Villa Market ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Villa Market ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

26 ธ.ค. 2021
หากต้องการสินค้าประเภทอาหารสด เช่น เนื้อต่าง ๆ และเครื่องดื่มคุณภาพ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ซูเปอร์มาร์เก็ตแรก ๆ ที่ตอบโจทย์สิ่งนี้โดยเฉพาะ และหลายคนนึกถึง ก็ไม่พ้น “Villa Market”
ด้วยสินค้าคุณภาพ ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีจากทั่วโลก และมีความหลากหลาย ให้เลือกซื้อกันแบบหนำใจ
ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็หาซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่นไม่ได้
ทำให้ Villa Market นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภค และมีเหล่าสาวกจำนวนไม่น้อยแล้ว
ในแง่ของผลประกอบการ Villa Market ก็ทำได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กัน
บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 6,305 ล้านบาท กำไร 376 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 6,388 ล้านบาท กำไร 418 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 7,455 ล้านบาท กำไร 516 ล้านบาท
รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 ที่หลายกิจการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจหยุดชะงัก
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Villa Market มีจำนวนเพียง 35 สาขาเท่านั้น
แต่กลับสามารถสร้างรายได้เกินกว่า 7 พันล้านบาทได้
ซึ่งหากคำนวณคร่าว ๆ เฉลี่ยแล้ว 1 สาขา สามารถเสกรายได้กว่า 17.8 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว
จุดเริ่มต้นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียม ที่มีอายุกว่า 47 ปี อย่าง Villa Market มีความเป็นมาแบบไหน ?
และท่ามกลางการแข่งขัน ที่มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป Villa Market ปรับตัวอย่างไร ?
จริง ๆ แล้ว Villa Market ที่พอเราเดินเข้าไปแล้ว ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจากต่างประเทศ
เป็นแบรนด์สัญชาติไทยแท้ ๆ ก่อตั้งโดยคนไทยชื่อว่า สุรพงษ์ ภูสนาคม
คุณสุรพงษ์ เดิมทีเป็นลูกเจ้าของร้านขายของชำเล็ก ๆ ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เขาเคยทำงานในร้านขายของ ในฐานทัพทหารสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ สมัยสงครามเวียดนาม
ในยุคนั้นเป็นยุคที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบติดแอร์ในไทยยังไม่ค่อยมี
และคุณสุรพงษ์ สังเกตเห็นว่า ประเทศไทยเริ่มมีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดตลาดมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ซึ่งคนไทยก็เปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ความต้องการแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่ในตอนนั้นแทบยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าไหน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เลย
เมื่อเห็นช่องว่างทางตลาดนี้ คุณสุรพงษ์จึงไม่รอช้า
ตัดสินใจก่อตั้ง Villa Market ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2517 โดยเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรก ที่สุขุมวิท 33
คุณสุรพงษ์ ต้องการให้ Villa Market แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่น ๆ
โดยจุดเด่นคือ เน้นจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ที่คัดสรรสินค้าคุณภาพพรีเมียมอันหลากหลาย จากทั่วทุกมุมโลก เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์, ผักสด, ผลไม้, นม, ชีส, กลุ่มสินค้าสุขภาพ ฯลฯ
เพื่อเจาะตลาดบนที่เป็น Niche Market เพราะมองว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ยอมจ่ายสูงขึ้น เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
ซึ่งประมาณ 70-80% ของสินค้าที่วางจำหน่ายใน Villa Market เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร
และมีการเลือกสรรสินค้าหายากเข้ามาจำหน่าย ทำให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ช็อปปิงที่พิเศษ ซึ่งอาจหาไม่ได้จากที่อื่น
ในช่วงแรก ๆ นั้น คุณสุรพงษ์ มีหลักคิดในการดำเนินธุรกิจคือ
“มองลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว มากกว่ามองลูกค้าเป็นธุรกิจ”
โดยสินค้าทุกอย่างที่นำเข้ามาขาย คุณสุรพงษ์ ต้องลองใช้และชิมก่อน
ถ้าสินค้าตัวไหนที่เขาไม่ทาน และไม่ให้ลูกทาน เขาก็จะไม่นำเข้ามาขายให้ลูกค้า
พร้อมกับเน้นสร้างความเป็นกันเองและบริการที่ดี ระหว่างพนักงานกับลูกค้า
รวมถึงจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อทำให้ Villa Market มีบรรยากาศแบบจุดนัดพบของชุมชน มากกว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นขายเพียงแค่สินค้าอย่างเดียว
ทั้งการเลือกสรรสินค้าคุณภาพ ที่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า และการให้บริการที่ดี
ทำให้ Villa Market สามารถค่อย ๆ เข้าไปนั่งในใจของลูกค้า จนเกิดเป็น Loyalty
และธุรกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา แม้จะต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ
ตอนนี้ Villa Market มีทั้งหมด 35 สาขา
แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 27 สาขา
ซึ่งเน้นตั้งในย่านชุมชนที่มีกำลังซื้อ ทั้งในรูปแบบ Stand Alone และใน Community Mall และศูนย์การค้า
ในต่างจังหวัด 8 สาขา ซึ่งเน้นหัวเมืองหลักและพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พัทยา, หัวหิน, ภูเก็ต, อุดรธานี
ปัจจุบัน Villa Market ถูกส่งต่อและบริหารโดยทายาทรุ่น 2 อย่างคุณพิศิษฐ์ ภูสนาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด ซึ่งเขาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT อีกด้วย
ภายใต้การนำของคุณพิศิษฐ์ เขามองว่าหากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
ในโลกที่การแข่งขันรุนแรง และพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
บริษัทและบุคลากร ต้องกล้าก้าวออกจาก Comfort Zone ไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ
กล้าที่จะทำ Digital Transformation ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
เพื่อให้ Villa Market สามารถเข้าใจลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งคุณพิศิษฐ์ ก็ได้ดึงเอาจุดแข็งของการเป็นองค์กรที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นธุรกิจครอบครัว ที่มีลำดับชั้นในการทำงานไม่ซับซ้อนเหมือนองค์กรขนาดใหญ่
มาใช้สร้างความได้เปรียบและประโยชน์ให้มากที่สุด ในเรื่องความคล่องตัว เพื่อปรับองค์กรให้ไวและทันสมัย ตามกระแสตลาดอยู่เสมอ
ตัวอย่างการปรับตัวของ Villa Market ในช่วงที่ผ่านมา ก็อย่างเช่น
ไปจับมือกับ SCB พัฒนาแอปพลิเคชัน “Villa Market VPlus”
แอปพลิเคชันที่ให้ลูกค้าเติมเงินเข้า e-Wallet สำหรับใช้ชำระค่าสินค้าผ่าน QR Code สอดคล้องกับสังคมไร้เงินสด
ช่วยค้นหาสาขาของ Villa Market ที่อยู่ใกล้ ๆ, รับข่าวสารโปรโมชัน
และสะสมคะแนน (Loyalty Point) เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สะสมไมล์การบินไทย
รวมถึงเปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง ที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจาก Villa Market ผ่านออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการส่งสินค้าถึงบ้าน
ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีสาขาของ Villa Market ไปตั้งอยู่
อีกทั้งเป็นการช่วยให้เข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบความสะดวก และชินกับการสั่งของผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
ทิศทางธุรกิจของ Villa Market ในปัจจุบัน คือการพยายามผสานช่องทางออนไลน์ (Digital) และออฟไลน์ (Physical) ให้เชื่อมกันอย่างราบรื่นและกลมกลืน
เพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิงที่ไร้รอยต่อ (Seamless Shopping Experience)
รวมถึงนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้ในธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำ Big Data โดยนำข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า ทั้งผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ, แอปพลิเคชัน Villa Market VPlus และช่องทางอื่น ๆ
มาวิเคราะห์และสร้างสรรค์เป็นแคมเปญการตลาด, โปรโมชันต่าง ๆ, Loyalty Program
หรือทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) เพื่อพิชิตใจลูกค้า นั่นเอง
สรุปแล้ว จุดเริ่มต้นของ Villa Market เกิดจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด ที่ยังไม่มีใครเข้าไปเติมเต็ม หรือทำได้ยังไม่ดีพอ
ส่วนเส้นทางการเติบโตของ Villa Market ก็มาจากส่วนผสมของการสร้าง “จุดต่าง” ในตลาด และมอบบริการที่ดี เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจทุกครั้งที่มาใช้บริการ จนเกิดเป็นสาวกของแบรนด์
รวมถึงกล้าที่จะ “ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง” เพื่อคว้าโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
และมอบคุณค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้า ผ่านสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์ยุคสมัย..
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-https://expatlifeinthailand.com/news-and-event/the-first-in-bangkok/
-​​https://forbesthailand.com/people/fabulous-40s-and-50s/วิลล่า-มาร์เก็ต.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.