กรณีศึกษา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสของแบรนด์ Gumi Gumi โดย Mogu Mogu

กรณีศึกษา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสของแบรนด์ Gumi Gumi โดย Mogu Mogu

10 ก.ค. 2019
เมื่อไม่นานมานี้..
เพจ Facebook ทางการของแบรนด์ Gumi Gumi มีเรื่องที่น่าสนใจ
หากใครยังไม่คุ้นกับแบรนด์นี้ จริงๆ แล้ว แบรนด์นี้คือแบรนด์ที่เคยเป็นที่นิยมมาก่อน รู้จักกันในชื่อ Mogu Mogu และที่แตกแบรนด์ออกมาเป็น Gumi Gumi ก็เพื่อทำตลาดเฉพาะในประเทศไทยนั่นเอง ส่วน Mogu Mogu กลายเป็นแบรนด์อินเตอร์ทำตลาดในต่างประเทศเท่านั้น..
เรื่องมีอยู่ว่า.. มีน้องนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง ภายใต้ชื่อบัญชี “แร๊พเฟี้ยวเฉี่ยวหญ้าตีลังกายิง บาซูก้าใส่หน้าสไปเดอร์แมน วางแผนฆ่าทานอส” 
โพสต์ไปที่เพจทางการว่า.. เครื่องดื่มผสมวุ้นมะพร้าวรุ่น Limited รสชาติมาการอง ที่วางขายอยู่ที่โรงเรียนไม่อร่อย รสชาติแย่มาก
จนถึงขนาดที่น้องแร๊พเฟี้ยว ต้องวานให้เพื่อนๆ ในห้องเรียนกว่า 20 คน ช่วยกันดื่มคนละอึก สองอึกจนกว่าจะหมด
หากอยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่า.. 
สินค้าที่เราขาย ไม่อร่อย หรือ คุณภาพไม่ดี
เป็นเรา เราจะทำอย่างไร?
หลายคนอาจท้อแท้
แต่ไม่ใช่กับ Gumi Gumi..
ทีมงาน Gumi Gumi ทราบมาว่าเครื่องดื่ม Gumi Gumi ที่วางขายในโรงเรียนเหลือเพียงรสชาติเดียว เพราะรสชาติอื่นขาดตลาด น้องแร๊พเฟี้ยวอาจจะเปลี่ยนใจถ้าได้ลองชิมรสชาติอื่น
ทีมงาน Gumi Gumi จึงตัดสินใจนำสินค้ารสชาติอื่นๆ ที่ขาดตลาดอยู่ที่โรงเรียนไปเซอร์ไพรส์แก่น้อง แร๊พเฟี้ยว และนักเรียนอีกหลายๆ คน ถึงโรงเรียนกุยบุรีวิทยาคม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 4 ชั่วโมงในวันรุ่งขึ้นหลังจากเห็นโพสต์ทันที..
นอกจากนี้ เพจทางการของ Gumi Gumi ยัง Live สด 
ขณะที่กำลังเดินทางนำสินค้าไปแจกให้กับน้องๆ โดยที่ไม่ได้ติดต่อหรือเตรียมการไว้ก่อนเลย มีแค่ชื่อโรงเรียนจาก profile ใน facebook ของน้องเท่านั้น เรียกว่าทำให้คนที่ดู LIVE ต้องติดตามช่วยลุ้นกันไปตามๆ กัน ว่าไปถึงแล้วจะได้เจอตัวน้องมั้ย ซึ่งก็ถือว่าแบรนด์ คิดไว ทำไว ตัดสินใจฉับไวในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ถ้ามองในมุมธุรกิจแล้ว การนำ Negative Feedback ของลูกค้า
มาเปลี่ยนเป็น Action ในทันทีถือเป็นหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
หากเรารับมือได้ดี ผลตอบรับที่ได้กลับมาจะเพิ่มเป็นทวีคูณ
หากเรารับมือไม่ดี ผลที่ตามมาอาจทำให้แบรนด์เสียชื่อไปโดยปริยาย
เราลองมาดูเคสตัวอย่างของการรับมือกับลูกค้าที่ไม่เหมาะสมกันบ้าง..
ปีที่ผ่านมา แบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Dolce & Gabbana หรือ D&G จัดทำโฆษณาที่สื่อไปในทางไม่ให้เกียรติวัฒนธรรมประเทศจีน ทั้งๆ ที่แบรนด์กำลังเข้าไปรุกตลาดจีนอย่างหนัก
ตอนนั้น หนึ่งในผู้ก่อตั้งคุณ Stefano Gabbana ได้ให้ความเห็นว่า
“เราจะบอกคนทั้งโลกว่าประเทศจีนมันห่วย และขอให้รู้ไว้เลยว่าเราอยู่ได้โดยที่ไม่มีพวกคุณ”
หลังจากนั้นไม่นาน แบรนด์ D&G ก็ถูกแบน 
และการขยายกิจการในจีนล้มเหลวลงทั้งหมด..
บริษัท E-commerce ประเทศจีนหลายแห่งนำสินค้า D&G ออกจากระบบ
งานจัดแสดงสินค้า D&G ในประเทศจีน โดนยกเลิกกะทันหัน
เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงไปยังกำไรไตรมาสที่ 1 ของ D&G ที่ตกลงกว่า 33%
ซึ่งมาจากประโยคเพียงประโยคเดียวบนโลกออนไลน์..
จริงๆ แล้ว..
โลกบนอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ไปไวกว่าที่เราคิด
โพสต์ของเราสามารถเข้าถึงคนนับแสน นับล้านคนได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
เมื่อโลกมันไวขึ้น แถมยังแคบลง ทักษะที่เจ้าของสินค้าขาดไม่ได้คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการตัดสินใจที่เฉียบแหลม
จริงอยู่ว่า อินเทอร์เน็ตกำลังเข้ามาเสริมสร้างประสิทธิภาพทางการตลาดให้กับเรา
แต่หากเราใช้มันอย่างไม่เหมาะสม มันก็สามารถกลายมาเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน
กลับมาที่แบรนด์ Gumi Gumi โดย Mogu Mogu 
เมื่อเทียบกับ D&G ผลตอบรับที่ได้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
และเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา
ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
จากคนที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์ Gumi Gumi ก็อาจจะรู้จักแบรนด์นี้มากขึ้น..
และสำหรับคนที่คุ้นเคยกับแบรนด์นี้ดี ก็อาจจะยิ่งชื่นชอบมากขึ้นไปกว่าเดิม
วันนี้ เสียงตอบรับและข้อเสนอแนะจากลูกค้ากำลังเข้ามาหาเรามากขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
อยู่ที่เราว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ให้แบรนด์เป็นที่จดจำในทางที่ดี ก็เท่านั้นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.