กรณีศึกษา Plastic Bank ธนาคารขยะ เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเงิน

กรณีศึกษา Plastic Bank ธนาคารขยะ เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเงิน

14 พ.ย. 2019
ธนาคารหมายถึง องค์กรที่คนนำเงินเหลือไปฝาก
และเงินนั้นจะถูกปล่อยกู้ให้คนที่ต้องการมัน
แต่มีธนาคารหนึ่ง สิ่งที่ต้องการและธุรกรรมที่ทำไม่ใช่เงิน แต่เป็น ขยะพลาสติก..
Plastic Bank เกิดจากความปรารถนาของคน 2 คน
ที่อยากลดขยะพลาสติกในทะเล พร้อมกับ สร้างรายได้ให้กับคนยากจน
ขณะนี้ โลกเรากำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็น เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะมาทำให้มนุษย์ตกงาน
ความเหลื่อมล้ำ ที่คนกลุ่มหยิบมือ ครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ในโลก
และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน และขยะพลาสติก
การแก้ปัญหาเหล่านี้ คนๆ เดียวไม่มีทางทำอะไรได้
แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง กลุ่มคน เมือง ประเทศ ยิ่งระดับโลกได้ยิ่งดี
ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่มีการร่วมใจรับมือกัน เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ ขยะพลาสติก
เราจะเห็นว่ามีหลายองค์กร ต่างรณรงค์ลดการใช้พลาสติก
เช่น ร้านค้าที่เลิกแจกถุงพลาสติก โดยให้ลูกค้าเอาถุงผ้ามาเอง หรือแจกถุงกระดาษ
ร้านอาหาร ที่เลิกผลิตแก้วและหลอดพลาสติก แต่ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติแทน
แต่รู้หรือไม่ Plastic Bank เป็นองค์กรแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และลงมือทำอย่างจริงจังก่อนใคร
เรื่องราวเริ่มต้นจาก คุณ David Katz
ระหว่างที่เขากำลังเดินเรื่อยเปื่อย ตามชายหาด
ก็แปลกใจที่ได้เห็นขยะพลาสติกจำนวนมาก วางกองทั่วริมหาด
และคิดว่าจำนวนขยะพลาสติกคงเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยยังไม่มีใครคิดแก้ปัญหาจริงจัง
เขาเลยตั้งใจจะสร้างธุรกิจ ที่ช่วยลดขยะพลาสติกในทะเล
และได้ชวนเพื่อน Shaun Frankson ซึ่งมีความตั้งใจเดียวกันมาร่วมสร้างธุรกิจ
Plastic Bank ก่อตั้งขึ้นในปี 2013
โดยมีโมเดลธุรกิจคือ Plastic Bank จะไปตั้งตามชุมชนต่างๆ
แล้วประกาศรับซื้อขยะพลาสติกจากคนในชุมชน ในราคาที่สูงกว่าตลาด
ขยะที่ธนาคารได้รับ ก็จะนำไปรีไซเคิล เช่น ทำให้กลายเป็นเม็ดพลาสติก
และขายพลาสติกรีไซเคิลนั้นให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ทั่วโลก
ส่วนคนที่นำขยะไปขาย เมื่อถูกตรวจสอบคุณภาพและชั่งน้ำหนักเรียบร้อย
ก็จะไปรับเงินจากธนาคาร อาจรับเป็นเงินสด หรือเอาเงินเข้าบัญชีของธนาคาร
หรือแลกเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ อาทิ อาหาร, เครื่องดื่ม, เตาทำอาหาร, เชื้อเพลง, มือถือ, สายชาร์จโทรศัพท์, WiFi, ประกันสุขภาพ, ค่าเทอมลูก จากพันธมิตรท้องถิ่นของธนาคาร
อีกทั้ง Plastic Bank มีแอปพลิเคชันของตนเอง และมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้
เพื่อจ่ายเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัลให้กับคนที่นำขยะมาขาย
ซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นสินค้าและบริการได้อีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้ธนาคารยังมีบริการปล่อยสินเชื่อ หรือปล่อยกู้ให้กับคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย
โดยค่าผ่อนจ่าย ก็คือการนำขยะพลาสติกมาชำระเป็นงวดๆ
Plastic Bank เป็นธุรกิจที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกตามสิ่งแวดล้อมแล้ว
ยังช่วยบรรเทาความยากจนของผู้คนได้อีกด้วย
ซึ่งผลกำไรของธนาคาร และเงินบริจาคสนับสนุน
ทาง Plastic Bank ก็จะนำไปอุดหนุนคนเก็บขยะ และขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
โดยโครงการแรกของ Plastic Bank เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ประเทศเฮติ
ตั้งแต่เปิดทำการมา ปีที่แล้วลดขยะได้มากกว่า 3,000 ตัน
ตามด้วยการขยายโครงการไปยังประเทศฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย
และในอนาคต ธนาคารวางแผนจะไปเปิดที่ เอธิโอเปีย อินเดีย บราซิล เวียดนาม และไทย
ซึ่งสถานที่ ที่ธนาคารโฟกัสเป็นพิเศษคือ ชุมชนที่มีผู้คนยากจน และขยะพลาสติกจำนวนมาก
โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ที่ยังขาดระบบการรีไซเคิลที่ดี
ตอนนี้ปัญหาขยะพลาสติก กลายเป็นวิกฤตอย่างไม่ต้องสงสัย
ถุงพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลาย 20 ปี
ขวดพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี
แต่ทุกวันนี้โลกของเรามีการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลไม่ถึง 20%
1 ใน 3 ของแนวปะการังจะมีพลาสติกติดอยู่
และมีการพบถุงพลาสติกใกล้จุดลึกที่สุดใต้มหาสมุทร
ขยะพลาสติกที่มนุษย์เป็นคนสร้าง ไม่เพียงทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
มันยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตด้วย
มีสัตว์น้ำมากมาย เช่น เต่าทะเล โลมา วาฬ ปลา พะยูน ที่ต้องตายจากการกินถุงพลาสติกเข้าไป
หรือถ้าไม่ตาย ก็เจ็บปวดจากการมีขยะพลาสติกติดอยู่ในร่างกาย
ก็น่าคิดว่า แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไร
ว่าปลาที่เรากินเข้าไป จะไม่มีพลาสติกตกค้างอยู่..
การเกิดขึ้นของ Plastic Bank หรือองค์กรอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายคล้ายกัน
ถึงแม้จะช่วยบรรเทาวิกฤตขยะพลาสติกได้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะไม่ว่าจะมีธนาคารขยะกี่สาขา กี่หน่วยงาน ก็ไม่สามารถขจัดขยะได้ทั้งหมด
เปรียบได้ดังการมีอยู่ของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารรัฐ
ก็ไม่ได้สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน ให้หายไปหมดได้
ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ต้องเป็นที่ต้นเหตุ
อย่างเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบของแต่ละคน..
รู้หรือไม่
ในทุกๆ ปี จะมีขยะพลาสติกจำนวน 8 ล้านตันถูกปล่อยลงมหาสมุทรของโลก
และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 เท่าภายในปี 2050
โดยประเทศ 5 อันดับแรก ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ได้แก่ จีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.