กรณีศึกษา ช่อง 7 เบอร์ 1 ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

กรณีศึกษา ช่อง 7 เบอร์ 1 ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

14 ต.ค. 2019
ถ้าถามว่าทีวีช่องไหนของเมืองไทยครองตำแหน่งเรตติ้งอันดับหนึ่งมายาวนาน
คำตอบก็คือช่อง 7
ข้อมูลจาก นีลเส็น ระบุว่าในช่วง 3 ปีล่าสุด ช่อง 7 มีเรตติ้งอันดับหนึ่งชนะช่อง 3 ที่มีเรตติ้งอันดับสอง
ปี 2559 ช่อง 7 มีเรตติ้ง 2.31 ขณะที่ช่อง 3 HD มีเรตติ้ง 1.60
ปี 2560 ช่อง 7 มีเรตติ้ง 2.11 ขณะที่ช่อง 3 HD มีเรตติ้ง 1.34
ปี 2561 ช่อง 7 มีเรตติ้ง 1.82 ขณะที่ช่อง 3 HD มีเรตติ้ง 1.33
แต่จากตัวเลขจะเห็นได้ว่า เรตติ้งช่อง 7 หล่นหายลงไปมาก เนื่องจากผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้น เพราะนอกจากช่องทีวีที่มากขึ้น ในยุคนี้ยังมีหน้าจอมือถือให้รับชม Content ออนไลน์
ช่องทีวีที่มากขึ้น จาก Analog TV ที่มี 6 ช่อง มาเป็น Digital TV ที่มีถึง 25 ช่องให้ผู้ชมได้เลือก
ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายช่องเกิดการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งมาจากเหตุผลกำไรในการทำธุรกิจทีวีดิจิทัลไม่เป็นอย่างที่คิด
อีกทั้งยังมีหลายช่องที่ขาดทุนต่อเนื่องทุกๆ ปี
แกรมมี่เลือกจะขายหุ้น 50% ช่อง GMM 25 มูลค่า 1,000 ล้านบาทให้บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือเสี่ยเจริญ
ส่วนช่อง ONE ได้ขายหุ้นให้แก่กลุ่มปราสาททองโอสถ 1,900 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมายังมีทีวีดิจิทัลถึง 7 ช่อง ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กสทช.เพื่อยุติการออกอากาศ พร้อมได้รับเงินเยียวยาชดเชยจากผลประกอบการที่ขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา จาก กสทช.
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป หลายช่องเลือกจะจอดำ หลายช่องเลือกจะหาคนมาร่วมทุน
แต่เชื่อหรือไม่ว่าช่อง 7 แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจตัวเองเลย
แถมยังสามารถรักษารายได้และกำไรได้อย่างมั่นคง
บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7
ปี 2559 รายได้ 5,826 ล้านบาท กำไร 1,568 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 5,724 ล้านบาท กำไร 1,517 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 5,750 ล้านบาท กำไร 1,633 ล้านบาท
สิ่งที่ทำให้ช่อง 7 ยังแข็งแกร่งเหมือนเดิมก็คือ Content ที่ถูกใจคนต่างจังหวัด
เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าตั้งแต่ยุค Analog TV มาสู่ Digital TV
ทั้งละคร, ข่าว, รายการวาไรตี้ ของช่อง 7
ยังเลือกจะเจาะกลุ่มชาวบ้าน ถูกจริตคนต่างจังหวัดที่เป็นฐานแฟนคลับมาอย่างยาวนาน
สอดคล้องกับข้อมูลของ นีลเส็น ที่ไม่ว่าทั้ง ข่าว, ละคร, รายการวาไรตี้ ของช่อง 7
จะมีเรตติ้งในพื้นที่ต่างจังหวัด ชนะคู่แข่งในช่วงเวลาเดียวกันอย่างขาดลอย เกือบๆ ทุกช่วงเวลา เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ช่อง 7 เองก็มีช่องทางออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาเองกับมือในช่วงปี 2555
อย่าง BUGABOO.tv ที่เป็นทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 6 ล้านครั้ง
โดยช่องทางนี้ก็มีโฆษณาจากแบรนด์สินค้าเช่นกัน
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อในการขายโฆษณาให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ของช่อง 7 นั้นเอง
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าในขณะที่ช่องอื่นๆ รายได้หลักอย่างโฆษณาลดน้อยลง
แต่ช่อง 7 ยังสามารถรักษารายได้ตามมาตรฐานตัวเองไว้ได้ในทุกๆ ปี
สุดท้ายแล้วกับคำถามที่ว่าในอนาคตจะเหลือทีวีอยู่กี่ช่องในเมืองไทย แล้วใครบ้างจะเหลือรอดจากศึกครั้งนี้
เพราะจากเดิมทีวีดิจิทัลยุคเริ่มต้นมี 25 ช่องเวลานี้จะเหลือแค่ 15 ช่อง
และก็ยังมีการประเมินจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า 15 ช่องก็ยังมากเกินไป
แต่...ทุกสงครามธุรกิจ บทสรุปของแบรนด์และบริษัทที่อยู่รอด ที่ประสบความสำเร็จทั้งแง่รายได้และกำไร คือความสามารถในการครองใจมหาชนมากที่สุด ซึ่งในตอนนี้ช่อง 7 เป็นช่องที่สามารถทำได้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมทีวี
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจ : รู้หรือไม่ว่า ช่อง 7 มีสถิติอย่างหนึ่งที่ยากจะหาช่องอื่นมาทำลายลงได้นั่นคือ
ละคร คู่กรรม ที่ออนแอร์ปี 2533 แสดงนำโดย “เบิร์ด ธงไชย” และ “กวาง กมลชนก”
มีเรตติ้งสูงสุดที่ 40 ส่วนค่าเฉลี่ยเรตติ้งทุกตอนอยู่ที่ 30
โดยในยุคนั้นเมื่อละครออนแอร์ในช่วง 21.00 น.
ถนนในกรุงเทพฯ จะเงียบเหงา เพราะทุกคนรีบกลับบ้านมาดู “คู่กรรม”
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
References : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, นีลเส็น ประเทศไทย, วิกิพีเดีย, TV Digital Watch
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.