รู้จัก Beam ผู้ให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้า ของเล่นชิ้นใหม่ในภูเก็ต

รู้จัก Beam ผู้ให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้า ของเล่นชิ้นใหม่ในภูเก็ต

30 ธ.ค. 2021
หากเราไปเที่ยวย่านเมืองเก่า หรือ Old Town ในจังหวัดภูเก็ต
เราอาจจะเห็นสกูตเตอร์ไฟฟ้าสีม่วง จอดเรียงรายอยู่หลายจุดด้วยกัน
โดยเจ้าของสกูตเตอร์เหล่านี้ ก็คือ “Beam” ผู้ให้บริการเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้าจากสิงคโปร์
ซึ่งนอกจากจะให้ความสนุกในการขับขี่แล้ว
ความพิเศษอยู่ที่เราไม่จำเป็นต้องนำสกูตเตอร์กลับมาคืนที่เดิม
แต่สามารถนำไปจอดยังจุดจอดที่ใดก็ได้ ในพื้นที่ให้บริการ
Beam หรือชื่อเต็มว่า Beam Mobility คือสตาร์ตอัปผู้ให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือ E-Scooter ผ่านระบบการเช่าขับเป็นรายนาที จากประเทศสิงคโปร์
ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 โดยคุณ Alan Jiang และคุณ Deb Gangopadhyay
ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคุณ Jiang ดำรงตำแหน่ง CEO
และเคยมีประสบการณ์ทำงานให้กับ Uber แพลตฟอร์มเรียกรถยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ในการขยายบริการไปยังประเทศจีน, มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่ง Beam ได้พัฒนาทั้งตัวสกูตเตอร์และแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้ง่ายและปลอดภัยกว่าสกูตเตอร์ทั่วไป
โดยนอกจากโครงสร้างของสกูตเตอร์ที่ทำจากอะลูมิเนียมเกรดเดียวกับที่ใช้ในการผลิตเครื่องบิน
รวมถึงระบบเบรกคู่และยางแบบพิเศษแล้ว
ซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงาน ก็ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งผู้ขับขี่และชุมชนโดยรอบเช่นกัน อย่างเช่น การกำหนดเขตปลอดภัยที่จะกำหนดความเร็วสูงสุดของสกูตเตอร์ หรือแม้กระทั่งการสั่งให้หยุดการทำงาน หากเข้าในเขตห้ามขับขี่หรือออกนอกพื้นที่ที่กำหนด
และสกูตเตอร์ของ Beam จะถูกล็อกความเร็วไว้สูงสุดที่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับการใช้งานนั้น คนทั่วไปสามารถเริ่มต้นการใช้งานได้ ผ่านแอปพลิเคชันของ Beam
โดยจะปรากฏตำแหน่งของสกูตเตอร์ พร้อมทั้งปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ในแต่ละคัน
เมื่อเจอสกูตเตอร์ที่ต้องการแล้ว ผู้ใช้เพียงสแกนบาร์โคด ที่ติดอยู่กับตัวรถแต่ละคัน จากนั้นก็เริ่มขับขี่ได้ทันที
โดยคิดค่าบริการเป็นรายนาที และตัดเงินผ่านบัตรเครดิตที่ผูกไว้ในแอปพลิเคชัน
ที่น่าสนใจคือ โมเดลการคืนสกูตเตอร์เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำกลับมาจอดที่เดิมที่นำสกูตเตอร์ออกมา
แต่สามารถค้นหาจุดจอดที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งจะปรากฏในแอปพลิเคชัน และนำสกูตเตอร์ไปจอดในจุดดังกล่าวได้เลย
โมเดลนี้ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนสกูตเตอร์ระหว่างจุดจอดแต่ละจุด ซึ่งลดการกระจุกตัวของสกูตเตอร์ในจุดเดียว ทำให้ผู้ใช้งานรายอื่นสามารถค้นหาสกูตเตอร์ได้ง่ายขึ้น
แต่หากไม่สามารถนำไปคืนในจุดจอดที่กำหนดได้ ก็สามารถจอดในที่ปลอดภัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่จะเสียค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับการจอดนอกพื้นที่ที่กำหนด
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ สกูตเตอร์ของ Beam มีแบตเตอรี่ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้
นั่นทำให้เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด เจ้าหน้าที่ก็แค่นำแบตเตอรี่ก้อนใหม่มาถอดเปลี่ยนกับก้อนเดิม
ด้วยวิธีการนี้ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กับการเพิ่มจำนวนจุดจอดสกูตเตอร์แต่ละจุดได้ง่ายมากขึ้น
เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างแท่นสำหรับชาร์จพลังงานให้สกูตเตอร์ ทำให้ข้อจำกัดและต้นทุนในการขยายพื้นที่ให้บริการลดลง
นอกจากความพร้อมของสกูตเตอร์และระบบแล้ว จุดเด่นอีกข้อคือ ทุกคนที่ใช้สกูตเตอร์ของ Beam จะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยอุบัติเหตุในขณะที่ขับขี่
ซึ่ง Beam ก็ได้รับความสนใจ และกลายเป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนารูปแบบการเดินทางในตัวเมือง อย่างเช่น เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้เซ็นสัญญากับ Beam ในการให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้ากว่า 1,000 คันภายในเมือง เป็นระยะเวลานาน 3 ปี
นอกจากโมเดลการเช่าแบบรายครั้งแล้ว ในบางพื้นที่อย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย ก็มีให้บริการเช่าสกูตเตอร์ของ Beam แบบรายเดือน โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 1,200 บาทต่อเดือน ซึ่งบริการนี้ก็เหมาะกับการใช้งานเป็นประจำในพื้นที่ตัวเมือง เช่น พนักงานออฟฟิศ
ในขณะที่ราคาจำหน่ายของสกูตเตอร์ทั้งคัน มีราคาประมาณ 13,000 บาท
ปัจจุบัน Beam มีสกูตเตอร์ที่คอยให้บริการใน 6 ประเทศหลัก ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และไต้หวัน
สำหรับประเทศไทยนั้น ก็มีให้บริการเช่นกัน แต่ยังอยู่ในระหว่างการทดลองระบบ
โดยเปิดให้บริการในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดภูเก็ต และบริเวณหาดป่าตอง
ซึ่ง Beam ก็สามารถระดมทุนจากนักลงทุน ในรอบซีรีส์ A ได้ถึง 873 ล้านบาท ในปี 2020 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หนึ่งประเด็นที่ยังต้องติดตามคือ เรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานจริง ซึ่งถึงแม้ตัวสกูตเตอร์จะถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยมากเพียงใด แต่ในการขับขี่นั้น สภาพแวดล้อมของการจราจรก็ส่งผลอย่างมากต่อความปลอดภัย
อย่างเช่น บางพื้นที่เราใช้สกูตเตอร์ในเลนจักรยานได้ แต่พื้นที่ที่ไม่มีเลนจักรยาน
การขับขี่สกูตเตอร์ก็จะต้องใช้ถนนร่วมกับยานยนต์อื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งเสี่ยงอันตรายกว่า และอาจจะทำให้สกูตเตอร์ที่ใช้งานจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติม ตามมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน อย่างเช่น ไฟเลี้ยว
นั่นหมายความว่า ถึงแม้ตัวสกูตเตอร์จะมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่ในการที่จะทำให้การใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากชุมชน, หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงบริบทของแต่ละพื้นที่นั่นเอง..
อ้างอิง :
-https://www.abc.net.au/news/2021-06-01/e-bikes-move-into-brisbane-from-july/100181740
-https://techcrunch.com/2020/05/31/singapores-micromobility-startup-beam-raises-26-million/
-https://www.smartcompany.com.au/startupsmart/news/scooter-sharing-beam-funding/
-https://markets.businessinsider.com/news/stocks/beam-rolls-out-the-next-generation-e-scooter-designed-for-operating-in-the-asia-pacific-region-1028333652
-https://www.crunchbase.com/organization/ridebeam/company_financials
-https://www.ridebeam.com/
-https://www.insurancebusinessmag.com/nz/news/breaking-news/beam-emphasises-insurance-policy-in-escooter-trial-report-176924.aspx
-https://redbadgepacific.com/how-this-e-scooter-firm/
https://soyacincau.com/2021/03/26/beam-e-scooter-rent-to-own-subscription-plans-malaysia/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.