Hyperloop ของ Virgin เปลี่ยนเป้าหมายจากการรับ-ส่งผู้โดยสาร ไปเป็นการขนส่งสินค้า เพื่อแก้ปัญหาซัปพลายเชน
24 ก.พ. 2022
ล่าสุด Virgin Hyperloop ออกมาประกาศเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ จากเดิมที่ตั้งเป้าเพื่อการรับ-ส่งผู้โดยสาร ไปเป็นการขนส่งสินค้าแทน เพื่อแก้ปัญหาระบบซัปพลายเชน ที่มีสาเหตุมาจากวิกฤติโรคระบาด และกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก
โดยทางบริษัทกล่าวว่า ทั่วทั้งโลกกำลังเจอกับวิกฤติด้านซัปพลายเชนที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จากเมื่อปีก่อน ๆ อันมีต้นเหตุมาจากโควิด 19 จึงคิดว่าควรเปลี่ยนเป้าหมายมาเพื่อรองรับความต้องการในด้านนี้ก่อน
อีกทั้งยังมีรายงานจาก Financial Times ว่าทางบริษัทได้ทำการปลดพนักงานกว่า 100 คนออกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทบอกว่าวิสัยทัศน์ในระยะยาว ยังคงเน้นไปที่การรับ-ส่งผู้โดยสารตามเดิม
โดยทางบริษัท DP World ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ที่มีเจ้าของเป็นรัฐบาลดูไบ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Virgin Hyperloop กล่าวว่า การโฟกัสไปที่การขนส่งสินค้านั้นทำได้ง่ายกว่า เพราะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า เทียบกับการต้องให้คนโดยสาร รวมถึงมีกระบวนการทางกฎหมายที่ง่ายกว่าด้วย
ทั้งนี้ ความคิดริเริ่มของ Hyperloop มาจากอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์อย่าง Tesla ที่เป็นผู้คิดค้นระบบการขนส่งความเร็วสูง (High-speed transport) ผ่านท่อสุญญากาศ ตั้งแต่ปี 2013
ซึ่งตัว Hyperloop จะเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 600 ไมล์/ชั่วโมง (1,000 กม./ชม.) ผ่านท่อที่มีรางแม่เหล็กอยู่
และทางอีลอน มัสก์ ได้เปิดไอเดียนี้เป็นโครงการเปิด ที่เปิดให้บริษัทไหนจะนำไปพัฒนาต่อก็ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Virgin Hyperloop ที่มีมหาเศรษฐีอย่าง ริชาร์ด แบรนด์สัน เข้ามาลงทุนธุรกิจนี้ในปี 2017 กว่า 2,800 ล้านบาท
โดยในตอนนั้น Hyperloop ได้รับการขนานนามว่าเป็นโครงการที่จะมาปฏิวัติวงการรถไฟของโลก
ต่อมาในปี 2020 ทาง Virgin Hyperloop ก็ได้ประสบความสำเร็จในการรับ-ส่งผู้โดยสาร 2 คน ในสนามทดสอบ 500 ม. ซึ่งทำความเร็วได้ถึง 107 ไมล์ต่อชั่วโมง (172 กม./ชม.)
แต่ถึงจะอย่างนั้น ก็ยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางโดย Hyperloop เช่น ตัว Hyperloop ต้องวิ่งเป็นเส้นตรงเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าโค้งได้ และยังมีเรื่องต้นทุนในการสร้างที่สูงถึงหลักหลายพันล้านดอลลาร์อีกด้วย
ก็เป็นไปได้ว่า การนำ Hyperloop มาใช้ในเชิงพานิชย์เพื่อการขนส่งสินค้าก่อน น่าจะทำได้ง่ายกว่าจริง ๆ แล้วก็เป็นเหมือนการทดสอบการใช้งานไปในตัวด้วย
ส่วนความหวังในการรับ-ส่งผู้โดยสาร คงต้องรอลุ้นไปอีกพักใหญ่..
อ้างอิง:
-https://www.bbc.co.uk/news/technology-60478719
-https://www.bbc.co.uk/news/technology-60478719