเดือดขึ้นแน่นอน
และก็แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดในเรื่องนี้ก็คงไม่พ้น “ผู้บริโภค”
ที่จะมีตัวเลือกเติมความหวานในแต่ละวันได้มากขึ้น นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.