รีแคปเส้นทางการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI ของ KBTG พร้อม 5 เทรนด์ AI ที่น่าจับตา

รีแคปเส้นทางการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI ของ KBTG พร้อม 5 เทรนด์ AI ที่น่าจับตา

5 ก.ค. 2024
ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังแพร่กระจายไปในทุกวงการ
KBTG หรือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแถวหน้าของเมืองไทย
ที่นำ AI มาขับเคลื่อนองค์กรอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า Human-First x AI-First Transformation หรือ การขยายศักยภาพขององค์กรด้วย AI โดยยังคงมีมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง 
แล้วเส้นทางในการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นอย่างไร ?
จากนี้ ยังมีเทรนด์ AI อะไรที่น่าจับตามอง และทิศทางของ KBTG จากนี้จะมุ่งไปทางไหน ?
ทุกคำถามถูกเฉลยผ่านการจัด Roundtable: Latest in AI นำทีมโดยคุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) พร้อมด้วยทีมผู้บริหารจาก KBTG ที่จะมาไขคำตอบ
เริ่มจากการฉายภาพใหญ่ ให้เห็นเส้นทางการนำ AI มาใช้ทรานส์ฟอร์มของ KBTG
คุณกระทิง เผยว่า “ตั้งแต่ปี 2562 ที่ KBTG ทรานส์ฟอร์มองค์กรแบบยกเครื่อง 
โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ เป็นสุดยอดองค์กรเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ภายในปี 2568  
แต่ปรากฏว่า KBTG สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตั้งแต่ปี 2566 หรือเร็วกว่าที่ตั้งไว้ถึง 2 ปี”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา​ KBTG จึงขยับเป้าหมายขับเคลื่อนองค์กรสู่ระดับโลก ในอีก 3 ปีข้างหน้า ผ่านกลยุทธ์ Human-First x AI-First Transformation
“เราไม่ใช่น้องใหม่ด้าน AI เพราะเรามี Secret Sauce ที่เรียกว่า M.A.D.
ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่าง Machine Learning, AI และ Data เข้าด้วยกัน
จนทำให้เราสามารถพัฒนา World Class AI Product มากมาย และยังเป็น Research Powerhouse ในหลายแขนง อาทิ Computer Vision, Processing (NLP), Quantum Computing ฯลฯ
ที่สำคัญ ยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากถึง 26 ฉบับ”
ทั้งนี้ ถ้าจะให้สรุป AI Ecosystem ของ KBTG แบบเข้าใจง่าย ๆ คุณกระทิงสรุปเป็น 3 แกนในการทำงาน
ในฝั่งของ KBTG Labs จะเน้นการวิจัยและทดลองแบบอินเฮาส์ของตัวเอง และไปร่วมกับ MIT Media Lab ห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ​เข้าสู่ตลาด
โดยมี KBank เป็นลูกค้ารายแรก ได้ทดลองใช้ ถ้าได้ผลก็ทำเป็น Prototype เอาไป Scale Up ต่อที่ KX
โดยในฝั่งของ KX และ KXVC จะเน้นเรื่องการลงทุน และการ Scale Up เทคโนโลยีไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ
สำหรับ KX เป็น Venture Builder ในเครือ KBTG รับผิดชอบในการนำเทคโนโลยีที่ KBTG Labs วิจัยและพัฒนา เข้าสู่ตลาด เพื่อให้ลูกค้าและพันธมิตรสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับธุรกิจ 
ส่วน KXVC ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในสตาร์ตอัป AI เพื่อนำโปรดักต์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก เพื่อนำมาใช้กับ KBank
“ปีนี้เราเตรียมเงินลงทุนไว้ 1,750 ล้านบาท เพื่อลงทุนผ่าน KXVC ใน 10-20 บริษัทสตาร์ตอัประดับโลก
หนึ่งในนั้น คือ Landing AI เพื่อมาเสริมทัพให้ KBTG ซึ่งมีแผนจะโฟกัสในเทคโนโลยี ที่สามารถต่อยอดไปกับอุตสาหรรม 4.0 ใน 5 เซกเตอร์สำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต, ยานยนตร์และการขนส่ง, ฟินเทค, เฮลท์แคร์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์”
ในด้านการศึกษา จะดำเนินการผ่าน KBTG Kampus เพื่อยกระดับด้านการศึกษาเทคโนโลยีของไทย​
“2 ปีที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับ 11 สถาบัน เข้าไปช่วยสอนและพัฒนาหลักสูตรให้ผู้เรียนกว่า 1,000 คน
ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าเราไม่พัฒนาทาเลนต์ ก็ยากที่เราจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้าน AI จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ
ดังนั้น นอกจากจะพัฒนาในองค์กร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการ Transformation ยังต้องพัฒนาทาเลนต์คนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”
ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สะท้อนว่าทำไมเราถึงวางกลยุทธ์ Human-First x AI-First 
“KBTG ไม่ได้มองว่าจะนำ AI มาแทนคน แต่จะทำอย่างไรให้พนักงานของ KBTG ทั้งเก่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ 
จากพนักงาน KBTG ค่อย ๆ ขยายผลไปสู่ลูกค้า เพราะสุดท้ายแล้ว คุณกระทิงเชื่อว่าเป้าหมายของ AI ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไม่สำคัญ ถ้าถูกนำไปใช้แทนที่คน หรือไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น​
เพราะประโยชน์ของเทคโนโลยี คือ ต้องยกระดับชีวิตมนุษย์ 
ดังนั้น เทคโนโลยี AI ที่ KBTG มุ่งเน้น คือ ต้องสร้างคุณค่า ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถไปสู่ระดับโลกหรือภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” คุณกระทิงกล่าวสรุปให้เห็นทิศทางในภาพใหญ่ของ KBTG  
มาถึง ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นำเสนอ 5 เทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปี 2567 เริ่มจาก 
1. LVM AI   
เทคโนโลยี AI ประมวลผลภาพขนาดใหญ่ ที่ช่วยให้ประมวลผลภาพได้อย่างลึกซึ้ง และใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับระบบจดจำใบหน้าหรือระบบตรวจจับวัตถุ
2. Multi-Modal AI
เทคโนโลยี AI ที่สามารถเข้าใจข้อมูลหลายรูปแบบ เช่น ข้อความ เสียง รูปภาพ วิดีโอ 
ช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาธรรมชาติและบริบทต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทำให้ Generate ข้อมูลในเชิงลึกได้
ยกตัวอย่างเช่น เราป้อนข้อมูลว่านกพิราบ พร้อมใส่เสียงมอเตอร์ไซค์ AI จะสามารถสร้างรูปที่มีนกพิราบและมีมอเตอร์ไซค์ หรือใส่แค่เสียงเพนกวิน ก็สามารถสร้างรูปเพนกวินได้ทันที 
3. Multi-Agent AI
เทคโนโลยี AI ที่ประกอบด้วยโมเดล AI หลายตัวทำงานร่วมกัน ตอบโจทย์เทรนด์ Solo Entrepreneur ที่สามารถกำหนดบทบาทให้ AI แต่ละตัวมาทำงานร่วมกัน เช่น AI A เป็นนักวิเคราะห์ ให้ไปคุยกับ AI B ที่เป็น Tech Support เพื่อหาข้อมูลและทำกราฟมานำเสนอ เป็นต้น​
4️. Rational AI
เทคโนโลยี AI ที่สามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลเหมือนมนุษย์ เพื่อให้ระบบ AI สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากขึ้น  
ที่ผ่านมา อาจจะเห็นว่า AI สามารถตอบคำตอบได้อย่างถูกต้อง แต่หลายครั้งคำตอบที่ถูก อาจจะไม่ได้มีเหตุผลที่ถูกต้อง คิดภาพตามง่าย ๆ เหมือนคนที่กาข้อสอบมั่ว ๆ แต่คำตอบถูก ดังนั้น จึงต้องมีการเทรน AI ให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น 
5️. Domain-Specific AI
เทคโนโลยี AI ที่ปรับแต่งให้เหมาะกับงานเฉพาะ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น เช่น ระบบตรวจจับโรคมะเร็ง ระบบวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน 
เห็นเทรนด์ของ AI ที่น่าสนใจไปแล้ว ทีนี้ มาดูทิศทางการพัฒนา AI ในมุมของ KBTG ผ่านมุมมองของ​ ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ Principal Research Engineer, KBTG Labs ว่าการจะสร้างซอฟต์แวร์ 1 ตัว ต้องมีพื้นฐานที่ดี เราไม่ได้เลือกตัวที่ดีที่สุด แต่เลือกตัวที่ใช้งานได้จริง เพื่อพัฒนาต่อ ​
“สำหรับ AI แลนด์สเคปที่ KBTG ศึกษาก็มีหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ Human-AI Fluid Interface
ยกตัวอย่างเช่น​ ‘Future You’ ซึ่ง ‘KBTG’ พัฒนาร่วมกับ ‘MIT Media Lab’  
โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกับ ‘Digital AI’ ของตัวเองในอนาคตได้
หรืออย่าง AINU (อัยนุ) ที่นำเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการยืนยันตัวตนผ่าน 3 ฟีเชอร์เด่น คือ OCR (Optical Character Recognition) ระบบแปลงข้อมูลจากภาพ Liveness Detection ระบบยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าจริง ๆ ของตัวบุคคล และ Face Recognition ระบบเปรียบเทียบใบหน้าเพื่อการยืนยันตัวตน”
แต่ถ้าพูดถึงผลงานที่เป็นตัวอย่างของ Domain-Specific AI ที่น่าสนใจจาก KBTG ต้องยกให้ THaLLE by KBTG โมเดล LLM อัจฉริยะด้านการเงินที่พร้อมมาปฏิวัติวงการ AI ที่เพิ่งเปิดตัวหมาด ๆ  
คุณพัชรินทร์ อารีย์วงศ์ Principal Innovation Product and Partnership เผยถึงจุดแข็งของ THaLLE by KBTG ว่า ไม่เพียงเข้าใจภาษาทางการเงินอย่างลึกซึ้ง สามารถสื่อสารโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ 
ยังมีความรู้ทางการเงินระดับสูง สอบผ่านข้อสอบระดับเทียบเท่า CFA - Chartered Financial Analyst ที่ยืนยันมาตรฐานระดับโลกในด้านการวิเคราะห์ทางการเงินระดับสูง พร้อมเป็นผู้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน ประเมินความเสี่ยง ช่วยทุ่นแรงและเพิ่มโอกาสในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
“หัวใจของ LLM คือ Data ดังนั้น เราไม่ได้ใช้แค่ Data เก่าที่หาได้ แต่เราลงทุนกับ Data ที่มีคุณภาพ  
เพราะพอเป็น AI ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เรายิ่งต้องกรอง Data ที่มีคุณภาพ และอัปเดต เพราะนอกจากเรื่องการเงินจะมีความซับซ้อน ยังมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย”
ทั้งนี้ คุณพัชรินทร์ เชื่อว่า “อนาคต AI จะเป็น Commodity หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ 
ดังนั้น ถ้าเราจะพิเศษ เราต้องพัฒนาในสิ่งที่เราคิดว่าลูกค้าของเราต้องการ นั่นคือ เรื่องของ Financial Literacy ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ในเชิงธุรกิจ แต่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ต้องการคนที่เก่งเรื่องการเงิน และเข้าใจภาษาไทย มาเป็นผู้ช่วยตอบคำถามที่อยากรู้ ซึ่ง KBTG มองว่า ตัวเองมีศักยภาพที่เชื่อว่าทำได้ จึงลองทำดู ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยเยอะ”
ปิดท้ายด้วยมุมมองเกี่ยวกับการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร และความรับผิดชอบต่อการใช้ AI 
ซึ่ง ดร.โกเมษ จันทวิมล Principal AI Evangelist ย้ำว่า พนักงานคือรากฐานสำคัญของการ Transformation
“เรามีพนักงาน 2,000 กว่าคน มีหลากหลายเจน เราทำให้พนักงานใช้ AI มาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน
พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เราสามารถใช้ AI ลดเวลาทำงานลง 20-50%
ในส่วนของ Data และ AI เราสามารถใช้ AI ลดเวลาทำงานลง 20-80% แต่ในพนักงานออฟฟิศ และแอดมิน เราสามารถใช้ AI ลดเวลาทำงานลง 2-10% ซึ่งจะเห็นว่า เรายังมีโอกาสอีกมากที่จะต่อยอดประโยชน์ของ AI”
ด้านคุณจิรัฎฐ์ ศรีสวัสดิ์ Assistant Managing Director - Technical Excellence เสริมว่า ความท้าทายในการ Scale การใช้ AI คือ ไม่ใช่ส่งเสริมแค่ให้พนักงานมีความรู้ในการใช้ AI ให้เป็น แต่ต้องมองไปถึงการเลือกเครื่องมือที่ถูกต้อง และใช้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย
ทั้งหมดนี้คือ เส้นทางการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI ผ่านมุมมองของ KBTG
ซึ่งคุณกระทิงสรุปสั้น ๆ อย่างจับใจว่า “AI ก็เหมือนอากาศ ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต
ทุกคนรู้ว่า AI สำคัญ ดังนั้น KBTG จึงมุ่งมั่นนำ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร โดยมีมนุษย์หรือพนักงาน เป็นผู้ใช้อย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อไป
ซึ่งสุดท้ายแล้ว AI จะมีความหมายมาก เมื่อเรานำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่ KBank หรือ KBTG”
Tag:KBTG
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.